กฤษฎีกา ขีดเส้นอำนาจกทท.ล้วงเงินกองทุนพัฒนากีฬาฯสร้างสนามแข่งจัดซีเกมส์ปี 62
ชี้ขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ได้โดยตรงอยู่แล้ว! กฤษฎีกา ขีดเส้นอำนาจ 'กทท.' ล้วงเงินกองทุนพัฒนากีฬาฯสร้างสนามแข่งจัดซีเกมส์ปี 62 ระบุชัดกม.ไม่ได้บัญญัติใช้จ่ายเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน-สิ่งก่อสร้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่าเมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณี การกีฬาแห่งประเทศไทย ขอหารือกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2560 มีมติเห็นชอบในหลักการที่ให้การกีฬาแห่งประเทศไทยตัวเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 พ.ศ. 2562 ส่วนแหล่งที่มาของเงินตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่จะใช้ในการจัดการแข่งขันดังกล่าว สามารถนำงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มาใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันดังกล่าว ได้หรือไม่ อย่างไร เนื่องจากสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือถึงประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเพื่อก่อสร้างสระว่ายน้ำและสระกระโดดน้ำมาตรฐานแข่งขัน พร้อมอัฒจันทร์ อุปกรณ์กีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช้พื้นที่ก่อสร้างในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทย รวมค่าดำเนินการทั้งสิ้น 357,439,000 บาท โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้
ฝ่ายที่หนึ่งมีความเห็นว่า มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ ดังนั้น ในเบื้องต้นจึงเห็นควรให้การกีฬาแห่งประเทศไทยขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณประจำปีตามปีงบประมาณของทางราชการ
ฝ่ายที่สองมีความเห็นว่า มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 บัญญัติให้เงินกองทุนใช้จ่ายเพื่อกิจการดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ หรือ (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักกีฬาบุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ซึ่งทั้งสองอนุมาตรามีความหมายของการดำเนินงานที่หลากหลาย ก็อาจจะสามารถดำเนินการเรื่องการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬาได้ แต่อย่างไรก็ตามควรสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในการส่งเสริมการกีฬา หรือสำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สำหรับการกีฬา รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะที่รับผิดชอบการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอหารือความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ จะมีนโยบายหรือจะกำหนดกฎหมายในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ อย่างไร หรือหากมีความเห็นอื่นใด ได้โปรดเสนอแนะต่อการกีฬาแห่งประเทศไทยด้วย
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาข้อหารือของการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีความเห็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติจะให้เงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ อย่างไร เห็นว่า มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติขึ้นในการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือและจัดสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา ส่วนการใช้จ่ายเงินของกองทุนต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งตามมาตรา 42 ดังกล่าว สามารถแยกลักษณะของการนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ (1) เพื่อการดำเนินกิจกรรมกีฬา (2) เพื่อตัวนักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา โดยการพัฒนานักกีฬา การเตรียมนักกีฬา การสนับสนุนเงินรางวัล การสนับสนุนทุนการศึกษา และการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และ (3) การส่งเสริมสนับสนุนกีฬามวยและกีฬาอาชีพ ซึ่งจากลักษณะของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 42 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้มีการใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อประโยชน์ของตัวนักกีฬาและบุคลากรกีฬาเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้างได้โดยตรงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี การที่จะนำเงินกองทุนบางส่วนไปใช้ในกรณีดังกล่าว เช่น ใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างศูนย์ช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุจากการกีฬา สถานพยาบาลในสนามกีฬา หรือสระว่ายน้ำสำหรับบำบัดฟื้นฟูนักกีฬาและบุคลากรกีฬา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้จ่ายเงินกองทุน ก็ย่อมอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จะพิจารณาให้ใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักและภาระของกองทุน รวมทั้งต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติประกาศกำหนดด้วย
อนึ่ง ในเรื่องของการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรือการลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง มาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินหรือขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งในการดำเนินการสำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่ได้โดยตรงอยู่แล้ว
ประเด็นที่สอง กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติสามารถให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันดังกล่าว ได้หรือไม่ อย่างไร นั้น
เห็นว่า ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวนั้น มีกิจกรรมทั้งที่เกี่ยวกับกีฬาและนักกีฬาโดยตรง และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาดังกล่าวหลายประการ เช่น การให้รางวัลหรือสิทธิประโยชน์แก่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน การปรับปรุง ซ่อมแซม หรือสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นบ้านพักนักกีฬาและบุคลากรกีฬาในระหว่างการจัดการแข่งขัน หรือการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการจัดการแข่งขัน เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานั้น มีทั้งกิจกรรมที่อยู่และไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และลักษณะการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ดังนั้น ในการพิจารณาให้การสนับสนุนเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จะต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ตามที่ได้ให้ความเห็นไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่ง
(ดูความเห็นฉบับเต็ม ที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2560&lawPath=c2_1342_2560-1343_2560)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก คมชัดลึก