น่าเสียดายที่รัฐบาล คสช. ไปติดกับดักเรื่องเงิน!
รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารที่บริหารมานานกว่าปกติโดยอยู่มาแล้ว 3 ปี น่าจะสร้างมรดกตกทอดไว้ให้แก่ประชาชนได้มากโข แต่ทำไมกลับมีน้อย เป็นเพราะติดกับดักเรื่องเงินหรือเปล่า?
ลองเจาะลึกวิธีคิดด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. โดยวิเคราะห์ 5 งานต่อไปนี้
หนึ่ง โครงการอีอีซีที่ประเคนประโยชน์ให้ต่างชาติเหลือล้น
รัฐบาล คสช. โปรโมทอีอีซีเป็นเครื่องมือหลักที่จะพาไทยไปสู่ 4.0 เพื่อหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง แต่กลับไปติดกับดักเรื่องเงินเสียเอง เพราะเชฟรอนให้สถาบันต่างชาติประเมินพบว่าอุตสาหกรรมไทยและแรงงานไทยยังอยู่แค่ 2.5 และเนื่องจากไม่เคยมีประเทศใดที่หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยอาศัยขี่บั้นเอวนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น 4.0 จึงเป็นเรื่องพร่ำเพ้อ และอีอีซีกลับเปิดให้นายทุนไทยประเคนประโยชน์แก่ต่างชาติ รัฐบาลฝันว่าต่างชาติจะลงทุนห้าแสนล้านบาทในช่วงห้าปีข้างหน้า แทนที่จะพัฒนาความสามารถที่คนไทยมีอยู่แล้วในระดับรากหญ้า
กับดักเรื่องเงินในงานนี้มีผลประโยชน์สูงสุด เพราะเมื่อเปิดให้ต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ 99 ปี ก็เท่ากับเปิดช่องให้นายทุนเจ้าของที่ดิน land bank ในอีสเทิร์นซีบอร์ด จะสามารถหาประโยชน์ได้จากนักลงทุนต่างชาติ ที่นิยมและไขว่คว้าต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดินไทย ซึ่งถึงแม้ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้แบบตลอดไป แต่สัญญาเช่า 99 ปีนับว่าจูงใจพอที่จะทำโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายปลีกให้แก่ชาวต่างชาติ หรือนำเข้าไปขายแก่นักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะในวันนี้ คนจีนมีเงินและออกกระหน่ำกว้านซื้ออสังหาริมทรัพย์ในจุดต่างๆ ของโลก จนอังกฤษต้องเข้มในเรื่องบังคับให้เจ้าของบ้านต้องเสียภาษีในอังกฤษ และล่าสุดนิวซีแลนด์ประกาศห้ามต่างชาติซื้อบ้านเพิ่ม
ผู้ที่จะได้ประโยชน์: (ก) นายทุนรายที่ตุนที่ดินเอาไว้เป็น land bank (ข) นายทุนเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมที่จะขายที่ดินให้นักธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างชาติ (ค) นายทุนเจ้าของท่าเรือที่จะขายให้นักธุรกิจต่างชาติ (ง) นายทุนเจ้าของที่ดินชายทะเลที่จะพัฒนาเป็นโครงการหรูหรา ให้เช่าได้ 99 ปี
วิธีเอื้อประโยชน์: เนื่องจากหลายธุรกิจยังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ยังไม่ลงตัว ดังนั้น จึงต้องใช้ ม.44 เพื่อตีเช็คเปล่าให้แก่หน่วยงานที่จะเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตเพื่อแก้ปัญหาการขัดแย้งกับสิ่งแวดล้อม
ผู้ที่ถูกข้ามหัว: (ก) ประชาชนคนไทยที่ไม่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินสูงขึ้น (ข) ประชาชนคนไทยที่ต้องซื้อที่ดินแพงขึ้นเพื่อใช้สำหรับอยู่อาศัย หรือเพื่อทำธุรกิจ (ค) ประชาชนคนไทยที่ต้องเผชิญมลภาวะอุตสาหกรรมมากขึ้น
สอง นโยบายปิโตรเลียมที่อุ้มนายทุน
ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นกับดักเรื่องเงินที่สำคัญเป็นอันดับสอง เพราะมีผลประโยชน์มาก ทั้งกรณีผู้ที่ฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิผูกขาดที่ได้จากอำนาจมหาชนของรัฐไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน ผู้ที่ต้องการเข้ามาทำธุรกิจในแหล่งเอราวัณ/บงกชโดยเลี่ยงไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ประชาชนสูงสุด รวมไปถึงผู้รับสัมปทานเดิมที่จะประหยัดค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม
ผู้ที่จะได้ประโยชน์: ได้แก่ภาคเอกชนกลุ่มที่ถูกพาดพิงข้างต้น
วิธีเอื้อประโยชน์: ตรากฎหมายปิโตรเลียมอย่างลึกลับเพื่อให้เวลาชาวบ้านตั้งตัวน้อยที่สุด และปฏิเสธการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ อ้างว่าเสี่ยงมีทุจริต แต่ในเวลาเดียวกันเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติที่รวบรัฐวิสาหกิจลงกระป๋องเดียวกัน สามารถแปรรูปได้ในชั้นบริษัทลูกหลาน
ผู้ที่ถูกข้ามหัว: (ก) ผลประโยชน์จากการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ตกแก่ประชาชนเจ้าของประเทศทั้งหมด เพราะบางส่วนรั่วไหลไปอยู่ในมือผู้ถือหุ้นต่างชาติ (ข) ไม่บัญญัติกติกาในกฎหมายให้ประมูลแข่งขันโปร่งใส ที่จะทำให้รัฐและประชาชนได้รับประโยชน์จากการผลิตสูงสุด (ค) เปิดให้เอกชนสามารถประหยัดค่ารื้อถอนแท่นปิโตรเลียม โดยอาจผลักความเสี่ยงไปตกแก่ประชาชน
สาม กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่จะล้มละลายเกษตรกรไทย
บริษัทข้ามชาติได้พยายามมาตลอดให้รัฐบาลไทยคุ้มครองพันธุ์พืชที่เขาคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ ทั้งพันธุ์พืชไร่และพันธุ์ผัก และเนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม กับดักเงินในเรื่องนี้จึงมีมูลค่าสูง แต่เนื่องจากการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ย่อมต้องตั้งต้นที่พันธุ์พื้นเมืองที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ จึงเป็นการฉวยโอกาสได้เปรียบประเทศที่เกษตรกรเป็นชาวบ้านรายย่อย ที่พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ตามแบบวิถีชีวิตปกติ แบบค่อยเป็นค่อยไป และถึงแม้จะสามารถดัดแปลงพันธุ์ตามวิธีธรรมชาติให้ดีขึ้นได้ แต่ก็มักจะไม่มีกำลังความสามารถที่จะบรรยายให้เป็นเหตุการณ์เฉพาะในเชิงวิทยาศาสตร์และในเชิงนิติศาสตร์ที่จะจดทะเบียนสิทธิได้
ผู้ที่จะได้ประโยชน์: ได้แก่บริษัทข้ามชาติและบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชยักษ์ใหญ่ของไทย ที่ในบางกรณีครอบครองตลาดร่วมกันกว่าร้อยละ 80
วิธีเอื้อประโยชน์: ยกร่างกฎหมายที่อ้างว่าจะช่วยคุ้มครองคนไทยรายย่อยซึ่งเป็นผู้พัฒนาพันธุ์ ทั้งที่ในข้อเท็จจริง คนไทยที่ครอบครองสิทธิที่มีส่วนแบ่งตลาดมูลค่าสูงนั้นล้วนเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์พืชยักษ์ใหญ่ แต่เดชะบุญที่ภาคประชาชนออกมาคัดค้านอย่างแข็งขัน ทำให้มีการระงับเรื่องไว้ก่อน
ผู้ที่ถูกข้ามหัว: เกษตรกรไทยจะถูกจับเป็นตัวประกันไปนานแสนนาน นานยิ่งกว่ารุ่นลูกรุ่นหลานเสียอีก
สี่ การป้องปรามทุจริตเฉพาะที่ไม่ใช่พวกของตนเอง
การป้องปรามทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นโจทย์ใหญ่ของประะทศ และที่ผ่านมา 3 ปีควรจะได้มีอะไรเป็นรูปธรรมอย่างมาก โดยจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทั้งในด้านการเข้าถึงข้อมูล การบังคับให้หน่วยงานต้องชี้แจงต่อสาธารณะ การบังคับให้องค์กรอิสระต้องรายงานความคืบหน้า การจัดให้มีกระบวนการทำงานที่ถ่วงดุลกับองค์กรอิสระ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่เชื่อมั่นในองค์กรอิสระสามารถดำเนินการทางศาลได้เองทุกกรณี แต่ปรากฏว่าคืบหน้าน้อยมาก
ผู้ที่จะได้ประโยชน์: (ก) บริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่รัฐบาลไม่สั่งให้แก้ไข (ข) บริษัทที่ถูกร้องเรียนว่าหลบเลี่ยงภาษีอากร แต่รัฐบาลยังไม่ทำให้มีข้อยุติ (ค) บุคคลที่เสนอจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่บวกเงินทอนไว้มหาศาล ซึ่งมีข่าวปรากฏมาแล้วหลายเรื่อง (ง) ญาติสนิทมิตรสหายที่มีข่าวปรากฏพฤติกรรมน่าสงสัย
