เอนก เหล่าธรรมทัศน์: นคราภิวัฒน์ เมื่อชนบทกลายเป็นเมือง ระบบบริหารถึงเวลาต้องเปลี่ยน
“...เราไม่มีได้มีกระทรวงที่สร้างเมืองอย่างมีแผนมีการวางผังดีการเกิดขึ้นของเมืองในประเทศไทยจึงเกิดแบบของเราคือวางแผนไม่ได้ตามแผนเราคิดจะสร้างเมืองไปอุตสาหกรรมกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวจากเดิมที่มองว่า การท่องเที่ยวของเราไม่มีอนาคตจากที่ไม่ตั้งใจกลายเป็นอนาคตของเราได้...” ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ธนาคารโลกประเมินว่า ในปี 2025 จำนวนประชากรเมืองน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,300 ล้านคน ขณะที่10 ปีก่อน มีคนอาศัยอยู่ในเมืองเพียง 2,900 ล้านคน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาระที่เมืองกำลังแบกรับ และสะท้อนการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง แต่นั้นยังไม่น่าห่วงเท่ากับทำอย่างไรให้การบริหารจัดการยุคแห่งเมืองให้เป็นเมืองที่ดีได้
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวปาถกฐาพิเศษ เรื่อง นคราภิวัฒน์ กับการปฏิรูปการเมือง ในงานเสวนา "เมือง กิน คน: นคราภิวัฒน์ การพัฒนาเมือง และสุขภาวะของคนเมืองใหญ่” ที่ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ ไว้น่าสนใจ
ศ.ดร.เอนก บอกว่า ตอนนี้โลกเป็นเมืองมากกว่าชนบทแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาชทบทเป็นที่ที่มีคนมากกว่าเมืองมาโดยตลอด แต่ใน 3-4 ปีให้หลังนี้ ประชากรเมืองมากกว่า คนในชนบทแล้ว
“ในเมืองไทยแม้ตัวเลขจะยังเท่ากัน คือประชากรในกทม. และเทศบาลเมือง กับประชากรในเทศบาลตำบลใกล้เคียงกัน แต่ครึ่งหนึ่งเทศบาลตำบลก็อยู่ในลักษณะของเมืองมากขึ้นแล้ว”
ศ.ดร.เอนก ชี้ว่า หากนับตัวชี้วัดที่ไม่เป็นทางการ อย่างเช่นการมีร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เทศบาลตำบลเหล่านี้ครึ่งหนึ่งมีเซเว่นฯแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ประชากรเมืองของเรา ตอนนี้มีประมาณ 75% ได้ และชนบทที่เหลือก็ไม่ใช่บทบทแบบเดิม ไม่มีชนบทล้าหลังไกลปืนเที่ยงแบบเดิมอีกแล้ว เวลานี้ชนบทแบบนี้ เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่ เป็นชนชั้นกลางระดับล่าง เป็นผู้ประกอบการ เเบบพอเลี้ยงตัวเองได้ ในชนบทไม่มีใครทำมาหากิน ในภาคเกษตรโดยไม่รับจ้างแล้ว
ตอนนี้ไทยเป็นเมืองหมดแล้ว
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า เมื่อก่อนไทยเป็นชนบทเป็นหลัก เมื่อก่อนมีเมืองจังหวัดละแห่งเท่านั้น ชนบทยังเป็นพื้นฐานเดิมของสังคมไทยและยังสำคัญ อย่างไรก็ตามประเทศไทยในเวลานี้อยู่ใน “นคราภิวัฒน์” คือกำลังกลายเป็นมหานครที่เข้มข้นมากขึ้น หวังว่าจะมีการประสานกันระหว่างของใหม่และของเก่า ตะวันออกกับตะวันตกได้มากขึ้น
“การปฏิรูปการพัฒนาที่เน้นที่ชาติ เศรษฐกิจศูนย์รวมอย่างเดียวน่าจะไม่พอ เราอาจจะต้องสนใจเรื่องนี้ให้มากขึ้น นคราภิวัฒน์ย้อนหลังไปได้ร้อยปีที่เเล้ว เมื่อเราพัฒนาประเทศเเบบสมัยใหม่ มีเมืองเป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศ เมืองขยายตัวมากขึ้น เมื่อมีการค้าขาย และต่อมาขยายตัวไปยังอุตสาหกรรม นี่คือเมืองอย่างกรุงเทพ เติบโตมากแบบนี้ และขยายออกไป ตอนนี้ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ก็คล้ายๆ กันแบบนี้"
ศ.ดร.เอนก ชี้ว่า นคราขยับไปอีก ไปโตเพราะการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย 20 ปีที่ผ่านมา เมืองเหล่านี้เกิดคู่การกับการกระจายอำนาจ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่วันนี้ไม่ใช่เรื่องของชนบทแล้ว เป็นการทำงานในเมืองเป็นหลัก แต่คนที่ทำจะสนใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน บอกไม่ได้
“นคราภิวัฒน์เกิดการท่องเที่ยวของไทย เป็นอาหารจานหลักของเศราฐกิจไทย เศรษฐกิจเวลานี้ 20% เป็นรายได้จากการท่องเที่ยว ใหญ่มาก ทำให้เราเกิดเมืองระดับโลก เช่นเมืองกรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา เมืองของเรา รับแขกต่างประเทศปีละหลายสิบล้านคน เป็นนครที่มีคนเดินทางจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก มากกว่า ลอนดอน นิวยอร์ก สิงคโปร์ โตเกียว”
เมื่อเมืองเบ่งบาน การบริหารจัดการต้องไปทางไหน
ศ.ดร.เอนก ชวนมองว่า ถ้าเราดูวิธีบริหารเมือง มหานคร เราคาดไม่ถึงว่าจะมีนคราภิวัฒน์ที่เบ่งบานขนาดนี้ เราไม่ค่อยได้วางแผน ไม่ได้ทำเป็นระบบที่ดีมากนัก หน่วยงาน กรมทางหลวง การท่าอากาศยาน กรมรถไฟ หรืออื่นๆ มีส่วนช่วยกันวางแผนหรือไม่ หรือทั้งหมดเกิดขึ้นเอง
“เราไม่มีกระทรวงที่สร้างเมืองอย่างมีแผน มีการวางผังดี การเกิดขึ้นของเมืองในประเทศไทยจึงเกิดแบบของเรา คือวางแผนไม่ได้ตามแผน เราคิดจะสร้างเมืองไปอุตสาหกรรม กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว จากเดิมที่มองว่า การท่องเที่ยวของเราไม่มีอนาคต จากที่ไม่ตั้งใจ กลายเป็นอนาคตของเราได้”
ศ.ดร.เอนก กล่าวติดตลก โดยให้แง่คิดว่า "อยู่เมืองไทย อย่าสนใจวางแผน ต้องสนใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง มีอะไรที่เราคาดไม่ถึงอีกมาก เราบริหารเมืองไม่ได้เป็นแบบนานาอารายะ อย่างเมืองต่างประเทศ ที่เน้นการบริหารโดยองค์กรท้องถิ่น อย่างเช่น เมืองวอชิงตันดีซี ที่บริหารโดยองค์กรท้องถิ่น ไม่ใช่มาจากรัฐบาลกลาง แล้วมาดูประเทศไทยเรามีผู้ว่าฯ ก็จริง แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเราบริหารเมืองโดยใช้ราชการเป็นส่วนกลาง และมีส่วนภูมิภาคลงมาบ้าง คนในท้องถิ่นมีโอกาสน้อยในการสร้างเมือง แม้ว่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หากกล่าวโดยสรุปจริงๆ เราโตจากส่วนกลางมากกว่าภูมิภาค"
ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ ศ.ดร.เอนก ชวนมองคือ ตอนนี้เรามีชานเมืองที่มีสำนึกว่า อยากสร้างบ้านแปงเมืองด้วยตัวเอง และเวลานี้ก็จะขยายตัวเรื่อยๆ
นคราภิวัฒน์ต้องมองอะไร
ศ.ดร.เอนก กล่าวอีกว่า ถ้าพูดถึง นคราภิวัฒน์ ประเด็นแรกคือ การพัฒนาการเมือง ปฏิรูปการเมือง ต้องคิดที่ทำให้เมือง นคร กรุง เป็นพื้นที่ที่มีบทบาท มีความคิดริเริ่ม มีความสร้างสรรค์ของตัวเองใหม่มากขึ้น การพัฒนาประเทศของเรา การปฏิรูประบบราชการของเราน้อยครั้งจะเกิดจากพื้นที่ ส่วนใหญ่เกิดจากกรมมากกว่า เป็นการทำงานแบบ “กรมมาธิปไตย”
“เมืองชายแดนของไทย มีอะไรที่พิเศษและวิเศษ ไม่มีประเทศไหนที่ทุกภาคเป็นเมืองชายแดน เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เมืองชายแดนของเรา มีความสามารถ ริเริ่มอะไรเป็นพิเศษที่จะทำให้เมืองชายแดนเติบโต โดยไม่ต้องขึ้นกับกรม กระทรวงมากนัก แต่คิดไม่ได้ เพราะเราคิดจากกระทรวง”
ศ.ดร.เอนก บอกว่า จังหวัดเป็นเพียงภาคสนามของส่วนกลาง แต่นั่นก็พาประเทศไทยมาถึงวันนี้ แต่ถ้าแก้ไขจะดีกว่านี้ เมืองพิเศษการท่องเที่ยวต่างๆ เช่นเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ถ้าปล่อยให้บริหารแบบนี้ ก็พอทำได้ แต่ถ้าจะหากินกับการท่องเที่ยวมากกว่านี้ต้องเปลี่ยน เพราะถ้าไม่เปลี่ยนจะไม่มีอะไรโดดเด่น เหมือนเครื่องบินใบพัด ที่ใส่ใบพัดเพิ่มไปเรื่อยๆ
กรมมาธิปไตยนำพาไม่รอดในยุคใหม่
ศ.ดร.เอนก ระบุว่า วันนี้เราไม่มีข้าราชการภูมิภาคที่แท้จริง แต่ละจังหวัดของคนของกรมที่ส่งลงมา “กรมมาธิปไตย” เราปกครองโดยไม่มีพื้นที่ให้ท้องถิ่น ท้องถิ่นเป็นพื้นที่เป็นเพียงภาคสนามของกรม เวลาฝนตก น้ำท่วมแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนต่างถิ่นที่ลงมาทำงานไม่รู้ว่า แม่น้ำของเมืองเป็นอย่างไร
“ทำไมย้ายผู้ว่าฯ บ่อย เป็นผู้ว่าฯ ไม่ถึงปีจะไปพัฒนาจังหวัดอย่างไร เพราะฉะนั้นวิธีที่จะแก้ปัญหาทำได้หลายวิธี เช่น หากเราอยากรักษาจังหวัด ต้องบอกว่า ผู้ว่าฯ ต้องอยู่อย่างน้อย สองปีเป็นต้น หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่อย่างน้อยอยู่ครบเทอมแน่ๆ อย่างเช่นกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความต่อเนื่อง ฉะนั้นเรื่องผู้ว่าฯ ควรมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าจะทำจริงๆ มีโอกาสได้ทั้งนั้น เราอาจเลือกบางจังหวัดลองทำก่อน แต่พอบอกว่าเลือกตั้ง ข้าราชการไม่ค่อยพอใจถ้าให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ถ้าบอกข้าราชการเกษียน แล้วไปบอกว่า ลงเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ก็จะพอใจ
