รัฐธรรมนูญ(พ.ศ.2560)-ร่าง กม. ป.ป.ช. ฉบับเอื้อโกง?
ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(พ.ร.บ. ป.ป.ช.) พ.ศ ...ฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเป็นผู้ยกร่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
หลังจากที่รายชื่อคณะกรรมาธิการฯถูกเผยแพร่ออกไปก็เกิดวิวาทะถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดงถึงความเหมาะสมของกรรมาธิการที่เป็น สนช.บางคนซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติและอยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
แต่ประเด็นสำคัญยังมิได้มีการถกเถียงกันคือ บทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฯบางมาตราที่มีเนื้อหาปิดกั้นการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)และสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)เพราะประชาชนและสื่อมวลชนไม่สามารถตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลเหล่านี้ได้เหมือนกับ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันที่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนที่สามารถตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
เนื่องจากบทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.กำหนดแต่เพียงให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถเปิดผย “ข้อมูลโดยสรุป” เกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของทรัพย์สินของ นายกรัฐมนตรี,รัฐมนตรี, ส.ส., ส.ว.,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ...ข้อมูลโดยสรุปดังกล่าวต้องไม่ระบุถึงรายละเอียดทางทะเบียนของทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่จำเป็นหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าของข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด(มาตรา 104)
ขณะที่บทบัญญัติใน พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันระบุอย่างชัดเจนว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว. ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็ว...(มาตรา 35 วรรคสอง) โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่เพียงตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารในเบื้องต้นเท่านั้น
เห็นได้ว่า บทบัญญัติในกฎหมายทั้งสองฉบับแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บทบัญญัติในกฎหมายฉบับปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถนำบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส.และ ส.ว.ที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทันที ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถดูและตรวจสอบได้อย่างเต็มที่
ขณะที่บทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำได้เพียงเปิดเผย “ข้อมูลโดยสรุป” ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น ซึ่ง “ข้อมูลโดยสรุป” ดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสามารถเปิดเผยรายการบัญชีทรัพย์สินมากน้อยแค่ไหน ยังไม่อาจทราบได้ แต่ประชาชนและสื่อมวลชนดูและตรวจสอบได้เต็มที่เหมือนในปัจจุบัน
นับแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ และต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดเพิ่มเติมให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน ปรากฏว่า สื่อมวลชน และภาคประชาชนสามารถตรวจสอบและนำมาเปิดโปงจนนำไปสู่การไต่สวนของ ป.ป.ช. จนเกิดคดีซุกหุ้นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีซุกหนี้ 45 ล้านบาทของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอีกหลายๆกรณี ทำให้นักการเมืองหลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง
การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญของภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การที่บทบัญญัติในร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ไม่ยอมให้มีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะเหมือนเช่น พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันเท่ากับเป็นการทำลายเครื่องมือและกลไกสำคัญของภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจอย่างเลือดเย็น แต่บทบัญญัติใน มาตรา 104 ของร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.กลับพยายามบิดเบือนการโดยอ้างว่า “เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เปิดเผยข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับจำนวนทรัพย์สิน...” ซึ่งเป็นการปรารภที่ขัดกับข้อเท็จจริงชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า
ได้พยายามสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ถึงเหตุผลที่ไม่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางกลุ่มและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะเหมือนในปัจจุบัน ได้รับคำตอบว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ จึงเกรงว่า ถ้าเขียนเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะในมาตรา 234 บัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(3) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
แตกต่างจาก รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 261 ที่บัญญัติว่า บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดเผยให้สาธารณชนทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นบัญชีดังกล่าว บัญชีของผู้ดำรงตำแหน่งอื่นจะเปิดเผยได้ต่อเมื่อการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาพิพากษาคดีหรือการวินิจฉัยชี้ขาด และได้รับการร้องขอจากศาลหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
เห็นได้ว่า ใน รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพียง “..เปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน...” เท่านั้นซึ่ง ผลการตรวจสอบเปิดเผยได้แค่ไหนอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 บังคับให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางกลุ่มต่อสาธารณะโดยเร็ว
คำถามคือ ทำไม กรธ.ชุดนายมีชัย ฤชุพันธุ์ จึงเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะปิดกั้นและทำลายการตรวจสอบของภาคประชาชน ?
ถ้ามองในแง่ดี อาจเป็นเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เนื่องจากผู้ที่เป็น กรธ.ไม่มีผู้มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
ถ้ามองในแง่ร้าย อาจเป็นความจงใจของใครบางคนใน กรธ.ที่ต้องการเอาใจและเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้มีอำนาจ
ถ้า กรธ.และ สนช.มีความบริสุทธิ์ใจและเห็นว่า การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญของภาคประชาชนในการตรวจสอบผู้มีอำนาจจริง(ดูมาตรา 104) ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้
หนึ่ง ให้ สนช.แก้ไขบทบัญญัติใน ร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ให้เหมือนกับ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับปัจจุบัน แล้ววัดใจว่า ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.พิจารณาว่า ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่(มาตรา 267 วรรคห้า) ถ้าเห็นว่า ขัดรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สอง ถ้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อแก้ไขปัญหาแต่ต้น
แต่ถ้าทุกฝ่ายยังนิ่งดูดาย เห็นว่า การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะมิได้เป็นปัญหา ไม่ได้เป็นการทำลายเครื่องมือและกลไกการตรวจสอบของภาคประชาชน ปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ระวังผู้ที่เกี่ยวข้องจะถูกประณามว่า สนับสนุน รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเอื้อโกง?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากกรุงเทพธุรกิจ