ราชการไทยจะเป็นดิจิทัล 4.0 ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่ต้องลงถึงระบบคิด
ราชการไทยจะเดินสู่ความเป็น ดิจิทัลได้ วงเสวนามอง การเปิดเผยข้อมูล เชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานสำคัญ ขณะเดียวกันจะเดินสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้ ไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่ระบบคิดต้องเปลี่ยนด้วยโจทย์ใหญ่วทำอย่างไรให้เกิดการทำงานร่วมกันกับประชาชน เกิดการใช้ประโยชน์ของข้อมูลอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.60 บนเวทีการเสวนา เรื่อง “เผยแนวคิดการพัฒนาบริการรัฐบาลดิจิทัลผ่านการเปิดเผย เชื่อมโยงข้อมูล และบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ” ภายในงาน “ Digital Government Summit 2017 :เปิดเผย เชื่อมโยง เปลี่ยนผ่าน สู่รัฐบาลยุคดิจิทัล” จัดโดย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายอนุสิษฐ คุณากร คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวว่า วันนี้เราผ่านการพัฒนามาสู่ยุคดิจิทัลพอสมควร มีการศึกษาค้นคว้า แต่ความเปลี่ยนแปลงของไทยยังล้าหลัง ถ้าเราเทียบกับประเทศอื่นๆ หลายๆ ประเทศกระโดดข้ามเราไปไกลมาก ในส่วนของภาคเอกชนเราไปได้ดีพอสมควร แต่ระบบราชการไทย มีปัญหามากมาย ดังเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในมาตรา 258 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน มีสองข้อสำคัญ คือ หน่วยงานของรัฐต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการบริหารราชการแผ่นดิน และการให้บริการประชาชน เรื่องนี้รัฐธรรมนูญกำหนดจะไม่ทำไม่ได้ ประการที่สองในการปฏิรูปในระยะต่อไปนี้ บอกว่า หน่วยงานของรัฐต้องบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 59 ยังบอกอีกว่า บริการของรัฐ จะต้องมีการปฏิรูป และต้องดำเนินการภายใต้แผนการดำเนินการ โดยต้องดำเนินการภายในหนึ่งปี
“ผมเชื่อว่าหลายหน่วยงานยังไม่ได้เริ่มทำเลย แม้ว่าจะไม่มีแผนปฏิรูปเรื่องนี้ แต่หน่วยงานของรัฐต้องกลับไปศึกษา ว่าหน่วยงานของตัวเองจำเป็นต้องปฏิรูปเพื่อไปตอบโจทย์ ในมาตรา 258 ราชการทั้งส่วนหนีไม่พ้น เรื่องการปฏิรูป ที่บางอย่างวันนี้เป็นดิจิทัล แล้วเราก็เปลี่ยนไปเป็นเอกสาร เอาไปเก็บไว้ในลิ้นชักเหมือนเดิม ในขณะที่บางครั้งข้อมูลเหล่านั้นมีคุณค่า เราทำแล้วเราก็เก็บไว้ พอคนอยากรู้ต้องมาใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ มาขอ แล้วเราก็ไม่กล้าให้เพราะกลัวจะมีความผิด เลยเก็บไว้ก่อนดีกว่า เอาไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยเปิดเผยข้อมูลวิเคราะห์ ตรงนั้นก็งงว่า นี่เป็นข้อมูลจะเปิดได้หรือไม่ เราขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลที่ดีเหล่านี้”
