เต็มสิบ "ไกลก้อง" ให้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ชี้ไทยยังห่างไกล คำว่า รัฐบาลดิจิทัล
ผู้อำนวยการ Social Teacnology Institute ให้คะแนนไทย ยังห่างไกลคำว่า รัฐบาลดิจิทัล เต็มสิบ ยังได้ไม่ถึงครึ่ง ชี้ยังต้องปรับอีกเยอะ แนะให้เลิกแนวคิดสร้างแอปพลิเคชั่น เปลี่ยนการเข้าถึงข้อมูลให้ง่าย เลิกเปิดเผยข้อมูลด้วยไฟล์ PDF ลดการใช้เอกสารกระดาษ สร้างระเบียบให้สอดรับ
นายไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการ Social Teacnology Institute ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.com ถึงประเด็นแนวคิดที่รัฐบาลจะเดินไปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ว่า สิ่งที่หน่วยงานรัฐทำวันนี้คือการเน้นในเรื่องการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือ แต่สิ่งที่ต้องทำมากกว่านั้น คือเรื่องของกฎระเบียบที่สอดรับกับความเป็นรัฐบาลดิจิทัล การลดการใช้เอกสารที่เป็นกระดาษ และเรื่องของการที่มีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นโอเพ่น เดต้า (Open Data) ข้อมูลที่ไม่ใช่ไฟล์พีดีเอฟ (PDF) หรือว่า ถ้าจะเปิดเผยข้อมูลเรายังต้องไปขออนุญาต
"หน่วยงานรัฐต่างๆ ต้องเลิกการทำแอปพลิเคชั่นของตัวเอง หันมาเน้นในเรื่องของข้อมูลที่มีคุณภาพแล้วให้คนที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น นักพัฒนาแอปฯ สตาร์ทอัพมาทำด้วย สร้างการบริการผ่านระบบดิจิทัลที่ดี"
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมมองว่าหน่วยงานรัฐต้องเลิกทำแอปฯของตัวเอง นายไกลก้อง กล่าวว่า ปัจจุบันเกือบทุกหน่วยงานมีแอปพลิเคชั่น ถามว่า มีใครโหลดไปใช้หรือไม่ ที่มีติดเครื่องผู้ใช้จริงๆ อาจมีแค่ 1-2 แอป เช่น แอปฯ ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพราะคนต้องรู้เรื่องดิน ฟ้า อากาศ เท่านั้น จริงๆ แล้ว ถ้านำข้อมูลที่มีคุณภาพ อาจทำบริการใหม่ๆ อย่างแชทบอท (Chatbot) ที่มีการตอบโต้ผ่านระบบอัตโนมัติ ที่สามารถพูดคุยถามข้อมูลผ่านไลน์ เฟซบุ๊คแมสเซนเจอร์ หรืออุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าง กูเกิ้ล โฮม (google home) อเมซอน อาเล็กซ่า (amazon alexa) ที่ใช้ถาม-ตอบคำถาม ซึ่งหน่วยรัฐต้องมีข้อมูลที่ดี ที่จะสามารถใช้เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ เรื่องบริการที่มีความใกล้เคียงความเป็นมนุษย์มากขึ้น
"การพัฒนาแค่แอปฯอย่างเดียวคงไม่ใช่ แต่ต้องพัฒนาข้อมูลที่มีคุณภาพอุปกรณ์อย่าง ฟร้อนเอน (front-end) หรือ หน้าบ้าน ซึ่งเป็นส่วนติดต่อผู้ใช้ (User interface) สร้างระบบให้บริการที่ถูกใจคนใช้"
ผู้สื่อข่าวถามเน้นย้ำว่า หลายคนสงสัยว่า ทำไมภาครัฐยังเปิดเผยข้อมูลเป็นไฟล์ PDF อยู่ นายไกลก้อง กล่าวว่า เข้าใจว่ารัฐกลัวการแก้ไข กลัวว่าจะมีการเอาไปแก้ไขต่อ กลัวการบิดเบือน ทั้งๆ ที่ความจริง เราสามารถยืนยันได้ว่า ข้อมูลต้นฉบับจากภาครัฐเป็นอย่างไร และคุณก็เป็นเจ้าของข้อมูลนั้นอยู่เเล้ว กรณีเกิดการบิดเบือน แก้ไข ก็สามารถมาชี้แจงได้อยู่ ยิ่งเปิดยิ่งมีคนมาตรวจสอบว่า ข้อมูลผิดหรือถูกอย่างไร อีกอย่างการให้ข้อมูลที่ดีต้องสามารถนำไปวิเคราะห์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้เลย ถ้าเป็น PDF คนที่รับข้อมูลต้องมาแกะ เอามาสร้างไฟล์ใหม่ยุ่งยากในการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อ
“วันนี้รัฐยังต้องทำงานอีกเยอะ เรียกว่ายังอยู่อีกไกลสำหรับคำว่า รัฐบาลดิจิทัล ถ้าให้คะแนนเต็มสิบ ตอบได้ว่ายังต่ำกว่าครึ่ง ยังมีเรื่องต้องทำอีกเยอะ” ผู้อำนวยการ Social Teacnology Institute กล่าว
อ่านประกอบ
ราชการไทยจะเป็นดิจิทัล 4.0 ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่ต้องลงถึงระบบคิด