เปิดขุมข่ายธุรกิจ 'มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต' ผู้คว้าสัมปทานมินิบัส เส้นทางปฏิรูปสายแรก
เปิดขุมข่ายธุรกิจ 'มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต' ผู้คว้าสัมปทานมินิบัส เส้นทางปฏิรูปสายแรก พบทำธุรกิจอีกแห่งหนึ่ง 'บ.มารัตน์ เทรดดิ้ง จก.' ขายส่งชิ้นส่วน อุปกรณ์เสริมใหม่ยานยนต์ เเจ้งผลประกอบการไร้รายได้
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า บริษัท มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต จำกัด คือผู้ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทาง เส้นทาง R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-รพ.รามาธิบดี (ทางด่วน) ระยะทาง 61 กม. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมเปิดเส้นทางเดินรถมินิบัสใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยคาดว่า เส้นทางสายนี้จะสร้างรายได้เฉลี่ย 1.21 แสนบาท/วัน หรือ 3.64 ล้านบาท/เดือน จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1311 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีกรรมการ 3 คน คือ นายมารัตน์ แซ่ลิ้ม จำนวน 1.2 แสนหุ้น, นายจรูญ ศรีวิภาค จำนวน 4 หมื่นหุ้น และนายณรงค์ อยู่เงิน จำนวน 4 หมื่นหุ้น
แจ้งวัตถุประสงค์ธุรกิจ 42 ข้อ เช่น ประกอบกิจการค้าสัตว์มีชีวิต เนื้อสัตว์ชำแหละ เนื้อสัตว์แช่แข็ง และเนื้อสัตว์บรรจุกระป๋อง ประกอบกิจการค้า เครื่องจักร เครื่องยนต์ เครื่องมือกล เครื่องทุ่นแรง ยานพาหนะ ประกอบกิจการโรงงานเพื่อพัฒนา สร้าง ประกอบ และผลิต รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถบรรทุก รถยนต์ นอกจากนี้ยังประกอบกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า และคนโดยสารทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งบริการนำขอออกจากท่าเรือตามพิธีการศุลการกรและการจัดระวางการขนส่งทุกชนิด
อีกทั้ง ยังประกอบกิจการบริการรับจ้าง ผลิต ซ่อมแซม ซ่อมสร้าง ปรับปรุง รถถังขนาดเบาแบบ 21 รถถังที่ใช้ในราชการกองทัพไทย ยานยนต์ล้อ ยานยนต์สายพาน ยานยนต์รบ ยานยนต์ช่วยรบ ชนิดและขนาดต่าง ๆ รวมตลอดทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือ เรือรบ เรือช่วยรบ อากาศยาน อากาศยานรบ อากาศยานช่วยรบ อุปกรณ์ หรือส่วนประกอบของอุปกรณ์สงครามทุกชนิดและทุกประเภทที่ใช้ในราชการทหาร
ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มียื่นแสดงงบการเงิน (อ่านประกอบ : รู้จัก บ.มารัตน์ฯ จดทะเบียน 20 ล. คว้าสัมปทานมินิบัส เส้นทางปฏิรูปสายแรก)
คำถามที่น่าสนใจ บริษัท มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต จำกัด เป็นหน้าใหม่ ในวงการธุรกิจเดินรถประจำทางจริงหรือ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กรรมการและผู้ถือหุ้น บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ยังปรากฎชื่อทำธุรกิจอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท มารัตน์ เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 7 กรกฎาคม 2558 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1311 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขายส่งชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมใหม่ของยานยนต์
ปรากฎชื่อ นายมารัตน์ แซ่ลิ้ม เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นาย ปรีชา แก้วพานทอง น.ส. ภัทรา ฉัตรานุฉัตร รวมเป็นกรรมการ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2560 นาย มารัตน์ แซ่ลิ้ม ถือหุ้นใหญ่สุด 80% นาย ปรีชา แก้วพานทอง นางสาว ภัทรา ฉัตรานุฉัตร ถือหุ้นอยู่คนละ 10%
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2558 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 11,150 บาท ขาดทุนสุทธิ 11,150 บาท
ส่วน นาย จรูญ ศรีวิภาค เคยปรากฎชื่อเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก. 2 แห่ง คือ
