"สุนทรียปรัศนี" อีกหนึ่งเครื่องมือดับไฟใต้
ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมานานกว่า 1 ทศวรรษ และมีข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกมากมาย แต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที
ล่าสุดมีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ "สุนทรียปรัศนี" หรือการตั้งคำถามเพื่อสร้างกำลังใจ ดึงการมีส่วนร่วมของผู้คนและชุมชนมาใช้ในการจัดการความขัดแย้งที่ปลายด้ามขวาน รวมถึงใช้งาน "สาธารณสุข" เป็นตัวนำในการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส
แนวคิดนี้ถูกพูดถึงในการประชุมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ "การสร้างการมีส่วนร่วมด้วยกระบวนการสุนทรียปรัศนี" หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Appreciative Inquiry (AI) จัดขึ้นที่ห้องประชุมสถาบันพระปกเกล้า เมื่อเร็วๆ นี้ โดยกระบวนการสุนทรียปรัศนี ใช้คู่กับกระบวนการ "ประชาเสวนา" เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างสันติ ลดความขัดแย้ง โดยใช้วิธีการตั้งคำถามที่ถูกต้องตามหลัก "สุนทรียปรัศนี" เนื่องจากการพูดคุยและตั้งคำถามถือเป็นกุญแจด่านแรกในการสร้างความเข้าใจ ลดความขัดแย้ง นำไปสู่การเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
ฉะนั้นการใช้คำถามที่ก่อให้เกิดความซาบซึ้ง หรือให้กำลังใจมาเป็นตัวตั้ง แล้วค้นหาสิ่งดีๆ ของคู่สนทนาออกมา ถือเป็นการใช้ศิลปะในการตั้งคำถามเพื่อเสริมพลังในการจัดการปัญหาร่วมกัน และลดความขัดแย้งได้
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาผู้นำและสร้างสันติธรรม รักสคูล ในฐานะนักสันติวิธีชื่อดัง บอกว่า การนำสุนทรียปรัศนีมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการแพทย์ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ซี่งเกิดขึ้นมากในปัจจุบัน หรือจะใช้กับปัญหาอื่นใดก็แล้วแต่ รวมถึงปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเร่งให้ความสำคัญ เพราะการตั้งคำถามที่สร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะโจทย์เรื่องสุขภาวะของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ ควรนำวิธีนี้มาปรับใช้ เพื่อดึงการมีส่วนร่วมของชุมชน
"ไม่ว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรามักจะมองวิธีแก้ปัญหาแบบเดิม ไม่เฉพาะปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ สิ่งที่ควรจะนำไปสู่ทางออก คือเอาชุมชนเข้ามาช่วยกันคิด เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด นั่นก็คือการนำ Appreciative Inquiry หรือสุนทรียปรัศนีมาปรับใช้ โดยการตั้งคำถามที่สร้างสรรค์ มีพลัง ผมมองว่าสุนทรียปรัศนีเป็นความสำคัญของทุกเรื่อง โจทย์ของเรื่องสุขภาวะในจังหวัดชายแดนใต้ก็ควรจะนำวิธีนี้มาปรับใช้ได้ และต้องนำความคิดเห็นของชุมชนมาใช้ด้วย" หมอวันชัย ระบุ
สถานการณ์เรื่องสุขภาวะ เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยองค์การยูนิเซฟเพิ่งร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแพร่รายงานที่พบว่าเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีภาวะขาดสารอาหาร หรือ ทุพโภชนาการ ในอัตราสูงที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันก็เข้าถึงวัคซีนและการบริการทางการแพทย์ต่ำสุดในประเทศเช่นกัน รวมทั้งการไม่รู้วิธีป้องกันการติดเชื้อเอดส์ด้วย ฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าหากใช้งานด้านสาธารณสุขเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา อาจเป็นทางออกของไฟใต้ที่ปลายด้ามขวานก็เป็นได้
การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องสุนทรียปรัศนี มี ดร.ซินเทีย เออร์เมอร์ (Dr.Cynthia Irmer) ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันความขัดแย้งโดยกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยคนกลางและสร้างฉันทามติ จากสหรัฐอเมริกา มาให้มุมมองที่น่าสนใจด้วย โดยระบุตอนหนึ่งว่าในพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างจังหวัดชายแดนใต้ ถ้าเราใช้วิธีแก้ปัญหาไม่ถูกทาง ปัญหาก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งการใช้สุนทรียปรัศนีน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการแก้ไขปัญหาได้ แนวทางคือจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่พูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน ไม่ใช่แค่ความอ่อนแอแต่เพียงอย่างเดียว
"ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ถ้าเราใช้วิธีการที่ไม่ถูกหลัก จะทำให้ปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีก การใช้สุนทรียปรัศนีน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดี โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความแข็งแรงของชุมชน เราจะทำอย่างไรให้ชุมชนพูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน ไม่ใช่แค่ความอ่อนแอเท่านั้น พูดเพื่อก้าวไปข้างหน้า โดยให้ชุมชนดึงความเข้มแข็งของชุมชนออกมา ไม่ใช่มองย้อนหลังไปที่ความอ่อนแอ" ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐอเมริกา ระบุ
------------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง : อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
บรรยายภาพ :
1 ดร.ซินเทีย เออร์เมอร์
2 ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์