5 เรื่องน่ารู้ เยลลี่หมีฮาริโบ้ ก่อนถูกสื่อเยอรมันตั้งข้อสังเกตปมใช้แรงงานทาสผลิต
5 เรื่องน่ารู้ เยลลี่หมีฮาริโบ้ ขนมกินเล่นยอดฮิต เด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี เจ้าของสโลแกน "The Original since 1922 Kids and grown-ups love it so, The happy world of HARIBO" ก่อนถูกสื่อเยอรมันตั้งข้อสังเกตปมใช้แรงงานทาสผลิต
กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ถูกจับตามองทันที เมื่อบริษัทผลิตกัมมี่แบร์หรือเยลลี่หมีน่ารักยอดขายอันดับหนึ่งของโลก อย่างฮาริโบ้(HARIBO) ถูกสื่อเยอรมันลงพื้นที่ตรวจสอบต้นทางของส่วนประกอบสำคัญอย่างไขคาร์เนาบาหรือcarnauba wax ที่บราซิล ก่อนจะพบว่าแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นซัฟฟลายเออร์หลักของฮาริโบ้ มีชีวิตความเป็นอยู่ การทำงานเยี่ยงทาส นอกจากนั้นยังมีการปล่อยวีดีโอ ซึ่งฉายภาพความน่าตะลึงของฟารืมหมูที่ส่งผลิตเจลาตินสำหรับเยลลี่หมีน่ารัก ที่อยู่ในสภาพสกปรกสุดขีด (อ่านประกอบ : เยลลี่หมีเจ้าดังงานเข้า เมื่อสารคดีสืบสวนเยอรมันเผยส่วนประกอบใช้แรงงานทาสในการผลิต )
อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ ฮาริโบ้ ที่ขณะนี้กำลังเฝ้ารอว่าทางต้นสังกัดจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ในระหว่างที่รอคอยนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอให้สาธารณชนได้ทำความรู้จักเยลลี่น่ารักในใจทุกคนกับ 5 ประเด็นน่ารู้กันก่อน
เรื่องที่ 1 กำเนิดกัมมี่แบร์ยอดขายอันดับหนึ่ง
เยลลี่ หรือกัมมี่แบร์ ตราฮาริโบ้ อยู่ภายใต้ บริษัท HARIBO GmbH & Co. KG เป็นบริษัทสัญชาติเยอรมัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2463 หรือเมื่อ 97 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นกิจการจากครัวในสนามหลังบ้านในเมืองบอนน์ และได้ชื่อนี้มาจากการย่อชื่อของผู้ก่อตั้ง Johannes Hans Riegel และเมือง Bonn เข้าด้วยกัน โดย HARIBO คิดค้นขนมกัมมี่แบร์ขึ้นตั้งแต่ปี 2465 หรือ 95 ปีที่แล้ว ก่อนจะถูกนำเข้าไปขายในอเมริกาช่วงปี 2523 และปัจจุบันกลายเป็นกัมมี่แบร์ที่ขายดีอันดับ 1 ในอเมริกา รวมถึงตลาดกัมมี่แบร์ในทั่วโลก
ในส่วนรายได้ของ HARIBO ในปี 2559 อยู่ที่ 3,180 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 104,940 ล้านบาท ซึ่งถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 10 ของบริษัทผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ขนมหวานของโลก (ตาม net sales)
บริษัทHARIBO มีโรงงานทั่วยุโรป 16 แห่ง โดยแบ่งอยู่ในเยอรมันนี5 แห่ง ผลิตเยลลี่ได้ 100 ล้านตัวต่อวัน นอกจากนี้ยังมีโรงงานนอกยุโรปอย่างตุรกี ซึ่งเป็นสายการผลิตหลักป้อนตลาดอย่างตะวันออกกลางและประเทศมุสลิมทั้งหมด ปัจจุบันฮาริโบ้มีฐานการผลิตใน10 ประเทศทั่วโลกพนักงานเกือบ 7,000 คน
ข่าวการลงทุนล่าสุดเมื่อช่วงต้นปี60 ของบริษัทฮาริโบ้ โดยนายสก็อตต์ วอล์คเกอร์ ผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน ของสหรัฐฯ เผยว่า ฮาริโบ้เตรียมใช้เงินกว่า 242 ล้านดอลลาร์ (8,360 ล้านบาท) ตั้งโรงงานแห่งแรกของอเมริกาเหนือในรัฐวิสคอนซิน โดยมีกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี 2563 และได้ขอบคุณบริษัทนี้ที่ตัดสินใจตั้งโรงงานในพื้นที่
