ขมวดปมวุ่นๆ รถเมล์ NGV ก่อน ‘เบสท์ริน’ ถูกขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ เป็นผู้ทิ้งงาน
ขมวดปม วุ่นๆ จัดซื้อรถเมล์ NGV ขสมก. เปิดมา 6 ครั้งยังแห้ว จัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ขณะที่ บ.เบสท์ริน กลายเป็นเอกชนผู้ทิ้งงานตามกม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ "อิศรา" พาย้อนดูเส้นทางก่อนถึงวันนี้
หากพูดถึงการจัดซื้อหนึ่งที่ยืดยื้อมานาน อย่างการจัดซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศชั้นเดียวใช้เชิงเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV ) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ถึงปัจจุบันเดินทางมาถึงการเปิดประมูลครั้งที่ 6 แล้วก็ยังไม่สามารถหากเอกชนเข้ามาจัดซื้อได้
ขณะที่บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด อดีตเอกชนเจ้าสำคัญที่เคยเป็นผู้ชนะประมูลการจัดซื้อในครั้งที่ 3 ก่อนจะกลายเป็นบริษัทในรายชื่อผู้ทิ้งงานร่วมกับบริษัทคู่ค้าอย่าง บริษัท อาร์ แอนด์ เอ คอมเมอร์เชียล วิฮีเคิลส์ เอสดีเอ็น บีเอชดี จำกัด ,บริษัท รถยนต์เซินหลง (เซี่ยงไฮ้) จำกัด และบริษัท เทคโนโลยีพลังงานใหม่เป่ยฟังกวางโจว จำกัด
คำสั่งครั้งนี้เป็นการพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (2) และมาตรา109 วรรคสาม (อ่านประกอบ ประกาศแล้ว "เบสท์ริน" ติดอยู่ในรายชื่อผู้ทิ้งงาน ตามกม.จัดซื้อฉบับใหม่ )
การพิจารณาเอกชนรายใดเป็นผู้ทิ้งงานนั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 109 (2) และมาตรา 109 วรรคสาม ที่ระบุว่าในกรณีที่ปรากฏว่า ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการ ดังต่อไปนี้ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้ถือว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญานั้นกระทําการอันมีลักษณะเป็น การทิ้งงาน
โดยใน (2) ระบุว่า คู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงที่หน่วยงานของรัฐอนุญาตให้รับช่วงงานได้ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือนั้น และ
(3) ระบุว่า เมื่อปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานของรัฐกระทําการอันมีลักษณะเป็น การขัดขวางการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือกระทําการโดยไม่สุจริต
เหตุใดที่ เบสท์ริน ถึงตกเป็นบริษัทผู้ทิ้งงาน อันมีผลให้เอกชนเจ้านี้จะไม่สามารถเข้าประมูลงานของรัฐได้อีก ข้อหาครั้งนี้มาจากประเด็นทิ้งงานซื้อและจ้างซ่อมแซมบำรงรักษารถยนต์โดยสาร ดังนี้
1. งานซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศชั้นเดียวใช้เชิงเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV ) ขนาด 12 เมตรยี่ห้อ SUNLONG รุ่น ฆศษ6129 CNG ผลิตที่ประเทศจีน ประกอบที่โรงงาน R&A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD ประเทศมาเลเซีย จำนวน 489 คัน ราคาซื้อขายคันละ 3,549,182 บาท รวมเป็นเงิน 1,735,549,998 บาท
2. งานซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสารตามสัญญา มีกำหนด10ปี นับตั้งแต่วันเริ่มเดินรถโดยสารแต่ละคันเป็นต้นไป ในอัตราค่าจ้างต่อวันต่อคัน ดังนี้
ปีที่ 1 ถึงปีที่ 5 เป็นเงิน 925.91 บาท/คัน/วัน รวมเป็นเงิน 826,305,231.75 บาท
ปีที่ 6 ถึงปีที่ 10 เป็นเงิน 927.65 บาท/คัน/วัน รวมเป็นเงิน 827,855,589.75 บาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,389,710,819.50 บาท ตามสัญญาเลขที่ ร. 50/2559 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รวบรวมเส้นทางการเข้ามาของเอกชนรายนี้ จนกระทั่งวันนี้ที่ตกเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ทิ้งงาน ซึ่งต้องย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ขสมก.เปิดซองประมูล และได้ชื่อบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัดที่เสนอราคาต่ำสุด 3,389.71 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 632 ล้านบาท
