ผอ.สคร. ย้ำ ร่างพ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ไม่มีเจตนาแปรรูปซ่อนเงื่อน
ผอ.สคร. ย้ำ ร่างพ.ร.บ. พัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ ไม่มีเจตนาแปรรูปซ่อนเงื่อน ส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจยังอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานเดิมไม่เปลี่ยน ด้านให้อำนาจ คนร.แสดงความเห็นสัดส่วนก็ไม่มีจุดมุ่งหมายแปรรูป
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.60 ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้สัมภาษณ์กรณีความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ (ร่างกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจ) ที่ถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นกฎหมายแปรรูปรัฐวิสาหกิจซ่อนเงื่อนหรือไม่
ดร. เอกนิติ กล่าวถึงกฎหมายฉบับนี้ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้ เราต้องการเอาเรื่องธรรมาภิบาลมาใช้เพื่อพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจจริงๆ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีสิทธิเหนือกว่า พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสากิจฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปรรูป เราไม่ได้ไปยกเลิกกฎหมายฉบับนั้น
ส่วนในเรื่องความเป็นห่วงอำนาจของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ (คนร.)ในกฎหมายฉบับใหม่นี้จะแปรรูปซ่อนเงื่อนหรือไม่นั้น ดร. เอกนิติ กล่าวย้ำว่า ทางเราได้รับฟังความคิดเห็นและข้อกังวลจึงได้กำหนดในร่างฉบับนี้ถึงการลดสัดส่วนของรัฐวิสาหกิจ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยกเลิกมติ ครม. เดิมทีกำหนดสัดส่วนรัฐวิสาหกิจไว้ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีถามว่า การลดสัดส่วนรัฐวิสาหกิจทำได้อย่างไร กระทรวงเจ้าสังกัดก็เสนอเข้า ครม. เพื่อขอลดได้ทันที แต่กฎหมายหลังจากรับฟังความเห็นได้เพิ่มในมาตรา 89 ว่า กฎหมายฉบับนี้ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นการแปรรูปซ่อนเงื่อน จุดมุ่งหมายในส่วนนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอย่างนั้นถ้าจะลดสัดส่วนตามปัจจุบัน มติ ครม. ลดได้ทันที ถ้าตามกฎหมายใหม่ทางคนร.สามารถจะเสนอความเห็นในส่วนนี้ได้
สำหรับในประเด็นที่สามที่มีข้อกังวลจากหลายฝ่ายเรื่องการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ ผอ.สคร. กล่าวอธิบายว่า ตัวบรรษัทรัฐวิสาหกิจ คือบรรษัทในรูปรัฐวิสาหกิจ ตัวบรรษัทนี้ไม่ได้มีอำนาจใดๆ เลย นอกจากอำนาจผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจไปกำหนดกรอบกติกา และเราต้องการในรูปบรรษัท เพื่อความคล่องตัว ให้มีประสิทธิภาพ ให้บริการสาธารณะดีขึ้น ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นของสนช.ที่กำลังพิจารณาอยู่
“ในภาพใหญ่ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ความเห็นต่างมี 3 ประเด็นข้างต้นนี้เท่านั้น ในส่วนของกลไกภาพใหญ่ๆ ทั้งหมดต้องการแบบเดียวกัน คือให้รัฐวิสาหกิจเข้มแข็งขึ้น กฎหมายปัจจุบันไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง ให้อำนาจผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการขึ้นมา กฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้มีการกลั่นกรอง มีการกำหนดคุณสมบัติ และนอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้เน้นมากๆ คือการเปิดเผย เราเชื่อว่า หลักของธรรมาภิบาลที่ดีอย่างหนึ่งคือการเปิดเผย ถ้ากรรมการที่เลือกมายังเลือกคนขี้โกงเข้ามา เชื่อว่า กลไกการเปิดเผยตรงนี้จะช่วยตรวจสอบได้ง่ายมากขึ้น การจะเขียนห้ามทุกอย่างคงไม่ได้ จึงได้ใช้หลักการเปิดเผยตรงนี้เข้ามา” ดร.เอกนิติ กล่าว
ประเด็นที่พนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นห่วงว่า หากพ.ร.บ.นี้ออกมา จะทำให้ความเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจภายใต้ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์หมดไป ดร.เอกนิติ กล่าวยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า จะยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจไว้ รัฐวิสาหกิจที่จะโอนไปอยู่ภายใต้บรรษัทฯ พนักงงานยังคงอยู่ภายใต้พ.ร.บ.เดิมของแรงงาน
“ส่วนข้อกังวลว่าตราบเท่าที่เป็นรัฐวิสาหกิจ แบบนี้เป็นการซ่อนเงื่อนหรือไม่ ต้องย้ำว่า ในกฎหมายพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เขียนไว้ว่าแรงงานจะอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ได้ ต้องเป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น ถ้ากิจการนั้นๆ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ จะอยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ไม่ได้” ดร.เอกนิติ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ปัจจุบัน กฎหมายฉบับนี้อยู่ในการพิจารณาของสนช. ซึ่งอยู่ในขั้นของกรรมาธิการวิสามัญ กำลังพิจารณากฎหมายรายมาตรา โดยทางสนช.ได้รับหลักการไปในวาระแรกเเล้ว และยังมีการรับฟังความคิดเห็นทั้งผู้ร่างและหน่วยงานต่างๆ อยู่