ดังนั้นเราไปฟังความพอใจากส่วนบุคคลไม่ได้ ในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยังพอทำอะไรได้เยอะ แต่ถ้าปฏิรูปเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองเราจะไปได้ไกลกว่านี้ ฉะนั้นถ้าจะส่งเสริมเศรษฐกิจในต่างจังหวัด ให้คนในพื้นที่ทำ บ้านเมืองจะได้ไม่น้อย เพราะว่าเขารู้เรื่องพื้นที่มากกว่าเรา ข้าราชการ
ในประเทศจีน เวลาบอกว่าเป็นข้าราชการของมณฑล ก็จะเป็นคนของคนที่นั่นจริงๆ ประธานาธิบดี รัฐมนตรีมากจากผู้ว่าการมณฑลมาก่อน ต้องฝึกมาจากการเป็นผู้บริหารขนาดย่อมก่อน ซึ่งขนาดย่อมคือร้อยล้านคนนโยบายสาธารณสุขในต่างประเทศ เป็นของเมือง ของรัฐนั้น เรื่องการศึกษา สาธารณสุข เมืองทำเองทั้งหมด ดูประเทศไทย รัฐบาลทเองหมด นโยบายสาธารณสุข การศึกษาเป็นของรัฐบาล อย่างไปดูงานที่ญี่ปุ่น เจอห้องแลปวัดค่ามลพิษของเมือง ทันสมัยมากเราคิดว่าเป็นงานของกระทรวงวิทย์ฯ แต่จริงๆ เป็นงานของเทศบาลเมือง ประเทศเราแปลกประหลาด พัฒนาโดยใช้รัฐบาลทำ"
พลังท้องถิ่นแข็งแรง ยั่งยืนกว่า
ศ.ดร.เอนก มองว่า การท่องเที่ยวของเรา เกิดจากอะไรที่รัฐบาลไม่ได้บริหาร การท่องเที่ยวของเชียงรายเกิดขึ้นเองของมัน หรือสถานที่ฮิตๆ ที่อื่นก็เกิดขึ้นเอง ก่อนที่รัฐจะรู้เสียอีก
“เรามาได้ไกลขนาดนี้ได้อย่างไร ถ้าดูในระบบบริหาารราชการแผ่นดิน เราจะงงว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”
ศ.ดร.เอนก วิเคราะห์ถึงวัฒนธรรมของเรา คือการปรับตัวได้ตลอดเวลา จนชาวบ้านรู้เรื่องการท่องเที่ยวก่อนรัฐบาล รู้เรื่องโลกาภิวัฒน์ก่อนส่วนกลาง ชาวบ้านรู้เรื่องสังคมสูงอายุก่อนพวกเราในเมือง ถ้าจะคิดเรื่องการสร้างบ้านสร้างเมืองต้องยึดกับพลังเป็นจริง ที่ไม่ใช่พลังทางการ การบริหารอะไรที่ทำเป็นทางการ ไม่ค่อยได้ผล
ยกตัวอย่างเช่น อสม. เป็นอะไรที่วิเศษมากในตอนต้น เกิดขึ้นด้วยตัวเอง แต่พอรัฐลงไปจัดเข้าระบบทางการ มีเงินเดือน พลังก็ลดลงไป
ชาวบ้านผู้สร้างบ้านแปลงเมืองที่แท้จริง
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า ผู้สร้างบ้าน แปงเมืองคือชาวบ้าน เป็นทรัพยากรที่มีค่ามาก ในขณะที่สภาพความจริงในตอนนี้ในระดับประเทศ เราห่วงว่า หลังการเลือกตั้งประเทศจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจของชาติจะโตได้ 3.8% ตามที่สภาพัฒน์ฯ บอกไหม แต่หากไม่มองเป็นประเทศ มองแค่เมือง เราจะเห็นอนาคตค่อนข้างสดใส ยกตัวอย่างเช่น อุดรธานี เป็นจังหวัดที่สวยมาก และอุดรฯ มีพลังทางเศรษฐกิจสูงมาก ทุกเช้ามีรถออกไปลาวเยอะมาก ถ้ามองอุดรฯ อย่างเดียว จะมีอนาคตที่ดีกว่าภาพใหญ่ของประเทศ หรือไปดูที่เชียงคานก็ดี หรือที่แม่สอด ตอนนี้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวของชาวย่างกุ้ง ที่มาช้อปปิ้ง รักษาพยาบาล
