เทคนิคยอดมนุษย์ฟรีแลนซ์ งานตรึม เงินเต็ม เจ็บไม่จน
ฟรีแลนซ์ อาชีพที่ฟังดูแล้วน่าจะสบาย ได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่มีเวลาเข้าออกงานตายตัว มีอิสระในการจัดการชีวิตส่วนตัวได้อย่างเต็มที่ ใครหลายคนจึงอยากจะผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ฟรีแลนซ์ก็มีปัญหาในแบบของตัวเอง สิ่งที่คิดว่าอิสระก็ไม่จริงเสมอไป เพราะถ้างานด่วน งานเร่ง ลูกค้าก็ตามงานได้ตลอดเวลา
ในช่วงที่งานเข้ามาพร้อมกันมากๆ จะปฏิเสธก็ไม่ได้ เพราะกลัวลูกค้าไม่ส่งงานมาให้อีก บางเดือนไม่มีงานเข้ามาเลย ก็ขาดรายได้กันไป แต่ถ้าช่วงไหนรับงานหนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ก็กลายเป็นความเจ็บป่วย สวัสดิการรักษาพยาบาลก็ไม่มีเหมือนพนักงานออฟฟิศ ต้องควักเนื้อจ่ายเองเสียอีก เรียกได้ว่าถ้ารักจะเป็นฟรีแลนซ์ ต้องจัดการชีวิตตัวเองให้เข้มงวดกว่ามนุษย์เงินเดือนทั่วไปเสียอีก
ถึงแม้ว่าสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์ งาน เงิน และสุขภาพ ดูจะไม่ค่อยไปด้วยกันนัก แต่การสร้างสมดุลให้ชีวิตก็ไม่ได้ยากเกินไป ด้วยคำแนะนำจากงานสัมมนา “ยอดมนุษย์ฟรีแลนซ์ เหนื่อยนัก ก็พักได้” ที่จัดโดย K-Expert ที่ปรึกษาการเงิน ธนาคารกสิกรไทย พร้อมเทคนิคจากสุดยอดฟรีแลนซ์ตัวจริง เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับชื่อดัง และ ปอมชาน-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง นักวาดภาพประกอบระดับโลก จึงพอจะสรุปคีย์เวิร์ดสำคัญสำหรับฟรีแลนซ์ได้ 3 ข้อ คือ “งานตรึม เงินเต็ม เจ็บไม่จน”
งานตรึม: งานคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับฟรีแลนซ์ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้แล้ว งานยังเป็นแบรนด์ของฟรีแลนซ์แต่ละคน เต๋อ-นวพล แชร์แนวคิดในการทำงานว่า “เน้นทำงานน้อยชิ้นแต่มีคุณภาพ” เพื่อให้มีเวลาคิดและแก้ไขงานได้อย่างเต็มที่ มีเวลาเปิดสมองให้ปลอดโปร่ง เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด และเมื่องานเรามีคุณภาพก็มีความเป็นไปได้สูงที่ลูกค้าจะป้อนงานให้เราอีก เพราะเกิดความเชื่อมั่นและยังเกิดการบอกต่ออีกด้วย
ส่วนปอมชานให้เทคนิคให้ได้งานคือ การวางแผนหาลูกค้าอย่างเป็นระบบ โดยให้เราลองวิเคราะห์ดูว่าลูกค้ากลุ่มไหนจะชื่นชอบและต้องการงานของเรา และเลือกติดต่อหาลูกค้ากลุ่มนั้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายโดยตรง โอกาสที่จะได้งานก็สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังใช้หลัก “10 เปอร์เซ็นต์” คือ ในจำนวนคนที่เราส่งงานของเราไปทั้งหมด จะมีประมาณ 10% ที่ตอบรับกลับมา และจากจำนวนนั้น จะมี 10% ที่จะเป็นลูกค้าของเรา
เงินเต็ม: ฟรีแลนซ์เป็นอาชีพที่มีความไม่แน่นอนสูงกว่าพนักงานออฟฟิศ เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่างานและเงินจะเข้าออกช่วงไหนบ้าง ดังนั้น K-Expert จึงแนะนำว่าเงินก้อนแรกที่ฟรีแลนซ์ควรจะมีเก็บไว้ คือ “เงินสำรอง” ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินอย่างงานไม่มี เงินไม่เข้า รอรับเงินจากลูกค้า ก็จะได้มีเงินสำรองมาใช้จ่าย โดยควรจะเก็บสำรองในบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เนื่องจากมีสภาพคล่องสูงและให้ผลตอบแทนดี
