18 ปี ป.ป.ช. รู้กันหรือยังขั้นตอนการสอบทุจริตทำอย่างไร
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน นับเป็นอีกหนึ่งเนื้อร้ายที่กำลังกัดกินประเทศไทยอยู่นับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ทำให้ชาติเสียหายไปแล้วว่ากันว่าหลายแสนล้านบาท กระทั่งนับตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา ปัญหาเหล่านี้ถูกนำมาพูดถึงอย่างจริงจัง มีการตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายหน่วยงาน เพื่อนำหน้าที่ตรวจสอบปัญหาดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นอีกหนึ่งองค์กรตรวจสอบสำคัญที่ถูกแปลงโฉมมาจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นภายในประเทศนี้ กระทั่งปี พ.ศ.2542 ถูกปรับโฉมใหม่เป็น ‘องค์กรอิสระ’ นามว่า ป.ป.ช. จนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่การแปลงโฉมเมื่อปี พ.ศ.2542 สำนักงาน ป.ป.ช. ผ่านการบริหารงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาแล้วถึง 6 ชุด แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาแล้ว 3 ฉบับ ปรับเปลี่ยนวิธีการตรวจสอบ หรือเพิ่มมาตรการป้องกัน-ปราบปรามให้รัดกุม-เข้มงวดขึ้นตามลำดับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า องค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริตของประเทศนี้ และมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมตั้งแต่ข้าราชการ ไล่มาจนถึงนักการเมือง รัฐมนตรี แม้แต่นายกรัฐมนตรี ก็หนีไม่พ้นการตรวจสอบ รวมไปถึงใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการบัญญัติโทษเอาผิดเอกชนที่สนับสนุนเรื่องสินบนด้วย
ที่ผ่านมาหลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จึงล่าช้า หรือมีหลายขั้นตอน ข้อเท็จจริงคือ สำนักงาน ป.ป.ช. มีกระบวนการตรวจสอบ 2 ขั้นตอน ได้แก่
1.ชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น โดยขอทราบข้อเท็จจริง หรือเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง การสอบพยาน การลงพื้นที่เกิดเหตุ เป็นต้น หากแสวงหาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่า จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง หากมีมูลแต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบ ให้ส่งหน่วยงานอื่นดำเนินการ หรือหากมีมูล และอยู่ในอำนาจตรวจสอบ จะเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป หากเป็นคดีใหญ่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 ราย จะเป็นองค์คณะไต่สวน รองลงมาเป็นองค์คณะไต่สวน โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน หากคดีเล็กกว่านั้น จะแต่งตั้งพนักงานขึ้นมาไต่สวน ตามลำดับ
2.ชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะต้องพิสูจน์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกร้องเรียน กระทำความผิดจริงหรือไม่ เบื้องต้นเริ่มจากแจ้งคำสั่งถูกไต่สวนข้อเท็จจริงให้ทราบ หลังจากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หลังจากนั้นจะมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หาพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือหากมีการอ้างพยานหลักฐานอ้างอิงต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนจะสรุปสำนวนเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาว่ามีมูลความผิดตามที่ถูกร้องเรียนจริงหรือไม่ อย่างไร ในกระบวนการยุติธรรมต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่ในการต่อสู้คดี ได้แก่ การขอขยายเวลารับทราบข้อกล่าวหา ขอเพิ่มเติมพยานหลักฐาน ขอคัดค้านพนักงานไต่สวน เป็นต้น ล้วนมีผลกระทบต่อระยะเวลาในการทำคดีทั้งสิ้น
ที่ผ่านมาจะสังเกตได้ว่ารัฐบาลที่ยิ่งครองอำนาจยาวนาน จะยิ่งมีโอกาสถูกร้องเรียนมากขึ้นเช่นกัน โดยมีหลายคดีที่มีการกล่าวหาร้องเรียนนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ แล้วพบว่า บางเรื่องมีมูลความผิดจริง และคดีจบไปแล้ว เช่น คดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกล่าวหา คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยเป็นการทุจริตที่มีอดีตรัฐมนตรี และอดีตข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับกลุ่มเอกชนนำข้าวมาเวียนขายในประเทศ โดย 2 คดีดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไปแล้วหลายราย
และมีอีกหลายกรณีด้วยกัน ที่พบว่า แม้จะมีการร้องเรียนจนถึงขั้นตอนไต่สวนข้อเท็จจริง แต่ท้ายสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ไม่มีมูลความผิด เช่น คดีบริหารจัดการน้ำผิดพลาดเป็นเหตุให้น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ.2554 มีการร้องเรียน อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีหลายราย และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วว่า เป็นเรื่องภัยพิบัติ ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ดังนั้นจึงเป็นเกิดจากความบกพร่องของใคร ข้อกล่าวหาไม่มีมูล หรือแม้แต่คดี เป็นต้น
นอกจากคดีสำคัญๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ไม่มีมูลตามที่ถูกกล่าวหาหรือร้องเรียน เช่น คดีอดีตนายกรัฐมนตรีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่สั่งการให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างที่มีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้ว หรือคดีระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่มีการกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายราย ที่มีมติตีตกข้อกล่าวหาไปแล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นอีกบรรทัดฐานสำคัญว่า ไม่มี สองมาตรฐานตามที่บางฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 เป็นต้นมา สำนักงาน ป.ป.ช. ปรับกระบวนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ไต่สวนรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่สำนวนต้องรัดกุมสมบูรณ์เหมือนเดิม มีวัตถุประสงค์เพื่อสางคดีเก่าที่ค้างอยู่หลายพันคดี จากสถิติการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2559-2560 ที่ผ่านมา เห็นได้ว่า มีคดีที่ดำเนินการเสร็จแล้วสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 1.5 เท่า โดยในปี พ.ศ.2559 มีเรื่องแสวงหาข้อเท็จจริงที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,586 เรื่อง ชั้นไต่สวนข้อเท็จจริง 363 เรื่อง รวม 2,949 เรื่อง เทียบกับปี พ.ศ.2560 ที่แสวงหาข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ 3,931 เรื่อง และไต่สวนข้อเท็จจริง 407 เรื่อง เบ็ดเสร็จ 4,167 เรื่อง
ในโอกาสครบรอบ 18 ปี สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ในช่วงดำเนินการจัดทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ รวมไปถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ร่วมกับรัฐบาล นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับการป้องกันและปราบปรามทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต’ หรือ Zero Tolerance & Clean Thailand ตามที่ทุกคนในชาติฝันไว้ให้เป็นความจริง
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก thairath.co.th, bangkokbiznews.com, pantip.com