วันนี้ของ "อันซีน ลาบู" โฮมสเตย์-ทะเลหมอก ถูกทิ้งร้าง?
โครงการพัฒนาเหมืองลาบู ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่น่าสนใจระดับ Unseen นั้น กำลังถูกตั้งคำถามจากประชาชนในพื้นที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่ เพราะขณะนี้โครงการเหมือนถูกทิ้งร้าง และแทบไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมเลย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ.60 หรือราวๆ 8 เดือนเศษที่ผ่านมา "เหมืองลาบู" ดินแดนที่เคยสงบเงียบกลางหุบเขาที่ ต.ปะแต อ.ยะหา คึกคักและคลาคล่ำไปด้วยผู้คน เมื่อ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 นำทีมปั่นจักรยานจากตัวอำเภอยะหา ระยะทาง 28 กิโลเมตร ไปยังเหมืองลาบู เพื่อเปิดงาน "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ใน อ.ยะหา จ.ยะลา
กิจกรรมในวันนั้น นอกจากการปั่นจักรยานพิชิตเหมืองลาบู ซึ่งนำทีมโดยแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว ยังมีการแข่งขันฟุตซอลคู่พิเศษ ระหว่างทีมรวมวีไอพี กับทีมรวมศิลปินดารา มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม การแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดังของไทยและมาเลเซียด้วย
บุคคลสำคัญในพื้นที่ที่เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้น นอกจากแม่ทัพภาคที่ 4 ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 47 นายอำเภอ และนายกเทศบาลตรีเทศบาลตำบลปะแต เรียกว่าไปกันครบ
การฟื้นฟู "เหมืองเก่า" ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนพื้นที่ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ โดยเริ่มต้นที่ "เหมืองลาบู" ซึ่งเคยเป็นเหมืองแร่ดีบุก มีประวัติความเป็นมายาวนาน เริ่มบุกเบิกโดยชาวออสเตรเลีย เดิมชื่อ "เหมืองฟักทอง" ต่อมา หลวงสุนทรสิทธิโลหะ หรือ นายซุ่นฮวด วัฒนายากร เข้ามาซื้อกิจการต่อ และเปลี่ยนชื่อเป็น "เหมืองแร่ลาบู" ซึ่งแปลว่าฟักทองเหมือนกัน ก่อนจะเลิกกิจการไปเมื่อปี 2535 ทำให้คนงานเหมืองแร่จับจองพื้นที่ใกล้เคียงประกอบอาชีพและสร้างเป็นชุมชนไทยพุทธ ชื่อหมู่บ้านลาบู
แม้การทำเหมืองรอบใหม่จะยังไม่เกิดขึ้น เพราะต้องผ่านการสำรวจความเป็นไปได้ และทำประชาพิจารณ์ ตลอดจนดำเนินการตามขั้นตอนทางราชการอีกหลายประการ แต่พื้นที่โดยรอบหมู่บ้านลาบูมีศักยภาพพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ไม่ว่าจะเป็นจุดชมวิวทะเลหมอกลาบู, ป่าเสม็ดแดง, น้ำตกนกน้อย, ร่องรอยการขุดอุโมงค์เหมืองแร่ดีบุก ฯลฯ โดยจุดชมวิวมีการปักป้าย "ทะเลหมอกลาบู" มีป้ายชี้ไปยังจุดชมวิว เขียนว่า "ลาบู In love" ซึ่งในวันเปิดงาน แม่ทัพภาคที่ 4 กับบุคคลระดับวีไอพี ไปยืนถ่ายรูปร่วมกันด้วย นอกจากนั้นทางราชการยังมีแผนจัดทำ "โฮมสเตย์" ที่ได้มาตรฐาน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามาในอนาคตด้วย
แต่ผ่านไป 8 เดือนเศษ ทีมข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจจุดชมวิวลาบู กลับพบว่าถูกทิ้งร้าง แทบไม่มีนักท่องเที่ยว และไม่มีการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากโครงการของหน่วยงานภาครัฐ
จากการสังเกตด้วยตา พบว่าการปรับพื้นที่เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกมี 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นลานจอดรถ และส่วนที่สองเป็นจุดชมทะเลหมอก โดยทั้ง 2 ส่วนนี้มีเนื้อที่รวมๆ ประมาณ 1 ไร่เศษ ใกล้ๆ กับลานจอดรถมีห้องน้ำ 2 ห้อง แต่อยู่ในสภาพชำรุด ไม่มีประตู บริเวณโดยรอบมีร่องรอยการตัดต้นไม้ และทิ้งขยะประเภทขวดน้ำพลาสติกกับแผ่นไม้ที่เคยใช้ปรับพื้นที่กองไว้เป็นจำนวนมาก
ส่วนบริเวณที่เป็นจุดชมวิว แม้จะยังมีป้ายบอกทาง "ลาบู In love" อยู่ รวมทั้งป้าย "ทะเลหมอกลาบู" แต่ก็อยู่ในสภาพร้าง หญ้าขึ้นรถ ไม่มีนักท่องเที่ยวเลยแม้แต่คนเดียว หากไม่มีป้ายบอกเอาไว้ก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นจุดชมวิว
นายดอเลาะ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้านในพื้นที่ บอกว่า การเปิดจุดชมวิวทะเลหมอกที่เหมืองลาบู นับเป็นโครงการที่ดี แต่ปัญหาคือการดูแลและพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แล้วอย่างนี้จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างไร
"คนคิดโครงการนี้เคยวางแผนบ้างหรือเปล่า หรือแค่คิดโครงการเพื่อดึงงบประมาณมาใช้ แต่สุดท้ายไปไม่รอด งบประมาณก็สูญเปล่า สุดท้ายก็ทิ้งร้างตามเคย" นายดอเลาะ แสดงความรู้สึก
ขณะที่ นายอาแบ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้าน ต.ปะแต บอกคล้ายๆ กันว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะพัฒนาเหมืองลาบูเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพราะมีทั้งน้ำตก ภูเขา เหมืองแร่เก่า และยังมีฐานทหารร่วมไทย-มาเลเซีย หากสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากภายนอกมาได้ ชาวบ้านในพื้นที่ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น
"แต่หลังจากที่มีข่าวการปรับสภาพพื้นที่ และมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่า ทำให้ไม่มีคนเข้ามาเที่ยวเลย วันที่หน่วยงานภาครัฐมาทำพิธีเปิด และบอกว่ามีการปรับพื้นที่นั้น จริงๆ แล้วก็แทบไม่ได้ปรับอะไร เพราะลานกว้างๆ ก็เคยเป็นจุดจอดรถบรรทุกมาก่อน ที่เห็นเปลี่ยนแปลงคือมีห้องน้ำ 2 ห้อง และทำป้ายต่างๆ มาติดไว้เท่านั้น" นายอาแบ ตั้งข้อสังเกต
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของทีมข่าว พบว่า พื้นที่จุดชมวิวทะเลหมอก อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลาบู-ถ้ำทะลุ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคปัญหาข้อสำคัญหากต้องการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป เพราะต้องมีการขออนุญาตตัดไม้บางส่วนเพื่อเปิดพื้นที่เข้าไป
ทีมข่าวยังตรวจสอบพบว่า โครงการ "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" มีการใช้งบประมาณไปไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นงบจากเทศบาลตำบลปะแต และอำเภอยะหา เช่น การจัดจ้างทำวารสารประชาสัมพันธ์โครงการ Unseen Labu 2017 จำนวน 400,000 บาท, การปรับปรุงภูมิทัศน์และปรับพื้นที่กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเหมืองลาลาบู 142,000 บาท, จัดจ้างทำป้ายไวนิล 21,375 บาท, จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ 8,550 บาท, งานป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายบอกสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเหมืองลาบู 98,000 บาท, จัดจ้างประกอบอาหารว่าง เครื่องดื่ม และน้ำดื่ม โครงการ Unseen Labu 2017 จำนวน 22,500 บาท, เช่าเต็นท์ เก้าอี้ เครื่องเสียง พร้อมเวที และตกแต่ง โครงการ Unseen Labu 2017 จำนวน 108,000 บาท เป็นต้น
เฉพาะตัวเลขเท่าที่ตรวจสอบได้ เป็นเงิน 800,425 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ในการจัดงานพิธีเปิดที่แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 ก.พ.60 เพียงวันเดียว
นายชัยชนะ กฤตยานาถ นายอำเภอยะหา ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า โครงการจุดชมทะเลหมอกลาบู เป็นโครงการ "ประชารัฐ" ของอำเภอยะหา โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเทียว ที่ผ่านมาก็มีคนไปเที่ยวอยู่ แม้จะไม่เยอะเหมือนช่วงแรกๆ ที่เปิดโครงการและทำกิจกรรมก็ตาม ขณะนี้กำลังให้ทางเทศบาลตำบลปะแตทำเรื่องขอใช้พื้นที่จากกระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบการพิจารณาอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ
"เหมืองลาบูไม่ใช่ว่ามีแค่จุดชมทะเลหมอกอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ และสามารถท่องเที่ยวได้ ทั้งน้ำตก บ้านโรมันโบราณสมัยเจ้าของเหมืองเก่า รวมทั้งป่าเสม็ดแดง" นายอำเภอยะหา ระบุ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 = ห้องน้ำใกล้จุดชมวิวที่ชำรุดเสียหาย
2-3 = วันเปิดงาน "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" สุดคึกคัก
4-9 = สภาพปัจจุบัน
อ่านประกอบ : "โฮมสเตย์-ทะเลหมอก" ทหารพรานคอฟ้า... ชายแดนใต้เฮฮา-รัฐเชื่อใกล้สงบ