6 แผนใหม่บูรณาการร่วมภาคประชาชน ‘สังคมไม่ทนต่อการทุจริต’
เมื่อนึกถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลายคนอาจเห็นภาพว่าเป็นองค์กรปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มแข็ง ถึงรากถึงโคน แต่อำนาจหน้าที่อีกประการหนึ่งคือ การป้องกันการทุจริต ที่ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากการ ‘ป้องกัน’ ดีเยี่ยม ภาครัฐจะสามารถลดรายจ่ายในการปราบปรามลงได้จำนวนมากเช่นกัน
ผลการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ผ่านมา ใช้แผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ร่วมมือกับภาคประชาชนเป็นสำคัญ ให้เกิดเป็น ‘สังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต’ แบ่งเป็น 6 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1.แผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดทิศทางและรองรับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริตให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ประเทศไทย ของรัฐบาล กำหนดวิสัยทัศน์ ‘ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต’ หรือ Zero Tolerance and Clean Thailand แบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ (1) สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต (2) ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านการทุจริต (3) สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย (4) พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก (5) ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต และ (6) ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ทั้งหมดนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2559 เห็นชอบให้หน่วยงานรัฐปรับเปลี่ยนแนวทาง และมาตรการตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติระดับประเทศ
อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จให้เป็นรูปธรรม จะต้องผ่านการบูรณาการร่วมจากหลายฝ่าย และนับตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดที่ 6 เข้ามาดำเนินงานประมาณ 2 ปีที่แล้ว ได้บูรณาการเรื่องงบประมาณภายใต้คณะกรรมการจัดทำงบประมาณลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ ใช้กลไกขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติงานโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการปฏิบัติทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ย่อยสอดคล้องกับการดำเนินงานในส่วนของภาครัฐ ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ระดับกระทรวง ระดับรัฐวิสาหกิจ ไล่ลงไปถึงระดับจังหวัดเป็นกลไกร่วมกับยุทธศาสตร์ชาติของ ป.ป.ช. ขับเคลื่อนผลงานด้านการป้องกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงเห็นได้ว่า แผนขับเคลื่อนเหล่านี้ บูรณาการร่วมกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และ ป.ป.ช. ทำให้การป้องกันการทุจริตเข้มแข็งดังผนังทองแดงกำแพงเหล็ก ช่วยยับยั้งการทุจริตได้เป็นอย่างดี
2.การดำเนินการตามความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีมากยิ่งขึ้นมากกว่าเดิม มีการทำข้อตกลง หรือบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงาน หรือองค์กรต่างประเทศหลายแห่ง มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) รวมถึงอนุสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดตั้งส่วนประสานงานเพื่อติดตามทรัพย์สินคดีทุจริตระหว่างประเทศกลับคืนสู่แผ่นดินไทย เนื่องจากที่ผ่านมา มีนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต และนำทรัพย์สินไปไว้ที่ต่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งการจัดตั้งส่วนประสานงานนี้มีส่วนช่วยอย่างมากในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต นอกจากนี้ยังมีการตั้ง คณะกรรมการประสานและเร่งรัดการดำเนินงานที่ทุจริตระหว่างประเทศ เพื่อขอข้อมูล และเอกสารหลักฐานมาดำเนินคดีกับคดีที่เกี่ยวกับสินบนข้ามชาติด้วยหลายสิบคดี โดยเฉพาะคดีสำคัญ ๆ เช่น คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ เป็นต้น
3.การออกคู่มือแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมกับนิติบุคคล เพื่อป้องกันการให้สินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศ มีการเพิ่มเติมมาตรา 123/5 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 พร้อมกับจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับนิติบุคคลในการต่อต้านการให้สินบน (Anti-Bribery Advisory Service: ABAS) ด้วย
4.ใช้เครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) เพื่อยกระดับคุณธรรม และความโปร่งใสของภาครัฐอย่างต่อเนื่องที่ทำมาเป็นประจำทุกปี เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจตื่นตัวในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
5.การเสนอมาตรการป้องกันการทุจริตไปยังคณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปิดช่องโหว่การทุจริตที่ผ่านมาในอดีต โดยนำกรณีตัวอย่าง หรือคดีต่าง ๆ ที่เคยถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดแล้ว มาเสนอ วิเคราะห์ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง รวบรวมข้อมูลเป็นมาตรการสำคัญ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการเสนอมาตรการสำคัญไปแล้วหลายเรื่อง เช่น (1) มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (2) มาตรการบังคับใช้กฎหมายเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นที่มีพฤติกรรมในทางทุจริต (3) มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการประกันภัย (4) มาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการอนุญาตให้ชนต่างด้าวพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว (5) ข้อเสนอแนะเรื่องการครอบครองที่ดินของคนต่างด้าว (6) ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการกำกับดูแลสหกรณ์ (7) ข้อเสนอแนะแนวทางดำเนินงานโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (8) ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา และ (9) ข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)
6.การสร้างเครือข่ายเพื่อการต่อต้านการทุจริต เน้นการสร้างเครือข่าย และปลูกฝังค่านิยมสุจริตให้กับเด็ก และเยาวชน รวมถึงประชาชน ผ่านเครือข่ายยุวทูต ป.ป.ช. ผู้นำเครือข่าย ป.ป.ช. ภาคประชาสังคม กรุงเทพมหานคร เครือข่ายสื่อสารต้านทุจริต สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หมู่บ้านช่อสะอาด โรงเรียนคุณธรรม โรงเรียนสุจริต ลูกเสือและเนตรนารีช่อสะอาด แวดวงการศึกษาที่สอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา/อุดมศึกษา กัณฑ์เทศน์สุจริตธรรมกถา สื่อการสอนต้านทุจริตในศาสนาอิสลาม เป็นต้น เห็นได้ชัดว่า เป็นกลไกที่ร่วมมือเป็นเครือข่ายทั้งหมดทั้งภาครัฐ เอกชน การศึกษา ศาสนา ประชาสังคม และสื่อมวลชน
ในโอกาสครบรอบ 18 ปี และก้าวสู่ปีที่ 19 นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่สร้างสังคมปลอดการทุจริต และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผ่านการบูรณาการกับภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน และกลไกในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ยึดมั่นการทำหน้าที่ ‘โปร่งใส-สุจริต-เที่ยงธรรม’ ต่อไป
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก www.tnews.co.th, www.lawinsport.com, www.pim.ac.th