1. หจก. ว.จรูญรวย ทรานสปอร์ต จดทะเบียน 17 กุมภาพันธ์ 2535 ทุน 6 แสนบาท ตั้งอยู่เลขที่ 13/8 หมู่ที่ 9 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า และคนโดยสารทางบกภายในประเทศ
แต่จดทะเบียนเลิกห้าง ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 และ ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2539
2. หจก. ศรีวิภาค เซอร์วิส จดทะเบียน 20 มีนาคม 2543 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 60/5 หมู่ที่ 2 ซอยมิตรร่วมใจ ถนนนิมิตรใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจรับจ้างรับ-ส่งคนโดยสารรถรับจ้างไม่ประจำทางของศูนย์การค้าและรับ-ส่งพนักงานของกิจการอื่น ๆ
มีสถานะร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนแล้ว ตามความในมาตรา 1273/3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554
ส่วนการประเดิมธุรกิจเดินรถประจำทางมินิบัสใหม่ เส้นทางปฏิรูปสายแรก ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่นี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรคงต้องติดตามดูกันต่อไป แบบยาวๆ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) มี 9 จุดจอด ได้แก่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เคหะบางพลีเมืองใหม่ สุวรรณภูมิ เมกะบางนา ซีคอนสแควร์ หัวหมาก พระราม 9 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และโรงพยาบาลรามาธิบดี เส้นทางนี้ใช้รถโดยสารปรับอากาศขนาด 35 ที่นั่ง จำนวน 16 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยวต่อวัน อัตราค่าโดยสารเป็นไปตามระยะทาง เริ่มต้นที่ 13-25 บาท คาดการณ์ผู้โดยสารอยู่ที่ 400 คนต่อวันต่อคัน ส่วนสาย Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)รัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) มี 5 จุดจอด ได้แก่ มทร.รัตนโกสินทร์ ม.มหิดล ศาลายา สถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่งหมอชิต และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต เส้นทางนี้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ไมโครบัส) ห้ามมีผู้โดยสารยืน จำนวน 18 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยววิ่ง อัตราค่าโดยสาร 40 บาทตลอดสาย
ขณะที่บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกนั้น มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่ ขบ.กำหนด ทั้งการเป็นนิติบุคคล มีความพร้อม ความเป็นมืออาชีพ และมาตรฐานตัวรถ โดยเฉพาะอุปกรณ์ส่วนควบ เช่น มีจีพีเอส จอแสดงความเร็ว แคชบ็อกซ์ และระบบอีทิคเก็ต รองรับการใช้บัตรตั๋วร่วม มีกล้องวงจรปิดภายในตัวรถ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหลังจากนี้บริษัท ต้องเร่งดำเนินการจัดหารถโดยสาร เพื่อมาขอใบอนุญาตฯ ที่ ขบ. โดยก่อนออกใบอนุญาตฯ นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่ารถโดยสาร เป็นไปตามเงื่อนไขที่ขบ. กำหนด และตามแผนที่เอกชนเสนอมาหรือไม่ หากเป็นไปตามนั้นก็จะออกใบอนุญาตฯ ให้ ซึ่งจะมีอายุ 7 ปี แต่ในระหว่าง 7 ปีนี้หากทำผิดเงื่อนไข ทาง ขบ. จะเพิกถอนในอนุญาตฯ ทันที (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จาก https://www.108news.net/news/79719)
อ่านประกอบ:
เปิดข้อมูลหนี้รถร่วมฯ ‘มินิบัส’ ค้าง ขสมก. 26 ล. -บ.ทีบัสฯสัญญาเดียวมากสุด 6 เเสน
ไม่ใช่แค่สัญญาเดียว! 3 บริษัทรถร่วมฯ เจ้าของเดียว ‘วังศกาญจน์กิจ’ ติดหนี้ ขสมก. 21 สัญญา 228 ล.
ไม่ใช่แค่2บริษัท!ชื่อเจ้าของ'วังศกาญจน์กิจ'หุ้นใหญ่บ.รถร่วมฯแห่ง3-ยอดค้างหนี้พุ่ง78ล.
เจ้าของเดียวกัน-หนี้พุ่ง67ล.!เจาะถุงเงิน'วังศกาญจน์กิจ-กทม.ขนส่ง' เบอร์1ค้างหนี้ขสมก.
หนี้รถร่วมฯ อ่วม ‘บ.วังศกาญจน์กิจ’ สัญญาเดียว ค้าง ขสมก.มากสุด 36 ล.
อ่วมหนี้รถร่วม! 75 บริษัท 600 ล. เอกชนโต้สหภาพฯ ใช้หนี้แสนล.ก่อน ค่อยขู่ตัดสิทธิ
ย้อนรอย ล้ม 6 ครั้ง ประมูล 'รถเมล์เอ็นจีวี' คุณสมบัติไม่ครบ สารพัดข้อท้วงติง
เปิดประมูลอีกรอบ รถเมล์เอ็นจีวีวงเงินกว่า 4 พันล้าน