ประเด็นในข้อกฎหมายที่จะปฏิรูป นายอนุสิษฐ กล่าวว่า เราไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนที่จะขับเคลื่อนให้กระทรวงต่างๆ สามารถเดินไปได้ในทิศทางเดียวกัน เป็นไปอย่างสามารถประสานงานกันได้ นอกเหนือจากมีกฎหมาย ต้องมีกลไกในการช่วยราชการในเคลื่อนตัว วันนี้ต่างหน่วยงานต่างสร้างเงื่อนไขของตัวเอง ต่างคนต่างทำ ไปดีไซน์รูปแบบ สร้างของตัวเอง อยู่ในกรอบตัวเอง มีหลายองค์กร ที่อยู่ในลักษณะนี้
“ประเด็นคือถ้าเราจะเชื่อมโยง จะทำได้อย่างไร ต้องเอาภาษีประชาชน มาตั้งเป็นงบประมาณใหม่ ตั้งเเล้ว ตั้งอีก เราลงทุนไป หลายหน่วยงานไม่คุ้มค่า เรากอดแอปพลิเคชั่นนั้นไว้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราคิดอย่างนั้น ทัศนคติเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะทำได้ยากมาก” นายอนุสิษฐ กล่าว และว่า ไทยแลนด์จะ 4.0 หรือไม่ อยู่ที่พวกเรา ลูกหลานเราจะโตมาด้วยระบบที่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้เขามีความสมาร์ท(Smart)ได้ วันนี้เด็กจบใหม่เข้ามาทำงานในราชการ ท้อเพราะระบบไม่เอื้อ จะหาข้อมูลได้ที่ไหน ขนาดในหน่วยงงานตัวเองยังกอดข้อมูลในลิ้นชักตัวเองอยู่เลย
“เราต้องยอมรับเสียทีว่า ที่เราอาศัยภาษีประชาชนกินเงินเดือนต่างๆ แล้วบางครั้งเราใช้เงินอนาคตของลูกหลานมาทำงาน ณ วันนี้ เราคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เเล้ว ถ้าเราอยากเปลี่ยนประเทศ ต้องสร้างกลไกกฎหมายขึ้นมา ต้องมีกติกา มาตรฐาน บุคลากร หน่วยงาน”
ด้านนายชัยณรงค์ โชไชย ที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพ อย่างการกดบัตรคิวรออาหารตามร้านอาหารดังๆ ที่มีการระบุตั้งแต่ระยะเวลาที่ต้องรอ จำนวนกี่คิว ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนความโปร่งใส และไม่ใช่แค่บอกว่า ต้องรอกี่นาที คนทำอาหารต้องทำกี่นาที วันไหนที่ควรมา เวลาไหนที่ควรเลี่ยงเพราะคนจะเยอะ เทคโนโลยีบอกหมด สิ่งนั้นมากจากการเอาสองโลกมาบูรณาการกันนั่นคือ โลกที่เป็นกายภาพ(Physical) และโลกไซเบอร์(Cyber) แล้วเปลี่ยนกายภาพ ข้อมูล กลายเป็นประโยชน์ต่อผุ้ใช้บริการทุกคน คนใช้บริการก็ได้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น
"การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการ สะดวกรวดเร็ว ได้ประสิทธิภาพ แล้วประชาชนได้ประโยชน์ ถามว่าวันนี้ร้านค้าที่จะเปิดใหม่ไม่รู้จะไปเริ่มต้นที่ไหน ต้องไปกี่ที่ เมื่อไหร่จะเสร็จ ดังนั้นรัฐบาลดิจิทัล คือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เอามาให้บริการประชาชน และอำนวยความสะดวก แล้วถ้ารัฐอยากให้บริการในภาคเหล่านี้ ต้องดูว่ารัฐตอนนี้เป็นอย่างไรไอที เทคโนโลยีในหน่วยงานไม่รู้ของปีไหน 10ปีมาแล้ว 5ปีมาแล้ว ขณะที่แผนกต่างๆ ยังทำงานเป็นชิ้น แผนก A อยากทำเรื่องนี้ก็ทำ อีกแผนกก็ทำไม่มีการเชื่อมโยงกันเลย
