ศาลฎีกาแพร่คำตัดสินองค์คณะฯ คดี‘ยิ่งลักษณ์’จำนำข้าว ย้ำชัดทุจริตต่อหน้าที่
เผยแพร่ทางการ คำตัดสินศาลฎีกาฯคดี ‘ยิ่งลักษณ์’ละเว้นระงับความเสียหายโครงการจำนำข้าว ยาว 95 หน้ากระดาษ พร้อมคำวินิจฉัยส่วนตัวองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ย้ำชัดทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้ ‘บุญทรง’กับพวกแสวงหาผลประโยชน์
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลย เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กรณี ละเว้นระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยมีคำพิพากษาให้จำคุก 5 ปี เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2560
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า สาระสำคัญในตอนท้ายของคำพิพากษาระบุว่า สำหรับความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการทุจริตในขั้นตอนระบายข้าว โดยการแอบอ้างทำสัญญาขายแบบรัฐต่อรัฐดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยรับรู้การแจ้งเตือนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง การตั้งกระทู้ถามสด กระทู้ทั่วไป การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายข้าราชการการเมือง และข่าวสารจากสื่อมวลชน ยิ่งกว่านี้ก่อนเริ่มโครงการรับจำนำข้าว ทั้งสำนักงานการตรวจการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งเตือนและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการนำเอานโยบายรับจำนำข้าวไปดำเนินการปฏิบัตินั้นจะมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน และการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ ให้จำเลยทราบเป็นระยะๆ แต่จำเลยกลับไม่ได้ติดตามกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นจากจำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้เข้าร่วมประชุม กขช. เพียงวันที่ 9 ก.ย. 2554 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น การประชุม กขช. อีก 22 ครั้ง จำเลยหาได้เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามการกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพตามที่จำเลยได้ให้นโยบายไว้แต่อย่างใดไม่ โดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าวนั้น จำเลยในฐานะประธาน กขช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้พันตรี วีระวุฒิหรือหมอโด่ง ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดำรงเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมา ซึ่งภายหลังถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.25/2558 และหลบหนีในระหว่างพิจารณาคดีดังกล่าว เป็นอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว อนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติด้านการตลาด อนุกรรมการกำกับดูแลการรับจำนำข้าว และอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว ซึ่งคำสั่งแต่งตั้งให้พันตรี วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง เป็นอนุกรรมการชุดต่างๆ ล้วนมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการระบายข้าวทั้งสิ้น ทั้งหลังจากวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ที่นายวรงค์ (เดชกิจวิกรม) อภิปรายเรื่องการทุจริตการระบายข้าว นายสุพจน์เบิกความยืนยันข้อเจจริงในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าข้าวตามสัญญา 4 ฉบับนั้น ในขณะนั้นยังคงมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาขายข้าว 4 สัญญาแรกต่อไปอีกถึงปลายเดือน ก.พ. 2556 และมีการชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 ต.ค. 2554 ถึงวันที่ 28 ม.ค. 2556 รับมอบข้าว 1,820,815.66 ตัน ชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 22 กพ. 2556 รับมอบข้าว 1,402,537.86 ตัน ชำระเงินเพื่อรับมอบข้าวในสัญญาที่ 3 ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. 2555 ถึง วันที่ 22 ม.ค. 2556 รับมอบข้าว 1,654,453.13 ตัน
หากนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่นายวรงค์อภิปรายเป็นต้นมา ยังมีระยะเวลาเพียงพอแก่การตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงตามข้ออภิปรายของนายวรงค์ และหากจำเลยดำเนินการตรวจสอบการทุจริตการระบายข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับแรกอย่างจริงจัง ดังเช่นจำเลยได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก เพื่อวางมาตรการป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นอีก ซึ่งในเรื่องโครงการข้าวถุงราคาถูก จะเห็นได้ว่าจำเลยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง และในวันที่ 10 ก.ค. 2556 คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวดำเนินการประชุมแล้วมีมติให้ระงับโครงการข้าวถุงราคาถูก ดังนั้นในส่วนการระบายข้าวที่แอบอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐก็เช่นเดียวกัน จำเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อนก็ย่อมกระทำได้ตามอำนาจหน้าที่
แต่จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นหน้ารัฐบาลและประธาน กขช. ซึ่งมีอำนานหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอำนาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวงทบวง กรมในการกำกับ การระงับยับยั้ง หรือการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่จำเลยกลับมีพฤติกรรมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายส่อแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายบุญทรงกับพวกแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว โดยการแอบอ้างนำบริษัท GSSG และบริษัท HAINAN GRAIN เข้ามาทำสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ตามประกาศของกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริต ได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับ อันเป็นการแสวงหาระโยชน์ที่มิควรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ และเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรงถือได้ว่าเป็นการกระทุจริตต่อหน้าที่ในความหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติให้ความหมายคำว่า “ทุจริตต่อหน้าที่”คือ การปฏบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือการปฏบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติกรรมที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่า มีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งนี้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้ โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ในตำแหน่งโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลัง ประเทศชาติ หรือผู้ใดผู้หนึ่ง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1
พิพากษาว่าจำเลย มีความผิด (เดิม) ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 อันเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักสุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ให้จำคุก 5 ปี http://www.supremecourt.or.th/webportal/maincode/content.php?content=component/library/libview.php&id=722&base=24
อ่านประกอบ:
ไม่มีเจตนาพิเศษปล่อยทุจริต!เหตุผลเสียงข้างน้อยหนึ่งเดียวยกฟ้อง‘ยิ่งลักษณ์’คดีจำนำข้าว
คำพิพากษาฉบับเต็ม!ไฉนศาลไร้อำนาจชี้จำนำข้าวถูกหรือผิด-ป.ป.ช. สอบ‘ปู’ลำพังได้
เจาะคำพิพากษา‘ยิ่งลักษณ์’จำนำข้าวทำชาติเจ๊งเท่าไหร่-ใช้งบเกิน5แสนล. จริงหรือ?
จำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ศาลฎีกาฯ พิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีจำนำข้าว