“ดร.สุเมธ” ชี้ท้องถิ่นเริ่ม ศก.พอเพียงแล้ว แต่ระดับชาติยังไม่กระเตื้อง
“สุเมธ” วิพากษ์แผนพัฒน์ฯฉบับ 1-7 “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” แนะชาติเดินตาม ศก.พอเพียงเหมือนท้องถิ่น “ดร.จิรายุ” ยกรูปธรรมตามแนวพระราชดำริฯ โครงการปิดทองหลังพระ
วันที่ 28 มี.ค. 55 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (มพพ.) ร่วมกับภาคีภาครัฐและเอกชน จัดประชุม “อะไร คือเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มพพ. กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-7 ให้ความสำคัญตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ที่มีเป้าหมายสูงสุดเพียงความร่ำรวยตามชาติตะวันตก จนลืมการพัฒนาชีวิตพื้นฐานของประชาชนในท้องถิ่น สุดท้ายแผนพัฒนาฯ เหล่านี้ตอบโจทย์สามคำ คือ “เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” เพราะต้องแลกด้วยทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติที่ถูกทำลายลง เพื่อสนองเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสังคมไทยรู้จักเดินทางสายกลางอย่างสมดุลและยั่งยืนบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง
ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า องค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าอีก 30 ปี ประชากรโลกจะเพิ่มสูงเป็น 9 พันล้านคน จากปัจจุบัน 6 พันล้านคน อาจเกิดสงครามแย่งน้ำแย่งอาหาร ฉะนั้นในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตอาหารสำคัญควรหันกลับมาทบทวนบทบาทตนเอง หันมาใช้วิถีชีวิตแบบพออยู่พอกินสมฐานะตามแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปูแนวทางแห่งปัญหาให้เห็น ไม่ใช่ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ระบบทุนนิยม เพราะนั่นคือกิเลสตัณหา ซึ่งขณะนี้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก มีการจัดพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศเผยแพร่กว่า 160 ประเทศ ฉะนั้นคนไทยควรให้ความสำคัญ ใช้สามคำประคับประคองตน คือ “มั่นคง สมดุล ยั่งยืน” ขณะนี้ระดับท้องถิ่นทำแล้ว แต่ระดับชาติยังไม่ทำ จึงอยากเห็นผู้นำระดับประเทศของไทยเดินขึ้นพูดบนเวทีระดับโลกว่าเราทำตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง
ด้านศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวว่า การจัดการศึกษาของไทยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอาศัยปัจจัย 3 ด้าน 1.พอประมาณต่ออัตภาพ 2.มีเหตุผลอธิบายได้ตามกฎเกณฑ์ กฎหมาย กฎศีลธรรม 3.ต้องเกิดการวางแผนการเงิน โดยครูต้องปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก ผ่านเงื่อนไขการนำความรู้ไปใช้ และสร้างพื้นฐานจิตใจมีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ส่วนเงื่อนไขการดำเนินชีวิตต้องมีสติ เพียรและอดทน ผู้บริหารการศึกษาระดับสูงต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาโดยสอดแทรกจริยธรรมเศรษฐกิจพอเพียงเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เด็กหลุดพ้นจากสังคมทุนนิยม
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวถึงการบริหารธุรกิจยุคใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนจากประสบการณ์ของบริษัทว่า ว่าต้องรู้จักการพัฒนาธุรกิจให้มีความเชี่ยวชาญ ศึกษาและวิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลตอบแทนอย่างรอบคอบก่อนการลงทุน และรักษาวินัยทางการเงิน จัดทำแผนดำเนินการธุรกิจ 3-5 ปี แผนดำเนินการธุรกิจประจำปี และในอนาคต เน้นการสร้างมูลค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ขยายฐานการลงทุนในภูมิภาค สร้างเครือข่ายลูกค้าและความแข็งแกร่งของแบรนด์ ที่สำคัญต้องยึดมั่นในจริยธรรมการดำเนินธุรกิจ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง โดยให้ความช่วยเหลือทุกรัฐบาลและทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ของประเทศ
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ต้องเจาะกลุ่มพัฒนา 8 ส่วน ได้แก่ ชุมชนและประชาสังคม, การเกษตร, ธุรกิจ, สื่อสารมวลชน ดารา นักร้อง นักเขียน, สถาบันการเมือง, องค์กรภาครัฐ, สถาบันการศึกษา และผู้นำทางความคิด แต่ขณะนี้ประเทศไทยให้ความสนใจ 3 ภาคส่วน
1.ชุมชนและประชาสังคม หลายฝ่ายพยายามหาแนวทางพัฒนาชนบท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนท้องถิ่นกับเมืองหลวง ผ่านต้นแบบการพัฒนาโครงการปิดทองหลังพระอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จ.น่าน จนชุมชนเกิดความเข้มแข็งและขยายเครือข่ายกว่า 18 หมู่บ้าน ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ 2.ธุรกิจ ภาคธุรกิจไทยมีการวางแผนการจัดการความเสี่ยงครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ดีกว่าปี 2540 ที่เกิดฟองสบู่แตกจนนักลงทุนถอนตัวออกจากประเทศ และ 3.สถาบันการศึกษา ขณะนี้ภาคีต่างๆได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการตั้งโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ 9,999 แห่งทั่วประเทศในสิ้นปี 2555 .