การจะเปิดเผยข้อมูลต้องทำอย่างไร หนึ่ง การเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานส่วนใหญ่รู้สึกเป็นเจ้าของ กลัวเรื่องความปลอดภัย ทั้งๆ ที่ข้อมูลนั้นมีหลายระดับ มีข้อมูลระดับความมั่นคง แบบข้อมูลทั่วไปซึ่งก็ปล่อยได้เลย ไม่ต้องกอดไว้ วันนี้ต้องออกมาเปลี่ยนแปลงไปเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล รัฐทำคนเดียวไม่ได้
ขณะเดียวกัน ผลกระทบการใช้ข้อมูลก็จะเปลี่ยนไป มีการประเมินว่า ในปีค.ศ.2025 รัฐบาลจะใช้ข้อมูล Big Data ในการตัดสินใจในเชิงนโยบายการปฏิบัติการมากมาย แต่ว่าจากตรงนั้นภาครัฐต้องเตรียมต้ว ปรับตัวอย่างไร เตรียมคนให้พร้อม ผู้ใช้บริการประชาชน คนในองค์กร
มาตรฐานต้องมีในการที่จะเซ็ตข้อมูลที่ใช้ แนวทางการใช้ให้อัปทูเดต(Up to date) ต่อเทคโนโลยี กระบวนการที่พัฒนาข้อมูลออกมานำไปสู่ การแก้ไขที่จะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ต้องใช้มาตรฐานมาตรการที่เพื่อเอาไปแก้ปัญหา ข้อมูลนั้นตอบโจทย์อะไร มีผลกระทบกับใครบ้าง ต้องมีการคิดอย่างครบวงจร เพื่อการใช้อย่างคุ้มค่า”
ด้าน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวถึงรัฐบาลดิจิทัลต้องเป็นอะไรที่มากกว่าความทันสมัย การเข้าถึงข้อมูล การใช้บริการต่างๆ ต้องเร็ว สะดวก ต้นทุนต้องถูกและง่าย นี่คือสิ่งที่นึกภาพ แต่ในภาพความเป็นจริง เรายังคงลำบากในการเข้าถึงทั้งหมด
“ความเป็นรัฐบาลดิจิทัล ไม่ใช่เครื่องมือแต่คือ ระบบคิดด้วย” นายประสงค์ กล่าว และว่า วันนี้หากถามชาวบ้านว่าใครใช้ไลน์บ้าง เกือบ100% ใช้ แต่ถามว่าใครเคยเข้าเว็บราชการบ้าง บางคนยังไม่รู้เลยว่าเว็บคืออะไร
“ขณะเดียวกันระบบราชการเองก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม อย่างผมเป็นผู้ต้องหาหมิ่นประมาท ต้องขึ้นโรงพัก ยังต้องพิมพ์ด้วยหมึกทั้งสิบนิ้ว ทำไมไม่เป็นขึ้นไปทำแล้วสแกนนิ้วเลย ถามว่าไม่ดียังไงในเมื่อทำบัตรประชาชนยังทำได้ ขณะที่พิมพ์นิ้วเสร็จกว่าเอกสารจะส่งกองทะเบียนประวัติอาชญากร โน่นนี่ใช้เวลาอย่างต่ำ 7 วัน นี่คือบริการพื้นฐาน วันนี้เรามีแสนๆ คดี แต่ยังพิมพ์สิบนิ้ว ไม่ต้องนับว่าจะสแกนม่านตา ที่อ้างว่าแรงงานประมงลายนิ้วมือหาย แต่มีคนท้วงว่ามีการโกงเป็นพันล้านบาท จัดซื้อเครื่องสแกน สุดท้ายก็ยังมีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องอีก”
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า ถ้าเปิดเผยข้อมูล ประชาชนสะดวก จะเปิดยังไง การจัดการข้อมูลยังไง วันนี้ กสทช. ออกบังคับให้ผู้ให้บริการมือถือรายเดือนต้องถ่ายรูปหน้า สแกนนิ้วมือ บัตรประชาชน ถามว่าร้านค้าเล็กๆ จะทำอย่างไร เท่านั้นไม่พอ กสทช.จะจัดการข้อมูลกว่าร้อยล้านหมายเลข ทำอย่างไร
