จับตาวิ่งต่อหรือปิดตำนาน? เช็คถุงเงินรถเมล์สาย 8 หลังโผล่ชื่อค้างหนี้ ขสมก.4.3 ล้าน
"...ณ วันนี้ ในช่วงการปฏิรูปเส้นทางเดินรถประจำทางใหม่ทั้งระบบ มีคำถามใหม่ดังตามมาให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รับผิดชอบงานส่วนนี้ ไปพิจารณาคือ หลังการปฏิรูปเส้นทางเดินรถใหม่ เจ้าของรถเมล์สาย 8 ทั้ง 3 ราย จะยังคงเหลือรอด อยู่ในรายชื่อบริษัทเอกชน ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถใหม่ต่อไปหรือไม่? หรือถึงเวลาต้องปิดตำนานลงเสียที?..."
ในฐานข้อมูลรายชื่อรถโดยสารสาธารณะร่วมบริการ ที่ค้างชำระหนี้ค่าตอบแทนองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในส่วนของรถใหญ่ร้อน จำนวน 51 บริษัท 68 สัญญา รวม 314 ล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอไปแล้ว (อ่านประกอบ : ถึงคิวรถร่วมฯ ใหญ่ร้อน - 51 บริษัท ค้างหนี้ ขสมก. 314 ล. ‘สหขนส่งฯ’ มากสุด)
มีชื่อบริษัทเอกชน 3 ราย รวมอยู่ด้วย คือ 1. บริษท ไทยบัส ขนส่ง จำกัด 1 สัญญา จำนวน 2.99 ล้านบาท 2. บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด 1 สัญญา จำนวน 8.43 แสนบาท 3.บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด 1 สัญญา จำนวน 6.24 แสนบาท
รวมวงเงินหนี้ค้างทั้ง 3 บริษัท อยู่ที่ตัวเลข 4.39 ล้านบาท
ที่มาที่ไปของ บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย มีความน่าสนใจอย่างไร? เป็นคำถามที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่ทราบ?
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นปี 2557 รถเมล์สาย 8 ถูกเข้มงวดการให้บริการประชาชนจากองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) เป็นอย่างมาก หลังก่อเหตุเบียดรถชาวบ้าน จนได้รับความเสียหาย ขณะที่การให้บริการให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็ถูกร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า บริษัทเอกชน ที่ปรากฏชื่อเป็นเจ้าของรถเมล์สาย 8 ที่ได้รับสัมปทานเดินรถเมล์สายนี้ มีจำนวน 3 ราย คือ บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด , บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด และ บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด
สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 ทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 207 ถนนแฮปปี้แลนด์สาย 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 แจ้งประกอบธุรกิจรับขนส่งคนโดยสาร ปรากฏชื่อนายประธาน ทรัพย์บุญเรือง นายลาภ ศรีกลชีพ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาง มยุรี ปิยะอารมณ์รัตน์ ถือหุ้นใหญ่สุด
แจ้งผลประกอบการปี 2555 ระบุว่า มีรายได้รวม 17,061,745 บาท แต่มีกำไรแค่ 1,178,320.31 บาท
ก่อนหน้านี้แจ้งว่าประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องทุกปี
ส่วนบริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด แจ้งจดทะเบียน เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 617 ซอยหมู่บ้านเสนาวิลล่า แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบกิจการเดินรถรับ-ส่งผู้โดยสารประจำทาง นายกัณฑ์พัฒน รุ่งเจริญ นางจินดา วนิชชานนท์ นายธีระชัย จิรกอบสกุล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายนายธีระชัย จิรกอบสกุล ถือหุ้นใหญ่สุด
แจ้งผลประกอบการล่าสุดปี2554 มีรายได้รวม 98,117.80 บาท มีกำไรสุทธิ 34,170.94 บาท ก่อนหน้านี้แจ้งว่ามีกำไรอยู่แค่หลักหมื่นบาทมาตลอด
ขณะที่บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด แจ้งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527 มีทุน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่
42/141 ถนนนวมินทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจเดินรถโดยสาร ปรากฏชื่อนาย ไพเชษฐ์ เมธิสริยพงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาง วัลลภา เมธิสริยพงศ์ ถือหุ้นใหญ่สุด