การเปิดเผยนี้เกิดขึ้นหลังจากกองงานพัฒนาแรงงานของรัฐวิสคอนซินเผยว่า อัตราการว่างงานในรัฐลดลงมาอยู่ที่ 3.7% เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำที่สุดตั้งเดือน พ.ย. 2543
สำหรับขนม HARIBO ในบ้านเรา นำเข้าจาก ฮาริโบ้ประเทศตุรกี ผลิตโดย บริษัท ปาเมียร์ จิดา ซาน เอเอส ฮาริโบ้ เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี และจัดจำหน่ายโดยบริษัท ซีโน-แปซิฟิค เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศรายใหญ่ของไทย รายได้ของบริษัทนี้ในปี 2559 มีมากถึง 18,388 ล้านบาท
บ.ซีโน-แปซิฟิค เป็นบรัษัทของคนไทยที่นำเข้าสินค้าประเภทอาหาร ขนม ลูกอม และเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยสามารถแบ่งสินค้าที่เรานำเข้าได้เป็นหมวดหมู่ทั้งหมด 6 หมวดหมู่ด้วยกัน ดังนี้ ช็อกโกแลต ลูกอม ขนมขบเคี้ยวและบิสกิต เครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าและสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรม โดยมีสินค้าเกือบ 70 แบรนด์จากทั่วทุกมุมโลก และมีคลังเก็บสินค้า 4 แห่ง ทั่วประเทศ ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และ คลังสินค้าอีก 3 แห่งนั้น ตั้งอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของแต่ละภูมิภาค ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่และภูเก็ต ด้วยโครงข่ายการกระจายสินค้านี้ ทางบริษัทรับประกันว่าลูกค้าจะได้สินค้าทุกชิ้นนั้นสดใหม่ตลอดเวลา
(ภาพจาก http://i.ebayimg.com/images/i/152129368017-0-1/s-l1000.jpg)
เรื่องที่ 2 เจลาตินจากสัตว์และสกัดจากพืชสำหรับผู้ทานมังสวิรัติ
หนึ่งในประเด็นร้อนที่สารคดีเยอรมันสืบพบว่าสายการผลิตส่วนประกอบอย่างเจลาตินของฮาริโบ้ ใช้ฟาร์มหมูที่ไม่ได้มาตรฐาน หมูเป็นโรค ซึ่งขัดต่อกฎหมายเยอรมันนี ผู้บริโภคหลายคนคงสงสัยว่า แบบนี้มุสลิมรวมไปถึงผู้ที่ทานโคเชอร์ หรือKosher (หมายถึงมาตรฐานอาหารสำหรับคนยิว)จะทานได้หรือไม่หากมีการใช้เจลาตินจากหมู แน่นอนว่าทานไม่ได้ แต่สินค้าฮาริโบ้ที่ขายในไทยและในประเทศมุสลิมทั้งหมดมาจากโรงงานในตุรกี เป็นสินค้า”Made in Turkey" หรือ "Product of Turkey" ซึ่งได้รับการรับรองตราฮาลาลเรียบร้อย ในส่วนของเจลาตินนั้น เปลี่ยนเป็นการสกัดจากวัวแทน ส่วนสินค้าที่ผลิตในเยอรมันนี และออสเตรีย "Made in Germany," "Made in Austria," "Product of Germany" หรือ "Product of Austria" ทั้งหมดใช้หมูในการผลิตเจลาติน ดังนั้นก่อนรับประมานลองพลิกดูใต้ซองจะพบว่าเป็นสินค้ามาจากที่ไหน
ในส่วนของผู้ที่ทานมังสวิรัติ หรือวีแกน ก็สบายใจได้ เพราะฮาริโบ้ได้จัดผลิตกัมมี่แบร์ รุ่นพิเศษที่สกัดสารจากพืชแทนการใช้เจลาตินจากสัตว์
เรื่องที่ 3 รสชาติ หน้าตากัมมี่แบร์ครองใจ
สโลแกนหลักของ ฮาริโบ้ซึ่งคิดขึ้นตั้งแต่ปี 1930 ที่ว่า “ฮาริโบ้ทำให้เด็กมีความสุข” “HARIBO makes children happy” ต่อมากลางปี 1960 ได้เพิ่มประโยคต่อท้ายอีกว่า “ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน” “and adults too”
