ดอดรวบจัดซื้อจ้างเอง! สตง.ล็อคเป้า'สมุทรปราการ'ถลุงงบป้องยาเสพติดท้องถิ่น
สตง. แพร่รายงานผลสอบใช้จ่ายงบอุดหนุนป้องกันยาเสพติดระดับท้องถิ่นพบปัญหาเพียบ กิจกรรมไม่ตรงตามอำนาจหน้าที่ ขาดวางแผนรายละเอียด โครงการไม่ชัด ล็อคเป้า'สมุทรปราการ' ตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ 104 ล. สนง.จว.รวบจัดซื้อจัดจ้างโครงการเอง หวั่นถลุงปชช.เสียโอกาสพัฒนาความจำเป็นด้านอื่น
การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของ ศูนย์อำนวยการปูองกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) และ ศูนย์ปฏิบัติการปูองกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ.) ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการนำเงินที่ได้รับการอุดหนุนไปใช้จ่ายในโครงการหรือกิจกรรม ที่ไม่ตรงตามอำนาจหน้าที่ รายละเอียดโครงการไม่ชัดเจน ส่งผลกระทบทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียโอกาสที่จะนำเงินไปใช้ในภารกิจด้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามอำนาจหน้าที่ด้วยตนเอง หรือเสียโอกาสในการนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในเรื่องที่มีความจำเป็นด้านอื่น โดยระบุตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น ในศอ.ปส.จ.สมุทรปราการ ที่ได้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว ขอรับการสนับสนุนงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ในปีงบประมาณ 2559 เป็นจำนวนเงินกว่า 104.39ล้านบาท ขณะที่สำนักงานจังหวัดสมุทรปราการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับภารกิจงาน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการของ ศอ.ปส.จ. และ ศป.ปส.อ. ที่จัดทำขึ้นเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับใช้ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระบุว่า จากการตรวจสอบการขอรับเงินอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อไปดำเนินการโครงการที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ พบว่า ศอ.ปส.จ.สมุทรปราการ ได้จัดทำโครงการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว ขอรับการสนับสนุนงบประมาณองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ในปีงบประมาณ 2559 จำนวนเงิน 104.39ล้านบาท ซึ่งตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และระเบียบที่เกี่ยวข้อง กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคุมประพฤติที่จะต้องดำเนินการจัดทำทะเบียนและรวบรวมข้อมูลการบันทึกประวัติของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แล้วจัดส่งข้อมูลดังกล่าวพร้อมตัวผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไปยังศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด หรือสถานที่เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนด สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการปูองกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 3559 ที่กำหนดให้กรมคุมประพฤติกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามแผนงานบำบัดรักษาระบบบังคับบำบัด มิได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ ศอ.ปส.จ.หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด
ขณะที่ในการดำเนินโครงการสำนักงานจังหวัดสมุทรปราการในฐานะเลขานุการ ศอ.ปส.จ.สมุทรปราการ เป็นผู้เสนอโครงการ และเมื่อได้รับเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการแล้ว สำนักงานจังหวัดสมุทรปราการได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบำบัดผู้ติดยาเสพติดแบบควบคุมตัว จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องในเรื่องวิธีการปฏิบัติเกี่ยวกับเงินที่ส่วนราชการได้รับอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดไว้ว่าเงินที่ส่วนราชการได้รับอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นเงินที่ส่วนราชการได้รับจากการจัดทำแผนงาน/โครงการ ภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่และภารกิจของส่วนราชการนั้นการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อุดหนุนงบประมาณให้กับ ศอ.ปส.จ. และ ศป.ปส.อ.ไม่ตรงตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลกระทบทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสียโอกาสที่จะนำเงินไปใช้ในภารกิจด้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามอำนาจหน้าที่ด้วยตนเอง หรือเสียโอกาสในการนำงบประมาณไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองในเรื่องที่มีความจำเป็นด้านอื่น ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ไม่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
สตง. ระบุด้วยว่า ยังตรวจสอบพบปัญหาการนำเงินที่ได้รับอุดหนุนไปใช้จ่ายในโครงการ/กิจกรรม ที่ไม่ตรงตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ ศอ.ปส.จ. และ ศป.ปส.อ. ในพื้นที่อื่นๆ อีกหลายโครงการ ลักษณะเป็นโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยตรง แต่เป็นโครงการการพัฒนาบุคลากรด้านยาเสพติดของหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานที่ขอรับการอุดหนุน ซึ่งเห็นว่าเป็นโครงการที่มิได้เป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเข้าไปดำเนินการหรือมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามภารกิจนั้นๆ แต่อย่างใด แต่เป็นภารกิจของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องมีการอบรมให้ความรู้กับบุคลากรของตนเอง เพื่อดำเนินการภารกิจด้านยาเสพติดตามที่ได้รับมอบหมายในแผนปฏิบัติการปูองกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2559 ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวกับการอบรมบุคลากรนั้น ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่เป็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนในท้องถิ่นโดยตรง เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าการจัดอบรมบุคลากรของแต่ละหน่วยงาน โดยใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ถือเป็นการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบปัญหารายละเอียดการจัดทำโครงการไม่ชัดเจน เช่น มีการจัดทำข้อเสนอโครงการโดยระบุเพียงชื่อโครงการ และจำนวนเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ แต่ไม่มีการระบุหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการในแต่ละโครงการแต่อย่างใด หรือบางโครงการเป็นโครงการที่หน่วยงานรับผิดชอบต้องดำเนินการตามแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานของตนเองอยู่แล้ว แต่ยังมีการเสนอโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก โดยรายละเอียดข้อเสนอโครงการจะมีการระบุไว้เฉพาะในส่วนที่จะใช้งบประมาณจากเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของโครงการทั้งหมด
"มีโครงการ/กิจกรรมบางรายการไม่เหมาะสมหรือไม่จำเป็น บางโครงการมีลักษณะกิจกรรม/โครงการซ้ำซ้อนกับที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการเอง บางโครงการมีการนำงบประมาณไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อสารตรวจยาเสพติดตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานผู้ขอรับเงินอุดหนุนจำนวนมาก ในลักษณะขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ บางโครงการที่มีลักษณะการดำเนินการเหมือนกันแต่มีการจัดทำโครงการแยกกันทำให้ไม่เห็นภาพรวมของการดำเนินการ และการดำเนินโครงการมีการเบิกจ่ายเงินในบางรายการไม่ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้ด้วย" สตง.ระบุ