“วันนี้เรามีข้อมูลมีอยู่เเล้ว แต่คำถามคือจะจัดการอย่างไร อย่างการกรอกภาษีเอง ความยากทุกวันนี้ทุกคนคงรู้ ยังต้องเก็บเอกสารเอาไปยื่นอีก ทั้งๆ ที่ระบบเลขบัตรประชาชนก็มี ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นคีย์ข้อมูลแล้วขึ้นรายละเอียดเลยทีเดียว”
นายประสงค์ กล่าวด้วยว่า ถ้าภาครัฐจะเริ่มให้เกิดความโปร่งใส ต้องเริ่มเรื่อง1. การจัดซื้อจัดจ้าง แอปภาษีไปไหนไม่ต้องมีด้วยซ้ำ ถ้ากรมบัญชีกลางพัฒนาให้เข้าถึงง่าย 2. เรื่องของงบประมาณ ทำเรียลไทม์ได้ไหม ว่ากระทรวง กรมนี้เบิกงบใช้งบเท่าไหร่ ทำจริงไหม ขึ้นให้เห็นเลย ประชาชนอยากรู้เข้าไปดูว่าเบิกงบแสนล้าน เอาทำจริงหรือเปล่า 3. เรื่องภาษี ยกตัวอย่างนิติบุคคล อยากรู้ว่าบริษัทไหน ตึกไหนเสียภาษีโรงเรือนเท่าไหร่ ก็ขึ้นเลยว่า ตึกบนถนนราชประสงค์สองตึกนี้ ขนาดเท่ากันแต่ทำไมจ่ายไม่เท่ากัน
"สุดท้ายเรื่องที่ 4.กระบวนการยุติธรรม เราจะดูกระบวนการไปถึงไหน วันนี้ไม่รู้เลย ทั้งพวกนี้ถ้าทำไปให้โปร่งใส นักข่าวอย่างผมจะตกงาน คือไม่ต้องทำงานเพราะทุกคนเข้าถึงได้ง่ายเลย"
ด้านนายไกลก้อง ไวทยาการ ผู้อำนวยการ Social Teacnology Institute กล่าวว่า เรื่อง Digital Goverment เป็นนิมิตรหมายที่ดี ในการออกระเบียบต่างๆ ปรับปรุงรัฐบาลไปสู่การบริการได้ดีขึ้น การรัฐบาลดิจิทัล ไม่ใช้เป็นแค่ผู้ให้บริการอย่างเดียว แต่ภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ด้วย เช่นหากเราสนใจเรื่องการใช้ข้อมูลภาครัฐในการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความยากจน การศึกษา การรับมือภัยพิบัติ ต้องใช้ข้อมูลรัฐในการทำงาน เรื่องการรับมือภัยพิบัติ รัฐมีเซ็นเซอร์มากมาย ข้อมูลเหล่านี้ถ้าเปิดเผยให้ประชาชน ช่วยสร้างเครืองมือว่าเราจะช่วยได้อย่างไร จุดนี้ภาครัฐทำได้เลย
"ขณะที่สื่อมวลชนต้องใช้ข้อมูลภาครัฐอย่างมากในการทำงาน จะเอามาดูว่า โครงการต่างๆ ของรัฐใช้งานโปร่งใสอย่างไร นอกจากการทำงาน เรื่องความโปร่งใสทำอย่างไร ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในนโยบายได้ เช่น จะเลือกตั้งในปีหน้า ในการมีส่วนการในส่วนนโยบาย ที่ประชาชนอยากเห็นนโยบายจะทำได้อย่างไรกับรัฐบาลหน้า พื้นที่ดิจิทัลเหล่านี้จะเปิดได้อย่างไร"
นายไกลก้อง กล่าวอีกว่า การบริการหลายประเทศ ภาครัฐไม่ได้ทำเอง แต่ร่วมมือกับเอกชน เพื่อให้เกิดการบริการได้ดีขึ้น เราอยากเห็นว่า พอเราเปิด ประชานจะมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย จะมีได้อย่างไร วันนี้ 80% ของไทย เขาถึงอินเทอร์เน็ตโดยทางโทรศัพท์มือถือ ไม่ต้องห่วงว่าคนจะใช้ไม่ได้ วันนี้ทุกคนที่สื่อสารผ่านคนรอบข้าง เราโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชั่น วันหนึ่งเรามีปฏิสัมพันธ์คนผ่านเครื่องมือเหล่านี้มากกว่า ไปเจอหน้าตา ตัวต่อตัวอีก และนี่จะเป็นเครื่อมือในการใช้ชีวิตต่อไป