ฟิลิปปินส์ถูกจัดเป็น1ใน5 ประเทศที่นักข่าวถูกฆาตกรรมมากที่สุดในโลก
ฟิลิปปินส์ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและไม่สามารถเอาผิดใครได้ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันยังน่าห่วงภายใต้การนำของ ดูเตอร์เต้ที่เน้นความรุนแรง
(Source: Malacanang Presidential Photo/Handout via Reuters)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรรมาธิการเพื่อการปกป้องนักข่าว หรือ The Committee to Protect Journalists’ (CPJ) ได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์นักข่าวที่ถูกฆาตกรรมประจำปี 2017 โดยเป็นการจัดอันดับประเทศที่มีนักข่าวซึ่งเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมและฆาตกรยังคงลอยนวลอยู่ ซึ่งปีนี้ฟิลิปปินส์ประเทศอาเซียนหนึ่งเดียวที่ติด 5 อันดับแรกของโลก โดยที่ประเทศที่มีอัตราการลอยนวลของฆาตกรที่ปลดชีพนักข่าวอันดับหนึ่งคือ โซมาเลีย อันดับสอง ซีเรีย อันดับสาม อิรัค อันดับสี่ ซูดาน และอันดับห้า ฟิลิปปินส์
รายงานชิ้นนี้ได้จัดทำขึ้นมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเก็บจำนวนของการฆาตกรรมนักข่าวที่ยังไม่สามารถจัดการกับฆาตกรได้ในช่วง10 ปีของแต่ละประเทศโดยคำนวนสัดส่วนโดยอิงจำนวนของประชากรพบว่าในแต่ละประเทศทั่วโลก นักข่าวกว่า 93% ที่ถูกฆ่ามักเป็นนักข่าวท้องถิ่นมากกว่านักข่าวต่างประเทศ
CPJ ระบุว่า ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายต่อการทำงานของนักข่าว พบว่า นักข่าวท้องถิ่นซึ่งทำงานในประเด็นการเมือง ธุรกิจ การคอร์รัปชั่น และอาชญากรรม ซึ่งตกเป็นเป้าหมายสำคัญของการฆาตกรรม โดยตลอดสิบปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีนักข่าวถูกฆ่าไปแล้ว 42 รายโดยที่ไม่เคยจับผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องได้เลย
(แผนที่แสดงจำนวนนักข่าวที่ถูกฆาตกรรมในแต่ละประเทศทั่วโลก)
ขณะที่ทางด้านผู้นำอนุรักษ์นิยมอย่าง ประธานาธิบดี โรดริโก้ ดูเตอร์เต้ มักแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อสื่อโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนปีที่เเล้ว ที่เขาพูดขึ้นว่า “แค่คุณเป็นนักข่าว ไม่ได้หมายความว่าคุณจะรอดพ้นจากการลอบสังหาร”
ในรายงานของ CPJ ระบุด้วยว่า มีคนสองคนซึ่งหนึ่งในนั้นคืออดีตนายตำรวจได้กล่าวพาดพิงว่า ดูเตอร์เต้เป็นคนสั่งให้สังหาร ผู้ประกาศข่าวทางวิทยุ Jun Pala ในปี2003 สมัยที่คูเตอร์เต้ยังเป็นแค่นายกเทศมนตรีเมือง ดาเวา ในมินดาเนา จากประเด็นนี้ ดูเตอร์เต้ออกมาปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยังกล่าวว่า Pala ถูกฆ่าเพราะเขาคือไอ้สารเลว ( rotten son of a bitch)
ขณะที่ในรายงานเดียวกันของปีที่แล้ว ยังพบว่ามี นักข่าวรายหนึ่ง ชื่อ Joaquin Briones ถูกฆาตกรรม และพบว่า มีครอบครัวของนักข่าวราว 32 คน ถูกสังหารในเหตุการสังหารหมู่ช่วงปี 2009 ที่เมือง Maguindanao บนเกาะมินดาเนา จนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ทางCPJ เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นการฆาตกรรมหมู่นักข่าวใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้ ในรายฉบับนี้ ได้ยกเอาเหตุการณ์ในเดือนเมษายน ปี 2014 เมื่อ Rubylita Garcia นักข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน ถูกยิงหลายนัดภายในบ้านของเธอเอง หลังจากที่เธอได้เผยแพร่ข่าวสืบสวนการกระทำไม่ชอบของตำรวจประจำจังหวัด Cavite
ซึ่งภายหลังการฆาตกรรมโหดร้ายนี้ ไม่มีใครถูกนำตัวมาดำเนินคดีเลย แม้ว่าจะตำรวจระดับอาวุโสนายหนึ่งจะถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยก็ตาม ทั้งนี้ในสำหรับประเทศในเอเชียอีกสองแห่งอย่าง ปากีสถานและบังคลาเทศ ก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่อันตรายต่ออาชีพนักข่าว ติดหนึ่งใน10 อันดับแรกของโลก