รองนายกฯ เงียบไม่สนเสียงปชช. ขอเข้าชี้แจงร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพ
ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเผยไม่มีเสียงตอบรับจากรองนายกฯ กรณีขอโอกาสชี้แจงมุมมองภาคประชาชนที่มีต่อร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับแก้ไข ย้ำประเด็นหลักห่วงเรื่องจัดซื้อยา สัดส่วนบอร์ด สปสช.และการแยกเงินเดือนจากเงินเหมาจ่ายรายหัว
2 พ.ย.60 น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า หลังจากที่ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเข้ายื่นจดหมายถึง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา ให้เปิดโอกาสภาคประชาชนเข้าชี้แจงข้อมูลร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับแก้ไข) พ.ศ. ... เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างรอบด้านก่อนที่จะออกกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ เกิดขึ้น
“ไม่มีเลย เงียบ ไปยื่นตามศูนย์ดำรงธรรมก็ยิ่งช้าไม่ได้เรื่อง ไม่มีอะไรตอบรับ เรากระจายกันไปยื่นทั้งในจังหวัดและไปยื่นที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็รับเรื่องไปอย่างนั้นแหละ ไม่มีโอกาสได้คุยกับรองนายกฯ กระบวนการออกกฎหมายก็เดินไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวอีกว่าสำหรับข้อห่วงใยของภาคประชาชนที่มีต่อร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประเด็นคือ 1.การจัดซื้อยา แนวทางขณะนี้จะให้โรงพยาบาลเป็นฝ่ายจัดซื้อ แต่ด้วยปริมาณการจัดซื้อขนาดใหญ่ จำนวนเงินเยอะ โรงพยาบาลไหนก็ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาในจำนวนเงินที่สูงเป็นร้อยเป็นพันล้าน ต้องคอยออกคำสั่งพิเศษให้โรงพยาบาลโน้นทำได้ โรงพยาบาลนี้ทำได้ ถือเป็นเรื่องยุ่งยากไปหมด ดังนั้นต้องเปิดโอกาสให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถจัดซื้อยาได้ ซึ่งก็มีการเขียนประเด็นนี้ไปแล้วในกฎหมายใหม่ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเข้ามามีบทบาทตกลงเรื่องรายการยาร่วมกันว่าอะไร
2.องค์ประกอบคณะกรรมการ ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีตัวแทนผู้ให้บริการมากขึ้นจนจะกลายเป็นบอร์ดของผู้ให้บริการ ทั้งๆ ที่คณะกรรมการชุดนี้ควรเป็นบอร์ดของการจัดการสร้างหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บอร์ดของผู้จัดบริการ
3.การแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยมีเหตุผล การเอาเงินเดือนออกจากค่าเหมาจ่ายรายหัวเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวของระบบราชการเกินไปว่าฉันไม่สนใจ ฉันเอาเงินเดือนของฉันไว้ต่างหาก ที่เหลือก็ไปว่ากันเอาเอง แล้วให้เหตุว่าแยกเงินเดือนแล้วจะได้เห็นว่าเงินเหมาจ่ายรายหัวมีไม่เพียงพอ รัฐจะได้เพิ่มให้ ก็เป็นวิธีคิดแบบง่ายเกินไป เพราะเวลาคำนวณต้นทุนรัฐก็ต้องดูว่าใช้จ่ายไปกับเงินเดือนข้าราชการอย่างไรด้วย
“เราก็ยังคงสู้กันต่อไป ถ้าในอนาคตมีการเลือกตั้ง ภาคประชาชนพร้อมสู้ในระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีโอกาสได้เข้าไปให้ข้อมูล หาข้อมูลหรือแลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียมกัน เราสามารถรวบรวมรายชื่อเสนอแก้กฎหมาย ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไปรวบรวมรายชื่อมาแล้วไปสู้กันในชั้นรัฐสภาแบบแฟร์ๆ” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว