ก้าวสู่ปีที่ 19 ป.ป.ช. น้อมนำหลัก “พอเพียง-จิตอาสา” เป็นพื้นฐานสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พสกนิกรชาวไทย ร่วมใจน้อมถวายความอาลัย อย่างมืดฟ้ามัวดิน
หลังจากเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีฯ วันนี้คนไทยได้เปลี่ยนความเศร้า ความคิดถึง ความอาลัย เป็นพลังแผ่นดิน และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธาน ตามคำสอนของพ่อ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานไว้ให้ปวงชนชาวไทย ซึ่งไม่เคยล้าสมัยไปตามกาลเวลา
พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2528 ที่ว่า
“ความเจริญจะเกิดขึ้นได้ ย่อมต้องอาศัยเหตุปัจจัยประกอบกันหลายอย่าง นอกจากวิทยาการที่ดีแล้ว จะต้องอาศัยความยุติธรรมเที่ยงตรงและความสะอาดสุจริต ซึ่งต้องเป็นไปพร้อมทั้งในความคิดและการกระทำ”
และจากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในโอกาสเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2546 ความว่า
“…ภายในเวลา 10 ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญ คือ ต้องหยุดการทุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง…”
นอกจากนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเริ่มต้นทดลองการทำ “เศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่ปี 2507 จนได้แนวคิดปรัชญา “3 หลักการ 2 เงื่อนไข” ได้แก่ “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” ภายใต้เงื่อนไข “ความรู้ควบคู่คุณธรรม” ที่หมายถึง “ซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น อดออม”
แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ต่างชาติยกย่องพระองค์ เป็นปราชญ์ของประเทศ “พระองค์แสดงให้เห็นจากแนวคิดนี้ ว่า บ่อเกิดของการคอร์รัปชันส่วนมากมาจากความโลภของบุคคล และการเป็นผู้นำที่มีชีวิตเรียบร้อยเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นหนทางในการป้องกันคอร์รัปชัน”
และที่สำคัญ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” โดยมีหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ และหน่วยราชการอื่น ๆ และประชาชนจิตอาสา ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ อันเป็นการทำความดีด้วยหัวใจ เพื่อถวายพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้มีการดำเนินการเป็นต้นแบบไปแล้วเมื่อวันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2560
จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และโครงการในพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ล้วนมีการสอดแทรกเรื่องการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต ความพอเพียง จิตอาสา และการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงตนที่ดี จึงถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ต่อวงการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ขณะเดียวกันในความพยายามของรัฐบาลเอง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 69 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีสาระสำคัญ
“ให้ทุกภาคส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ กำหนดมาตรการหรือแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งเน้นการสร้าง ธรรมาภิบาลในการบริหารงาน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการตรวจสอบ เฝ้าระวัง เพื่อสกัดกั้นมิให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบได้”
นี่คือ “เจตนารมณ์ทางการเมือง” (Political Will) ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจตนารมณ์นี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการปราบปรามการคอร์รัปชันที่บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ เพราะจะเป็นทิศทางให้มีการขับเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายที่หวังไว้ จนต่อมาได้มีกลไกการปฏิบัติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ของรัฐบาลอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม
“คอร์รัปชัน” เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรง จนเป็น “วัฒนธรรม” ของส่วนราชการ มีการยกตัวอย่างว่า ราชการต้องมีเงินบริหารพิเศษเพื่อรับรองบุคคลที่มาเยี่ยมเยือน ทั้งที่มาราชการและส่วนตัว บางครั้งนโยบายหรือการสั่งการได้สร้างปัญหาค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปฏิบัติ ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่ขอความร่วมมือจากภาคเอกชนหรือคู่สัญญาของรัฐ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกรับเงินของส่วนราชการ เพื่อใช้ในการรับรองและค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากงบประมาณ ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายแล้วเป็นการประพฤติ “มิชอบ” ด้วยการเรียกรับ “สินบน”
เมื่อพูดถึง “ประพฤติมิชอบ” นักการเมืองที่เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายคนไม่ค่อยให้ความสนใจ และมักพูดว่า “กฎหมายไม่ได้ห้าม” แต่เมื่อดูในประมวลกฎหมายอาญาได้ให้นิยามว่า “ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ คำสั่งผู้บังคับบัญชา มติคณะรัฐมนตรี แบบธรรมเนียมของทางราชการ หรือตามทำนองคลองธรรม” ซึ่งหมายถึง ไม่เป็นไปตามที่ถูกที่ควร ทำให้ฐานความผิดนี้ มีความหมายกว้างมาก จึงมีการกระทำผิดกันทั้งรู้และไม่รู้ว่า “ผิด”
ยิ่งเมื่อมีการหาเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติราชการได้ สิ่งที่ตามมา คือ การเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง อันมีสาเหตุมาจาก “ความโลภ” ที่ฝังอยู่ในใจของคนก็เกิดขึ้น โดยอ้างว่า “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” และไม่มีการลงโทษกันอย่างจริงจังจนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างที่เห็นเชิงประจักษ์ในปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นคนที่ “เคยดี” ต้องมาเสียคนเมื่อมีอำนาจรัฐในมือ เผลอไผลใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งเป็นต้นตอของการทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นอย่างที่เห็น ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะผู้ผสานพลังกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนสร้างค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ความพอเพียง จิตอาสาและการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ได้มีการกำหนดให้มีการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเครื่องมือต้านทุจริตโดยกำหนดไว้ในกลยุทธ์ที่ 3 ของยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 (พ.ศ.2560 - 2564)
และในโอกาสวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ช. ครบรอบ 18 ปี ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “18 ปี ป.ป.ช. มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต”
กิจกรรมดังกล่าว แบ่งออกเป็น วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ช่วงเช้าเป็นพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีพราหมณ์สักการะบูชาพระภูมิ – เจ้าที่
ส่วนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ช่วงเช้า เป็นกิจกรรมทำบุญตักบาตร การต้อนรับผู้ร่วมแสดงความยินดี การเสวนา หัวข้อ “สะอาด โปร่งใส ภาครัฐร่วมใจ สู่ไทยแลนด์ 4.0” ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นพิธีมอบรางวัล “NACC Awards 2017” แก่บุคคล หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ประกอบด้วยรางวัล 1. โครงการรักชาติถูกทางสร้างเสริมความซื่อสัตย์สุจริต 2. โครงการยกย่องผู้ประพฤติตนชอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 3. รางวัลตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใด ในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 4. รางวัลองค์กรโปร่งใส 5. โครงการประกวดสื่อป้องกันการทุจริต 6. รางวัลช่อสะอาด
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลแก่บุคลากรสำนักงาน ป.ป.ช. คือ 1. รางวัลเพชรน้ำเอก 2. รางวัลสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีผลงานดีเด่น 3. รางวัลการพัฒนาการด้านการนำกรอบการประเมิน ITA ไปประยุกต์สู่การพัฒนา
สำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นองค์กรหลักในการทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม โดยเฉพาะการเชิดชูคนดีให้ปรากฏต่อสังคม จึงขอเชิญชวนประชาชน ร่วมเป็นพลังเครือข่ายช่วยกันป้องกันการทุจริต เริ่มต้นจากครอบครัว ผู้ปกครองต้องปลูกฝัง ให้ลูกหลาน มีความซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ต่อต้านการทุจริต ช่วยกันสอดส่องดูแลโดยพึงระลึกเสมอว่า ประชาชนทุกท่าน เป็นคนสำคัญที่จะทำให้ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต (Zero Tolerance & Clean Thailand)”
และหากพบเห็นการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ให้โทรแจ้งสายด่วน ป.ป.ช. 1205 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ สำนักงาน ป.ป.ช. WWW.NACC.GO.TH หรือสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด
(บทความเพื่อการประชาสัมพันธ์)