ต่อมา บริษัท ช.ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องให้บอร์ดขสมก.ตรวจสอบบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป เพราะเห็นว่า ขาดคุณสมบัติเรื่องเกี่ยวกับบัญชีรายรับจ่าย ทำให้บอร์ดขสมก.ต้องกลับไปตรวจสอบคุณสมบัติผู้ประมูลได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ สองบริษัทนี้ถือว่าเป็นคู่ไม้เบื่อไม่เมามาโดยตลอด เพราะ สมัยการประมูลรอบก่อนหน้า เดือนมิถุนายน 2558 บริษัท ช.ทวีฯ เคยเป็นผู้ชนะประมูลจนเกือบจะได้ลงนามในสัญญาประมูลรถเมล์อยู่แล้ว แต่ถูกบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ทำหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าว เพราะพบพิรุธในสัญญาที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติได้ จนต้องยกเลิก และเปิดประมูลใหม่ และเป็น เบสท์ริน ที่ชนะไป (อ่านประกอบ รู้จัก 'เบสท์ริน' ผู้ชนะประมูลเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ที่บอร์ดขสมก.เบรกไว้ก่อน )
ทุกอย่างกำลังไปได้สวย แม้ระหว่างนั้นจะโดนตั้งคำถามว่า เบสท์ริน จะมีงบมากพอที่จะจัดการจัดซื้อรถเมล์ตามสัญญาได้หรือไม่ก็ตาม ทางบริษัทก็ออกมาให้ข่าวว่า สาเหตุที่บริษัท เบสท์รินฯ ชนะการประมูลรถประจำทางจาก ขสมก. โดยเสนอราคาที่ต่ำกว่าราคากลางได้มากถึงเกือบ 700 ล้านบาท เพราะเราใช้สนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกลุ่มผู้ค้า 10 ประเทศ (กลุ่ม AEC) โดยมีเอกสารสำคัญคือ FORM D ซึ่งออกโดยกรมการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งสินค้าใดที่ส่งไปผลิตในประเทศที่อยู่ในกลุ่ม โดยใช้วัตถุดิบของประเทศนั้นๆ เกิน 40% เมื่อส่งออกในกลุ่มประเทศนั้นๆ จะได้การยกเว้นภาษี ทำให้เราสามารถช่วยชาติประหยัดเงินส่วนนี้ไปได้มาก ซึ่งล็อตแรกจะส่งมอบ วันที่15 ธันวาคมนี้ ล็อตสุดท้ายจะส่งมอบวันที่ 29 ธันวาคม
ทางเบสท์ริน ซึ่งนำทัพโดย นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ออกมายืนยันว่าจะสามารถส่งรถครบตามจำนวนทันตามสัญญา เพื่อยกเป็นของขวัญให้คนกรุงเทพฯ โดยในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เมื่อรถล็อตแรกจำนวน 99 คัน ที่อ้างว่านำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เดินทางมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง
แต่แล้วเรื่องก็เกิดขึ้นอีกจนได้ เมื่อกรมศุลกากรสั่งอายัดรถทั้ง99 คันไว้ก่อน เนื่องจากพบพิรุษในใบแจ้งที่มาของสินค้า ร้อนถึงเบสท์รินต้องรีบออกมาชี้แจง ยืนยันว่าสั่งซื้อรถ ขสมก. ล๊อตนี้กับโรงงานประกอบรถยนต์ที่มาเลเซีย โดยเรื่องเอกสารประกอบการนำเข้าทางโรงงานผู้ผลิตนำมาส่งให้ ทางบริษัทเบสท์รินมั่นใจในรายละเอียดของเอกสารที่ยื่นแสดงต่อกรมศุลกากรเป็นของจริง เพราะเคยใช้เอกสารแบบเดียวกันนี้ยื่นต่อกรมศุลกากรมาก่อนแล้วรอบหนึ่ง พร้อมทั้งยินดีให้ยึดเงินประกันได้หากพบว่าทำผิดจริง แต่ขอให้กรมศุลกากรปล่อยให้นำรถออกจากท่าเรือก่อน
ขณะนั้นบริษัทต้องจ่ายค่าที่จอดรถให้การท่าเรือแหลมฉบังวันละ 300,000 บาท ระหว่างรอการสอบสวนเอกสารที่มา โดยในส่วนเงินค้ำประกันตอนนั้น บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ได้วางหลักประกันกับทางขสมก. 330 ล้านบาท
ต่อมาวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ทางด้านกรมศุลกากร ยืนยันว่า บริษัทซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ในฐานะผู้นำเข้ารถเมล์ NGV เข้ามาในประเทศไทย ต้องจ่ายให้กับกรมศุลกากร หลังถูกสอบสวนพบว่ารถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 100 คันแรก มีการสำแดงแหล่งกำเนิดเป็นเท็จอันเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรตามมาตรา 99 และ 27 แห่งพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดรวม 370 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าภาษีอากรนำเข้าประมาณ 118 ล้านบาท ค่าปรับจากการสำแดงเอกสารเป็นเท็จอีก 236 ล้านบาทและค่าปรับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 16 ล้านบาท (อ่านประกอบ อ่วม!กรมศุลฯ ชี้ซุปเปอร์ซาร่า นำเข้าเมล์เอ็นจีวี ต้องจ่ายภาษีเพิ่ม370 ลบ.)
