วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงิน
จากหลักการและเหตุผลและในร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาและวิเคราะห์ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
ข้อ 1 เป็นการตรากฎหมายที่เป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตามมาตรา 25,26 และมาตรา 37 ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่
ตามหลักการและเหตุผลและสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลที่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม กล่าวคือไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้นๆไว้ด้วย แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดสาระสำคัญที่จะต้องระบุไว้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
ข้อ 2 เป็นละเมิดการใช้กรรมสิทธิ์ของเจ้าของทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 ที่บัญญัติไว้ดังนี้
“ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือเอาไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 13 เมื่อกรมบัญชีกลางได้นำเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวนำเข้ามาไว้ในบัญชีเงินคงคลังแล้วและในกรณีที่บุคคลผู้มีสิทธิเรียกร้องหรือทายาทขอรับเงินคืน จะงดให้ดอกเบี้ยกับผู้มีสิทธิและยังมีภาระรับผิดชอบในค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการจ่ายเงินนั้นอีกด้วย เพียงเท่านี้ก็ขัดกับหลักการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว มิพักจะต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆอีก ถ้าจะอ้างอำนาจพิเศษตามกฎหมายฉบับนี้ ก็จะต้องดำเนินการให้เข้าเงื่อนไขที่จะตราได้ตามรัฐธรรมนูญตามที่กล่าวมาแล้วในข้อ 1 เสียก่อน
ข้อ 3 ขัดต่อหลักการและเจตนารมณ์ของกฎหมายเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ในการจัดระบบการควบคุมเงินแผ่นดิน ว่าด้วยเงินคงคลังให้รัดกุม เพราะเงินคงคลังเป็นส่วนหนึ่งของเงินแผ่นดิน แต่เงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเงินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน มิใช่เป็นเงินแผ่นดินตามมาตรา 140ของรัฐธรรมนูญปี 2560และตามกฎหมายเงินคงคลังพ.ศ.2491 การนำเงินดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการบริหารเงินคงคลังตามที่กำหนดไว้ในหลักการเป็นข้อความที่กำกวม ไม่มีมาตราใดในร่างกฎหมายฉบับนี้บัญญัติรองรับไว้ จึงไม่ทราบแน่ชัดว่ามาใช้ประโยชน์ในด้านใดมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร
อนึ่ง การเก็บรักษาเงินคงคลังในบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ 1 ที่เปิดไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตามกฎหมายเงินคงคลังเป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวันซึ่งกระทรวงการคลังมีไว้เพื่อประโยชน์แห่งมาตรา 4 กล่าวคือบรรดาเงินทั้งปวงของส่วนราชการต่างๆต้องนำส่งเข้าบัญชีที่ 1 โดยไม่หักเงินไว้เพื่อการใดๆเลย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น
ในปัจจุบัน มิได้มีการแยกส่วนที่เป็นเงินในงบประมาณของรัฐที่แท้จริงเพื่อจะจัดสรรใช้จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ออกต่างหากจากส่วนที่เป็นเงินนอกงบประมาณของผู้อื่นที่กระทรวงการคลังมีข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายคืนทันที แต่เมื่อรวมกันไว้ในบัญชีที่ 1 ที่ธปท. จึงอาจทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะการคลังของรัฐที่แท้จริง
กล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำเงินฝากที่เป็นของเอกชนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเข้ามาฝากรวมไว้ในบัญชีเงินคงคลังตามร่างมาตรา 12 จะยิ่งทำให้เกิดภาพลวงของจำนวนเงินคงคลังและจะก่อให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาดในการใช้จ่ายเงินคงคลังกล่าวโดยเฉพาะในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังที่ได้เคยผิดพลาดมาแล้ว
ข้อ 4 การที่ให้กรมบัญชีกลางที่เป็นหน่วยงานนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนในสังกัดกระทรวงการคลัง มีหน้าที่เฉพาะตามขอบเขตวัตถุประสงค์ควบคุมดูและการรับจ่ายเงินแผ่นดิน ตลอดจนจัดทำบัญชีการเงินของแผ่นดินเท่านั้น จึงไม่มีอำนาจบริหารจัดการเงินฝากที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินเพราะไม่อยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของกรมบัญชีกลางตามกฎหมายจัดตั้ง กรมบัญชีกลางจึงไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ในกรณีนี้
อนึ่ง การตรากฎหมายฉบับนี้จะต้องดำเนินให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดไว้ทุกวรรค มิใช่เพียงแค่การเปิดรับฟังความเห็นทางเว็บไซต์เท่านั้น เพราะหลักการดังกล่าวนี้ยังไปเจือสมกับ
แนวความคิดของกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตรที่จะแก้ไขกฎหมายเงินคงคลังและกฎหมายธปท.โดยจะนำเงินคงคลังไปลงทุนหาผลประโยชน์เช่นดอกเบี้ยโดยอ้างว่าเงินคงคลังมีจำนวนมากเกินไปและไม่อาจนำไปหาผลประโยชน์ได้ใช่หรือไม่ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก design-police.comdesign-police.com