หากสังเกตบนบรรจุภัณฑ์ของฮาริโบ้จะพบหมีพูดว่า “ The Original since 1922” Kids and grown-ups love it so, The happy world of HARIBO หรือ ต้นตำรับตั้งแต่ปี 1922 เด็กและผู้ใหญ่ต่างก็รักฮาริโบ้ โลกแห่งความสุขของฮาริโบ้ นอกจากนี้กัมมี่แบร์ยี่ห้อนี้ ยังยืนยันว่าNo Artificial colours ไม่ใช้สีสังเคราะห์ด้วย
(ภาพประกอบจาก http://sweets.seriouseats.com/images/2012/06/20120606-taste-test-haribo-gummy-bears-flavors-labeled.jpg)
เรื่องที่ 4 สีของหมีในถุงไม่ตรงตามรสชาติ
ในสหรัฐอเมริกา กัมมี่แบร์ฮาริโบ้มีทั้งหมด 5 รสชาติ คือ ราสเบอรี่(สีแดง) ส้ม(สีส้ม) สตอเบอรี่(สีเขียว) สัปปะรด(สีขาว) และเลมอน(สีเหลือง)
ขณะที่ในเยอรมันกัมมี่แบร์ยี่ห้อนี้จะมี 6 รสชาติ คือ สตอเบอรี่(สีเขียวอ่อน) แอ๊ปเปิ้ล(สีเขียว) เลมอน(สีเหลือง) ส้ม(สีส้ม) สัปปะรด(สีขาว) และราสเบอรี่(สีแดงเข้ม)
ส่วนผลิตภัณฑ์ในแถบตุรกี สเปน จะมีเพียง 5 รสชาติ คือ สตอเบอรี่(สีเขียว)เลมอน(สีเหลือง) ส้ม(สีส้ม) สัปปะรด(สีขาว) และราสเบอรี่(สีแดง)
(ภาพประกอบจาก tops.co.th)
เรื่องที่ 5 ตลาดกัมมี่แบร์ไทยไม่ได้มีแค่ฮาริโบ้ มียี่ห้อไทยชื่อดังด้วย
ในตลาดบ้านเรา หากสังเกตดีๆ จะพบว่ามีกัมมี่แบร์อีกยี่ห้อที่วางคู่กัน นั่นคือ จอลลี่ แบร์ ที่มีรูปร่างเหมือนๆ กัน แต่ต่างกันที่รสชาติและความเหนียว โดยขนมภายใต้ตราสินค้า Jolly นั้นมีตั้งแต่ Jolly Cola เยลลี่รูปขวดกลิ่นโคล่า และ Jolly Stick ขนมเคี้ยวเหนียวๆ (คล้ายซูกัส) ที่ห่อพลาสติกรูปสัตว์ต่างๆเช่น ยีราฟ สิงโต ช้าง หมี ซึ่งขนม Jolly ทั้งหมดนี้ มีเจ้าของเป็นคนไทย โดยบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด ของตระกูล เชาวน์ประดิษฐ์ จดทะเบียนขึ้นเมื่อปี 2516 หรือเมื่อ 44 ปีที่แล้ว เพื่อผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมหวานประเภท Gummy Confectionery ทั้งหมด 5 สี โดย 4 สีแรกเหมือนกันคือ สตอเบอรี่(สีแดง) แอ๊ปเปิ้ล (สีเขียว) ส้ม (สีส้ม) สัปปะรด (สีเหลือง) และ องุ่น (สีม่วง) ปัจจุบันจอลลี่แบร์ถูกคู่แข่งอย่างฮาริโบ้เบียดไปแล้ว เห็นได้จากชั้นวางตามซุปเปร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และหากดู งบสามปีย้อลหลังของบริษัท ปี 2557 มีรายได้รวม 158 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท ส่วนปี 2558 มีรายได้รวม 148 ล้านบาท กำไร 5.8 ล้านบาทและล่าสุดปี 2559 มีรายได้รวม 159 ล้านบาท กำไร 8.8 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้คือเรื่องน่ารู้ของฮาริโบ้ กัมมี่แบร์หรือเยลลี่หมีน่ารักที่กำลังตกเป็นเป้าว่าใช้แรงงานทาสในการผลิตส่วนประกอบสำคัญรวมถึงการได้เจลาตินจากฟาร์มหมูที่ไม่ได้รับมาตรฐาน ที่กำลังถูกจับตามองอยู่ในขณะนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.ummah.com/forum/showthread.php?290654-Haribo-is-halal!-(well-some-are)
https://www.haribo.com/enUS/contact-information-service/faq.html#4