ขณะที่บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ในฐานะผู้นำเข้ารถเมล์ NGV ที่ต่อมาทางสำนักข่าวอิศราค้นพบว่า เป็นบริษัทกลุ่มเดียวกับ บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด (อ่านประกอบ ที่แท้!'เบสท์ริน-ซุปเปอร์ซาร่า'กลุ่มเดียวกัน-ไขปริศนายอมจ่ายภาษีรถเมล์NGV 370 ล.?)
ต่อมาสินค้าล็อตที่สองและสามก็เดินทางมาถึงท่าเรือ โดยแบ่ง 2 รอบ รอบแรกนำเข้ามา 145 คัน อีกรอบนำเข้ามาจำนวน 146 คัน รวมของเดิมที่จอดอยู่เเล้ว 100 คัน รวมเป็น 391 คัน ซึ่งนายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง รถทั้งหมด 291 คันที่เข้ามาใหม่ทางเบสท์รินยังไม่ได้ยื่นใบขนสินค้า ซึ่งทำให้ยังไม่สามารถนำรถเมล์ทั้ง 291 คันออกจากท่าเรือได้
เวลาล่วงมาถึง 30 ธันวาคม 2559 นายสุรชัย เอี่ยมวชิระสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ในขณะนั้น กล่าวว่า ทางเบสท์รินไม่สามารถส่งมอบรถได้ทันตามที่กำหนดไว้คือวันที่ 29 ธันวาคม ทางขสมก.ได้ส่งหนังสือเตือนไปในวันที่ 30 ธันวาคม เพื่อเร่งรัดให้ส่งมอบรถ และต้องเสียค่าปรับเงินวันละ 17,000 บาทต่อคันต่อวัน คิดเป็นวันละ 8.3 ล้านบาท
ซึ่งทางบริษัทเบสท์รินได้แจ้งเหตุผลที่ไม่สามารถนำรถออกมาได้เพราะติดปัญหาเรื่องเงินที่จะไปวางมัดจำกับกรมศุลกากรไม่พอ
(ภาพประกอบจาก ไทยพับบลิกก้า)
ระหว่างนั้นเบสท์รินก็วุ่นไปกับการต้องเร่งนำรถที่จอดค้างที่ท่าเรือออก เพื่อจัดการส่งมอบรถ แม้ว่าจะเลยกำหนดส่งมอบเดิมมาเเล้ว ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาลด้วย
แต่แล้ว ความวุ่นวายทั้งหมดก็ชะงัก เมื่อ ขสมก.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ ขสมก.ดำเนินคดีการตรวจรับรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) ที่ออกจากอารักขาของศุลกากรแล้วไว้ชั่วคราว ซึ่งศาลก็มีคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2560
โดยประเด็นสำคัญตอนนั้นคือ การที่เบสท์รินขอส่งมอบรถยนต์โดยสารให้แก่ ขสมก.จำนวน 390 คัน ซึ่งไม่ตรงตามสัญญาซื้อขายที่กำหนดให้ส่งมอบรถยนต์โดยสารให้แก่ ขสมก.489 คัน ทำให้ขสมก.ไม่อาจตรวจรับรถยนต์โดยสารได้เพราะข้อบกพร่องดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากขสมก.ตรวจรับรถยนต์โดยสารตามคำร้องของเบสท์ริน ขสมก.อาจถูกกล่าวหาได้ว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่คู่สัญญาเป็นเหตุให้ ขสมก.ได้รับความเสียหาย (อ่านประกอบ เปิดคำพิพากษา เหตุขสมก.ไม่เซ็นรับรถเมล์เอ็นจีวี )
ต่อมา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ในขณะนั้น ได้แถลงข่าวยกเลิกสัญญาโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีจำนวน 489 คัน กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ภายหลังจากที่คณะกรรมการตรวจรับรถ ขสมก. พิจารณาตรวจรับรถของคู่สัญญาแล้วได้ข้อสรุปดังนี้
1. คู่สัญญา คือ บริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถพิสูจน์ถิ่นกำเนิดสินค้าได้
2. บริษัทเบสท์รินฯ ไม่สามารถส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีทั้งหมด 489 คัน ได้ครบภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559
และ 3. ขสมก. ได้ดำเนินกการคิดค่าปรับส่งมอบรถล่าช้า จนเกินวงเงินค้ำประกัน 10% ของมูลค่าโครงการ (330 ล้านบาท)
เรียกได้ว่า ปิดฉากการจัดซื้อรถเมล์ NGV ในรอบที่ 3 ของ ขสมก.