หลังจากมีเงินสำรองแล้ว ฟรีแลนซ์ควรแบ่งเงินมาลงทุนด้วย ไม่ควรเก็บในบัญชีเงินฝากอย่างเดียว เพราะจะเสียโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า แม้หลายคนบอกว่าไม่กล้าลงทุน กลัวความเสี่ยง แต่อยากเตือนให้นึกถึงความเสี่ยงที่น่ากลัวกว่าความเสี่ยงจากการลงทุน นั่นคือความเสี่ยงของเงินในบัญชีเงินฝากที่จะโตไม่ทันราคาของที่แพงขึ้น ทำให้มีเงินไม่พอใช้แบบไม่รู้ตัว
K-Expert แนะนำว่า การลงทุนมีหลายระดับความเสี่ยงให้เลือกลงทุน ทางที่ดีคือควรทำความรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน เหมาะกับการลงทุนแบบใด และศึกษาสิ่งที่จะลงทุนให้เข้าใจอย่างแท้จริง และสินทรัพย์ทางการเงิน ที่ฟรีแลนซ์ควรมี เพื่อชดเชยความไม่แน่นอนของรายได้ อาจเป็นหุ้นปันผล หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงการปล่อยเช่าคอนโดฯ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะช่วยให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น
และเงินก้อนสุดท้ายที่ฟรีแลนซ์ควรนึกถึงคือ “เงินเกษียณ” อย่าคิดว่าอีกนาน เดี๋ยวค่อยเก็บ แต่ควรคิดว่า ยิ่งเริ่มเก็บเร็ว เงินที่จะมีใช้สำหรับชีวิตหลังเกษียณก็มากขึ้น บางคนอาจคิดว่าฟรีแลนซ์เป็นอาชีพอิสระ ไม่มีกำหนดเกษียณอายุ สามารถรับงานได้เรื่อยๆ แต่ในความเป็นจริง อายุที่มากขึ้นอาจทำให้รับงานได้น้อยลง คงจะดีกว่ามาก ถ้าจะได้พักผ่อนอย่างสบายๆ ในบั้นปลายของชีวิต มากกว่าจะมากังวลว่าเงินจะพอใช้หรือไม่
เจ็บไม่จน: อย่างที่รู้กันดีว่าฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องดูแลค่าใช้จ่ายเองเต็มๆ ดังนั้น แนวทางที่จะช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลได้ก็คือการทำ “ประกันสุขภาพ” และ “ประกันโรคร้ายแรง” เสมือนจ่ายเงินก้อนเล็กๆ เตรียมไว้รองรับค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ควรทำ “ประกันชดเชยรายได้” เพื่อความอุ่นใจ เพราะหากต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ไม่สามารถรับงานได้ ก็ยังมีประกันช่วยจ่ายเงินชดเชยตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล
แต่ไม่ว่าจะเลือกทำประกันแบบไหน ก็ควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะประกันแต่ละชนิด ของแต่ละบริษัทก็จะมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป
นี่เป็นคำแนะนำจากกูรูการเงิน K-Expert และฟรีแลนซ์ตัวจริง ที่จะช่วยรักษาสมดุลชีวิตทั้ง 3 ด้านของมนุษย์ฟรีแลนซ์ให้มั่นคง และสำหรับฟรีแลนซ์ที่ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม ก็สามารถเข้ามารับคำปรึกษาแบบตัวต่อตัวได้กับ K-Expert ทีมที่ปรึกษาการเงินระดับ CFP (Certified Financial Planning) ได้ที่ K-Expert Center ชั้น 2 จามจุรีสแควร์ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเวิร์คช็อปด้านการเงินและการลงทุนที่จัดขึ้นเป็นประจำ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.askkbank.com/k-expert
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)