“ถ้ามองประเทศไทยเราเห็นอนาคตไม่มาก แต่ในระดับท้องถิ่น เราเห็น เมืองของเราขโมยโต ขโมยสร้างสรรค์ จะเห็นว่า เมืองไปของมันเองได้ เมืองต่างๆ ที่พูดมาเป็นเมืองที่นำมาประเทศ เป็นเมืองที่ไม่เป็นทางการนำประเทศ นายกเทศมนตรี นายกอบจ. เมืองหลายแห่ง เก่งในระดับประเทศ ระดับโลก เพราะฉะนั้น คิดว่า ในการปฏิรูปการเมือง นคราภิวัฒน์ เป็นพลังที่สำคัญ กระบวนการรักษ์บ้าน สร้างบ้านแปงเมือง สร้างบ้านสร้างเมือง มันจะช่วยเสริมสร้างจิตใจ ยกระดับจิตให้ประชากรของเมืองนั้นเป็นคนของเมืองจริงๆ เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนชาวเมืองปกครองตนเอง การกระจายอำนาจ ไม่ได้ทำเพื่ออปท.เอง แต่ทำให้ส่งพลังในประชาชน เกิดเป็นเศรษฐกิจ”
เมื่อไม่สามารถรอรัฐส่วนกลางได้
ศ.ดร.เอนก อธิบายว่า ในระหว่างที่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคช่วยเราไม่ได้ เราต้องใช้ท้องถิ่นช่วยเหลือชาวเมืองมากแต่ไม่ใช่ท้องถิ่นอย่างเดียว ต้องประสานร่วมมือ ผู้ที่มีเมืองเป็นหัวใจ ผู้ที่รู้ประวัติศาสตร์ของเมือง เป็นคนของเมือง ต้องทำให้เมือง นคร กรุง เป็นบ้านของเรา เราต้องรู้สึกอินกับเมือง หรือนครของเรา สร้างการเมืองใหม่ การเมืองภาคประชาชน เป็นการเมืองของนครและกรุง เกิดจากความรัก ความภาคภูมิใจในเมืองของตัวเอง
“เรามีชาตินิยมเกือบจะอย่างเดียว เรารักชาติ หลายชีวิจจบลงเพื่อพลีกายให้ชาติ แต่สิ่งที่ขาดไป คือความรักที่มีต่อเมือง เพราะว่า เราไม่มีประวัติศาตร์ของเมือง ทำให้พลังไม่แข็งแรง เราเรียนแต่ประวัติศาสตร์ชาติ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เมือง นครกรุง อยู่แบบไม่สมบูรณ์ ไม่ได้ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ”
ศ.ดร.เอนก กล่าวถึงนคราภิวัฒน์กับการปฏิรูป ไม่จำกัดแค่ชาติอย่างเดียว จะต้องสนใจเมือง นคร และกรุงให้มากขึ้น ต้องสร้าง “เมืองนิยม” ต้องสร้างความภูมิใจต่อเมือง เชิดชูเมืองให้มากกว่านี้ จะมีเพียงวงเวียน ไฟฟ้า สวนสาธารณะ โรงเรียน ไม่พอ ต้องมี "ใจ" ของเมืองด้วย
“การปฏิรูป ถ้าคิดแบบฝรั่งก็คิดได้ รัฐเป็นคนคิด ผู้นำเป็นคนทำ ผมอยากให้เสริมการคิดรูปแบบการปฏิรูป ที่ต้องเปลี่ยนจากภายในด้วย ถ้าเราไม่มีจิตใจที่งดงาม เราจะปฏิรูปให้ดีงามด้วย เราต้องสร้างจากจิตที่บริสุทธิ์ที่สุด เป็นจิตที่เข้มงวดตัวเอง ปัญหาที่ไม่แน่ใจว่าเป็นที่ตัวเรา หรือสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยให้เราต้องคิดว่าเรามีส่วนด้วย ถ้าคิดว่าทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมใสะอาด เราต้องมีส่วนในการไม่ทิ้ง ไม่ต้องรอว่า ให้ใครทำ ถ้าทำแบบนี้ได้ เมือง มหานคร ก็จะเป็นหน่วยปฏิรูป หมายถึงเริ่มจากหน่วยเล็กๆ" ...