ต่อจากนั้น ขสมก.ได้เปิดประมูลรอบใหม่ถือเป็น รอบที่ 4 ซึ่งทาง ขสมก.เลื่อนวันยื่นเอกสารประกวดราคาออกไปอย่างไม่มีกำหนด และต่อมาได้ประกาศยกเลิกการประมูล เพราะระยะเวลาเปิดประมูลขัดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549
กระทั่ง ขสมก.ได้เปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ถือเป็นรอบที่ 5 ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดราคากลางรวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 3,389 ล้านบาทเป็นราคาที่ต่ำกว่าตลาด โดย ขสมก.อ้างว่า เนื่องจากติดประเด็นการใช้ราคากลางที่กำหนดต้องใช้ราคาการซื้อขายครั้งล่าสุดเป็นเกณฑ์ราคากลาง หรือ ราคาซื้อขายที่สำเร็จ ซึ่งหลักเกณฑ์ราคาการซื้อขายครั้งล่าสุด เมื่อปี 2559 บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป เป็นผู้ชนะประมูล ในราคา 3,387 ล้านบาท เท่านั้น ต่ำกว่าราคากลาง 634 ล้านบาท ขณะที่เอกชนบางราย เห็นว่า ราคากลางที่บริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลนั้น เป็นราคาต่ำเกินจริง และยังเป็นตัวเลขราคากลางของโครงการที่ล้มกระดานทีโออาร์
(นายคณิสสร์ศรีวชิระประภาประธานบริษัทเบสท์รินกรุ๊ปจำกัด)
ขณะนั้นเบสท์รินก็ตกเป็นข่าว เมื่อถูกบอกเลิกสัญญาและถูกจัดอยู่ในบัญชีดำ โดยก่อนหน้านั้น ขสมก.เคยมีหนังสือแจ้งไปยังบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ทิ้งงาน แต่เมื่อถูกทักท้วงว่าขั้นตอนไม่ถูกต้อง จึงได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และเริ่มขั้นตอนใหม่ด้วยการแจ้งให้บริษัทดังกล่าวทราบอยู่ในข่ายขึ้นบัญชีดำ
สุดท้าย การประมูลครั้งที่ 5 ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 24 ส.ค. ก็ไม่มีเอกชนรายไหนยื่นข้อเสนอเข้ามา ทำให้ต้องยกเลิกการประมูลในที่สุด กระทั่งนำมาสู่การประมูลครั้งที่ 6 ที่กำหนดเริ่ม 4 ต.ค.60 สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 6 พ.ย.60 และปรากฏว่า ไม่มีเอกชนรายใดยื่นข้อเสนออีกเช่นเคย
นอกจากนี้ ทางเบสท์รินผู้เคยชนะ ก็ถูกคำสั่งเป็นหนึ่งในเอกชนผู้ทิ้งงาน ตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรกที่ถูกคำสั่งตามกฎหมายฉบับใหม่นี้
ในส่วนการจัดซื้อรถเมล์ NGV ก็ดูท่าจะยังหาทางออกไม่ได้ โดยรายงานข่าวล่าสุด ระบุว่า ขสมก.ยังมีแนวคิดจะจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีครั้งต่อไปด้วยวิธีพิเศษ โดยเชิญผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้ง 8 รายมาเจรจา เนื่องจากเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพราะกระทบต่อแผนปฏิรูปองค์กรและต้องการนำรถออกให้บริการประชาชนโดยเร็ว ซึ่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เปิดช่องให้สามารถทำได้ แต่ยังต้องศึกษาขั้นตอนและระยะเวลาการดำเนินงานก่อน...
การจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์เอ็นจีวี วงเงินระดับพันล้านบาท ยังคงเป็นมหากาพย์ที่ประชาชนผู้เสียภาษียังคงเฝ้าติดตามกันต่อไป ...