แจ้งผลประกอบการ ปี 55 มีรายได้จำนวน 26,208,656 บาท แต่มีกำไรสุทธิ 31,175.22 บาท ใกล้เคียงกับข้อมูลที่แจ้งในงบดุลหลายปีก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ผลประกอบการของบริษัททั้ง 3 แห่ง ไม่ค่อยดีมากนัก โดยเฉพาะในส่วนของบริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด ที่แม้จะมีรายได้หลักสิบล้านบาทหลายปีติดต่อ แต่มักจะระบุว่ามีกำไรเพียงแค่หลักหมื่นบาท (ในปี 2554 ระบุว่าขาดทุน 436,847.67 บาท)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ย้อนตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อีกครั้งพบว่า บริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ยังประกอบธุรกิจอยู่ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่แต่อย่างใด
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ล่าสุดปี 2559
บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด แจ้งว่า มีรายได้รวม 17,382,846.70 บาท รวมรายจ่าย 21,020,657.65 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,637,810.95 บาท
บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด แจ้งว่า มีรายได้รวม 96,500 บาท รวมรายจ่าย 63,900 บาท กำไรสุทธิ 26,080 บาท
บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด แจ้งว่า มีรายได้รวม 19,809,813 บาท รวมรายจ่าย 20,118,836.78 บาท ขาดทุนสุทธิ 310,573.78 บาท
ตัวเลขที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าผลประกอบการทางธุรกิจของทั้ง 3 บริษัท ยังไม่ดีขึ้นจากเดิม และอาจเป็นคำเฉลยเหตุว่าที่ว่า ทำไมบริษัททั้ง 3 แห่ง ถึงปรากฎชื่อค้างชำระหนี้กับ ขสมก. เป็นวงเงินรวมกว่า 4.39 ล้านบาท (ที่ผ่านมา ยังไม่เคยปรากฎข้อมูลเป็นทางการว่า มีหน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบข้อมูลงบการเงินทั้ง 3 บริษัท แล้วหรือไม่)
แต่คำถามสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง ขสมก. ยังไม่เคยให้คำตอบแก่สังคมแบบชัดๆ คือ ทำไมบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ ถึงยังคงได้รับสัปทานให้บริการเดินรถเมล์สาย 8 มาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ทั้งที่ ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการให้บริการมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
ณ วันนี้ ในช่วงการปฏิรูปเส้นทางเดินรถประจำทางใหม่ทั้งระบบ มีคำถามใหม่ดังตามมาให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รับผิดชอบงานส่วนนี้ ไปพิจารณาคือ หลังการปฏิรูปเส้นทางเดินรถใหม่ เจ้าของรถเมล์สาย 8 ทั้ง 3 ราย จะยังคงเหลือรอด อยู่ในรายชื่อบริษัทเอกชน ผู้ได้รับสัมปทานเดินรถใหม่ต่อไปหรือไม่? หรือถึงเวลาต้องปิดตำนานลงเสียที?
ถ้าจะอยู่ต่อไป จะต้องปรับปรุงนโยบายข้อบังคับการให้บริการงานอย่างไร? โดยเฉพาะบทลงโทษกรณีเกิดปัญหาการให้บริการในอนาคตซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผ่านมา?
นี่คือ คำถามที่สำคัญ และชวนให้ติดตามดูตอนจบของเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง!
อ่านประกอบ:
เปิดขุมข่ายธุรกิจ 'มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต' ผู้คว้าสัมปทานมินิบัส เส้นทางปฏิรูปสายแรก
รู้จัก บ.มารัตน์ฯ จดทะเบียน 20 ล. คว้าสัมปทานมินิบัส เส้นทางปฏิรูปสายแรก
เปิดข้อมูลหนี้รถร่วมฯ ‘มินิบัส’ ค้าง ขสมก. 26 ล. -บ.ทีบัสฯสัญญาเดียวมากสุด 6 เเสน
ไม่ใช่แค่2บริษัท!ชื่อเจ้าของ'วังศกาญจน์กิจ'หุ้นใหญ่บ.รถร่วมฯแห่ง3-ยอดค้างหนี้พุ่ง78ล.
เจ้าของเดียวกัน-หนี้พุ่ง67ล.!เจาะถุงเงิน'วังศกาญจน์กิจ-กทม.ขนส่ง' เบอร์1ค้างหนี้ขสมก.
หนี้รถร่วมฯ อ่วม ‘บ.วังศกาญจน์กิจ’ สัญญาเดียว ค้าง ขสมก.มากสุด 36 ล.
ย้อนรอย ล้ม 6 ครั้ง ประมูล 'รถเมล์เอ็นจีวี' คุณสมบัติไม่ครบ สารพัดข้อท้วงติง
เปิดประมูลอีกรอบ รถเมล์เอ็นจีวีวงเงินกว่า 4 พันล้าน