คดีฆ่าสองแม่ลูกที่นราฯ กระจกสะท้อนปัญหาสังคมชายแดนใต้
"บ้านเรามาถึงจุดนี้แล้วหรือ?" เป็นคำถามที่สะท้อนความรู้สึกของ ไซนับ เจะเละ หญิงชาวจังหวัดยะลา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะตรงใจใครหลายๆ คน หลังทราบข่าวหนุ่มวัย 30 ปี ฆ่าโหดหญิงสาวอายุ 27 ปี เสียชีวิตพร้อมลูกสาววัยเพียง 5 ขวบ แล้วนำศพไปทิ้งที่สะพานแห่งหนึ่งใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ร้ายนี้เกิดขึ้นช่วงวันที่ 3-4 พ.ย.60 สาเหตุเพียงเพราะฝ่ายชายขอหลับนอนด้วย หลังช่วยพาฝ่ายหญิงกับลูกสาวไปพักที่บ้าน เพราะทั้งคู่ไม่มีที่พัก เนื่องจากเพิ่งมีปัญหากับทางบ้าน และหนีออกจากบ้านมา แต่เมื่อฝ่ายหญิงปฏิเสธ ทำให้ฝ่ายชายไม่พอใจ และสังหารด้วยการใช้มีดแทง และใช้หัวเตาแก๊สทุบศีรษะ
ที่น่าเศร้าคือเขาฆ่าทั้งแม่ทั้งลูก โดยอ้างว่าเด็กเห็นเหตุการณ์ จำเป็นต้องฆ่าปิดปาก และจุดนี้เองที่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่รับไม่ได้
"ถือเป็นครั้งแรกในสามจังหวัดที่เกิดเรื่องแบบนี้" ไซนับ บอก และว่า "คำถามลึกๆ ในใจคือทำไมถึงต้องฆ่าเด็ก ทำเด็กทำไม คนที่ทำได้ขนาดนี้ต้องเป็นคนไม่ดีแน่ ก็คิดว่าอัลลอฮ์จะตอบแทนเขา ตอบแทนคนที่ทำกับเด็กแบบนี้ บอกได้เลยว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็ก เรารับไม่ได้"
เช่นเดียวกับ แมะซง อาบู ชาวบ้านกาลิซา อ.ระแงะ ใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ ที่ตอกย้ำว่า ชาวบ้านรับไม่ได้กับการกระทำที่เกิดขึ้นกับเด็ก
เรื่องราวของ บิสมี สุหลง หญิงสาววัย 27 ปี ที่ต้องจบชีวิตพร้อมลูกสาว เด็กหญิงนัสริน มามะ วัยเพียง 5 ขวบ สะท้อนภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหลายมิติ
เริ่มจากปัญหาชีวิตของบิสมี เธอเป็นภรรยาของบุคคลที่รัฐเชื่อว่าเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ มะสุเปียน มามะ ซึ่งเขาถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเมื่อปี 56 นัสรินเป็นลูกสาวคนเล็ก ไม่ใช่ลูกสาวคนเดียว เพราะบิสมียังมีลูกกับมะสุเปียนอีก 2 คน เป็นชาย 1 หญิง 1
การสูญเสียสามีซึ่งน่าจะเป็นเสาหลักของครอบครัว ทำให้ชีวิตของ บิสมี ต้องลำบากขึ้นหรือไม่ ถือเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะจากคำบอกเล่าของคนในพื้นที่สรุปได้ว่า เธอกลับไปอยู่กับแม่ของเธอที่บ้าน พร้อมลูกๆ รวม 3 คน ก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรม เธอมีปัญหากับที่บ้าน และหอบลูกคนเล็กขี่มอเตอรไซค์ออกจากบ้านมา ก่อนจะพบกับ ฮาซัน เจะฮะ ซึ่งไม่ชัดว่ารู้จักกันมาก่อนหรือไม่ และฮาซันก็ชวนเธอกับลูกไปที่บ้าน มีการอ้างคำให้การของฮาซันว่า เขากับบิสมีชวนกันเสพยา ก่อนจะหลับไป กระทั่งฮาซันมีอารมณ์ทางเพศ จึงไปขอร่วมหลับนอนกับบิสมี เธอไม่ยอมจึงถูกฆ่าพร้อมลูกสาว
พฤติกรรมหอบลูกออกจากบ้าน และไปเสพยาของบิสมี ทำให้ชาวบ้านที่รู้ข่าวพากันรับไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่การเสียชีวิตของเธอก็ทำให้ไม่มีใครอยากเอ่ยถึงหรือวิจารณ์
"ถือว่าเป็นความประสงค์ของอัลลอฮ์ที่จะชี้ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เห็น และคิดรวมไปถึงคนที่มีพฤติกรรมแบบนั้นได้สำนึกและเลิกทำตัวไม่ดี โดยเฉพาะการมั่วกับสิ่งเสพติด" แมะซง กล่าวอิงความเชื่อทางศาสนา
"เรื่องของคนตายไปแล้ว ไม่อยากพูดอะไรมาก ไม่ขอพูดถึงคนตาย" เป็นท่าทีของไซนับ
ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่บิสมีต้องใช้สารเสพติด เป็นผลมาจากความสูญเสียเสาหลักของครอบครัวเมื่อหลายปีก่อนหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมในชีวิตของเธอ
ถ้าสมมติฐานชีวิตของบิสมีเป็นจริง หน่วยงานรัฐก็น่าจะหวนคิดหรือให้ความสำคัญกับการดูแลครอบครัวของบุคคลที่รัฐเชื่อว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบบ้าง ด้านหนึ่งก็เพื่อลดปัญหาทางสังคม ลดเงื่อนไขอื่นที่จะตามมา และดูแลเด็กหรือเยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนกลุ่มนี้ให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ
ที่สำคัญ ครอบครัว ลูกเมียของคนในขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน อาจไม่ได้รู้เห็นกับขบวนการเลยก็เป็นได้...
"การเป็นเมียแนวร่วมหรือคนในขบวนการ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเป็นเมียจะต้องร่วมขบวนการด้วย กรณีของบีสมีถือเป็นบทเรียนหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ควรจะได้มองอีกมุม และก็ยังสะท้อนว่า บางครั้งพ่อหรือแม่หรือครอบครัวของคนในขบวนการ อาจไม่รู้จริงๆ ก็เป็นได้ ซึ่งหากเราแยกแยะและนำความช่วยเหลือเข้าไปสู่ครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้มากขึ้น ก็น่าจะลดปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ลงได้บ้าง" ทหารนายหนึ่งพูดจากประสบการณ์ที่ทำงานในพื้นที่มานานพอควร
ปัญหาสังคมที่เกิดในพื้นที่ขัดแย้ง มักเป็นบาดแผลลึกและยากจะเยียวยาเสมอ...
------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : แผนประทุษกรรมฆ่าสองแม่ลูกที่ระแงะ อีกหนึ่งอาชญากรรมร้ายแรงที่ชายแดนใต้