มาตรการใหม่ลุยสอบทรัพย์สินเชิงลึก สกัดนักการเมือง-จนท.รัฐทุจริต
มาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คือการสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จนถึงนักการเมืองระดับชาติ เช่น ส.ส. ส.ว. รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี รวมถึงข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
เป้าหมายหลักเพื่อแสดงความโปร่งใสและบรรยากาศความมีคุณธรรมให้แก่ระบบการเมืองและราชการ การป้องกันการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งเสริมความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อความมีคุณธรรมของนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเป็นกลไกสนับสนุนหรือมาตรการเสริมการดำเนินคดีอาญาของนักการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘รวยผิดปกติ’
การตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสำนักงาน ป.ป.ช. แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ การตรวจแบบปกติ การตรวจยืนยัน และการตรวจแบบเชิงลึก แบ่งเป็นการยื่นตอนเข้ารับตำแหน่ง ตอนพ้นจากตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่งครบ 1 ปี
ช่วงปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา สำนักงาน ป.ป.ช. มีมาตรการตรวจสอบแบบเชิงลึกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว จากสถิติการดำเนินการในปีงบประมาณ 2559-2560 พบว่า เมื่อปี พ.ศ.2559 ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในส่วนนักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐแล้วเสร็จ 52,293 บัญชี พบการกระทำความผิดทั้งไม่ยื่นบัญชี ยื่นบัญชีเท็จ และร่ำรวยผิดปกติ รวม 247 ราย มูลค่าที่ร้องขอต่อศาลให้ตกเป็นของแผ่นดินรวม 186,620,637 บาท ปี พ.ศ.2560 ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินแล้วเสร็จ 33,350 บัญชี พบการกระทำความผิด 326 ราย มูลค่าที่ร้องขอต่อศาลให้ตกเป็นของแผ่นดินรวม 853,095,116 บาท
อาจมีหลายคนสังเกตว่า ทำไมปี พ.ศ.2560 จึงมีบัญชีทรัพย์สินให้ตรวจน้อยลง เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1.ผลต่อเนื่องจากการที่ยังไม่มีการเลือกตั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น จำนวนบัญชีที่ต้องตรวจจึงน้อยลง 2.คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการตรวจแบบเชิงลึกมากขึ้น ส่งผลให้มีผู้กระทำความผิด และร้องขอต่อศาลให้ยึดหรือริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินจำนวนสูงมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ทำงานเชิงคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม
สำหรับคดีสำคัญที่ผ่านมาในอดีต เช่น คดีอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีคนสำคัญ ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดเมื่อปี พ.ศ.2543 ฐานยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ รายแรกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารอด อีกรายวินิจฉัยให้เว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี
หรือในช่วงปี พ.ศ.2559-2560 ที่ผ่านมา มีหลายคดีที่ประสบผลสำเร็จ และอยู่ระหว่างการรอยึดทรัพย์สินคืนแผ่นดิน เช่น การขยายผลจากคดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท มีการชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติกว่า 700 ล้านบาท และเครือข่ายอดีตข้าราชการกรมสรรพากรอีกหลายร้อยล้านบาท ชี้มูลความผิดอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ 346 ล้านบาท และยังขยายผลเพิ่มเติมอยู่ คดีนักการเมือง เช่น อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แจ้งบัญชีเท็จ กรณีถือหุ้นฟาร์มเลี้ยงหมู ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกไปแล้ว แต่รอลงอาญา พร้อมตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นต้น
ด้วยความมุ่งมั่นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มุ่งหวังขจัดปัญหาการทุจริตให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบการยื่นบัญชีทรัพย์สิน การตรวจสอบให้เข้มงวดกว่าเดิม และในอนาคตอาจมีการเปิดให้ตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐอีกหลายร้อยตำแหน่งมายื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมด้วย นับเป็นอีกก้าวสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับแก้ไขปัญหาการทุจริตตามแนวทาง ‘ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต’ หรือ Zero Tolerance & Clean Thailand นั่นเอง
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)