วิธีเอื้อประโยชน์: (ก) ถึงแม้จะมีภาคประชาชน ร้องเรียนหรือเตือนในเรื่องต่างๆ ก็ไม่ยอมดำเนินการให้เด็ดขาด กลับส่งให้ส่วนราชการไปพิจารณาดำเนินการวนไปวนมา (ข) ปกปิดข้อมูลที่สำคัญในเว็บไซต์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง (ค) ไม่เสนอแก้ไขให้ศาลทุจริตฯ ถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหายและให้รับฟ้องคดีทุกกรณี
ผู้ที่ถูกข้ามหัว: ประชาชนผู้เสียภาษีทั้งประเทศ
ห้า ทำนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงล้มละลายการเกษตรและท่องเที่ยว
เกษตรกรไทยมีความสามารถพิเศษมาช้านานเป็นที่ยอมรับ เช่น ในอินโดนีเซียถึงแม้สภาพอากาศและมีผลไม้คล้ายกับไทย แต่ของไทยจะถือเป็นพรีเมี่ยม เขาจะต่อท้ายคำว่าบางกอกเพื่อเรียกราคา เช่น มะม่วงบางกอก และในอนาคตที่ทั้งจีนและอินเดียจะมีกำลังซื้ออาหารอร่อยมากขึ้น เกษตรพรีเมี่ยมจึงเป็นหนทางพัฒนาที่สดใสมาก ส่วนเรื่องท่องเที่ยวนั้น คนต่างชาติจำนวนมากบอกผมว่าชอบมาไทยซ้ำๆ เพราะชอบนิสัยคนไทย บรรยากาศและการบริการในไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสามารถกระจายรายได้ตรงลงไประดับล่างได้อย่างหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องระมัดระวังมาตรการใดที่จะก่อความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่จะทำลายความมั่นใจเรื่องอาหารและแหล่งท่องเที่ยว
การติดกับดักเรื่องเงินนั้น ปรากฏในเรื่องข้อเสนอสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถึงแม้จะโปรโมทว่าสะอาด แต่ในข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่มี zero emission มีแต่อยู่ในระดับใดจะยอมรับกันได้เท่านั้น ปรากฏว่าภาคประชาชนกังวลความเสี่ยงต่อการท่องเที่ยวและต่อต้าน ก็มีการดำเนินคดีกับภาคประชาชน ส่วนเรื่องเหมืองทองคำนั้น เนื่องจากเป็นกิจกรรมเดียวในพื้นที่นั้นที่มีการนำสารพิษแปลกปลอมเข้าไปใช้ และสร้างผลผลิตส่วนเกินที่เป็นสารพิษจำนวนมาก ก่อปัญหาต่อสุขภาพ และถึงแม้ภาคเอกชนจะยืนยันว่ามีมาตรการป้องกันแข็งขัน แต่ย่อมมีความเสี่ยงต่อความมั่นใจต่อผลิตผลเกษตรของไทย ปรากฏว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลออกมาให้ข่าวว่าจำเป็นต้องเปิดเหมืองอีกครั้งหนึ่ง เพราะมิฉะนั้นเอกชนอาจจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ผู้ที่จะได้ประโยชน์: (ก) รัฐวิสาหกิจที่ไปลงทุนในเหมืองถ่านหินต่างประเทศ (ข) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายถ่านหิน (ค) ผู้ถือหุ้นในเหมืองทองคำ ซึ่งรวมไปถึงคนไทยที่ใกล้ชิดกับนักการเมืองด้วย
ผู้ที่ถูกข้ามหัว: (ก) ประชาชนที่ถูกกระทบจากถ่านหิน (ข) ประชาชนที่หากินกับการท่องเที่ยว (ค) ประชาชนที่ถูกกระทบจากเหมือง (ง) เกษตรกรไทยทั้งประเทศมีความเสี่ยง
สรุป: การวางนโยบายเศรษฐกิจโดยไม่คำนึงถึงศาสตร์พระราชา ย่อมจะไม่มีประชาชนอยู่ที่ศูนย์กลาง และจะถูกดึงไปในทิศทางอื่นได้ง่ายขึ้นกับผู้วางนโยบายต้องการให้ประโยชน์เกิดแก่กลุ่มใด แต่สำหรับรัฐบาล คสช. นั้น เป็นที่น่าเสียดาย ถึงแม้ใช้เวลาผ่านมาถึง 3 ปี นอกจากจะไม่วางประชาชนไว้ที่กลางหัวใจแล้ว ยังปล่อยให้ตนเองไปติดกับดักเรื่องเงินอีกด้วย น่าสงสัยว่าติดกับดักอยู่กับผลประโยชน์ของหมู่คณะ และนายทุนที่แวดล้อม คสช. อยู่หรือไม่? และการที่ผลประโยชน์กระจุกตัวไม่กระจายนั้น จะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่สามของโลกได้อย่างไร? และจะมีมรดกบาปทิ้งไว้เป็นภาระของชนรุ่นหลังหรือไม่?
ปฏิวัติอย่างนี้ ที่ประชาชนจะเรียกว่าเสียของหรือเปล่าครับ?
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
2 พ.ย. 2560
Facebook : Thirachai Phuvanatnaranubala