นักกฎหมายจงช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำ หากอยากเดินตามรอยพระบาทในหลวงของปวงชน
"หากพวกเราตั้งปณิธานที่จะกระทำความดีแบบในหลวงของปวงชนสิ่งที่นักกฎหมายทุกคนน่าจะช่วยกันทำได้ทันทีคือการเริ่มสำรวจเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องเราอาจจะเริ่มจากการค่อยๆสังเกตคนจนและคนด้อยโอกาสที่เรียงรายอยู่รอบตัว"
ความเศร้าโศกของสังคมไทยเมื่อได้รับทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นที่เคารพรักยิ่งของประชาชน เป็นเรื่องที่ยากเกินจะบรรยายได้ หลังความสูญเสียครั้งสำคัญนี้ ทุกฝ่ายพยายามแปรเปลี่ยนความเศร้าโศกให้กลับไปเป็นพลังสร้างสรรค์เพื่อให้ปวงราษฎร์แต่ละคนได้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ท่าน ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งดีงามตามศักยภาพที่แต่ละคนจะสามารถกระทำได้
สำหรับผู้เขียนซึ่งถือเป็นนักเรียนกฎหมายและเข้ามาเป็นผู้พิพากษาในรัชกาลที่ 9ได้ตรึกตรองอยู่นานว่าจะทำอะไรเป็นการตอบแทนความดีงามของพระองค์ท่าน หลังจากการถอดรหัสอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ได้พบคำตอบว่า หากอยากจะเดินตามรอยพระบาทในหลวงของปวงชนอย่างจริงจัง คงจะต้องช่วยกันทำงานลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพราะเรื่องนี้เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่พระองค์ท่านได้ทรงทำอย่างจริงจังมาอย่างยาวนาน ผู้เขียนจึงใคร่ขอเชิญชวนนักกฎหมายทุกท่านมาช่วยคิดเรื่องนี้ไปพร้อม กันด้วย
1. ความหมายของความเหลื่อมล้ำ
ความเหลื่อมล้ำมีได้ทั้งในเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่คนกลุ่มหนึ่งขาดโอกาสที่จะเข้าถึงสิ่งที่ควรมีควรได้เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสที่คนอีกกลุ่มสามารถหามาได้โดยง่ายกว่า ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างคนดำกับคนขาว แต่สำหรับสังคมไทย ปัญหาใหญ่น่าจะเป็นเรื่องช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน คนที่มีตำแหน่งยศศักดิ์ คนที่กว้างขวางในสังคม และคนที่มีอภิสิทธิ์ในด้านต่างๆ กับคนที่ไม่มีโอกาสแบบนั้น
ปัญหาความเหลื่อมล้ำของบ้านเรามีทั้งแบบเชิงเดี่ยวและแบบทับซ้อน การด้อยโอกาสในเชิงซ้อนที่เป็นรูปธรรมมีทั้งกรณีเยาวชนจำนวนมากถูกทิ้งขว้างเติบโตอยู่ในชุมชนสลัม ขาดการดูแลด้านสุขภาพ ขาดการศึกษา ทำให้โอกาสที่ดีในชีวิตมีน้อย กรณีคนกลุ่มชาติพันธุ์ขาดบัตรประจำตัวประชาชน ขาดความเจริญในพื้นที่ ก็ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นไปได้ยาก หรือกรณีเกษตรกรขาดที่ดินทำกิน ขาดการชลประทาน ขาดเมล็ดพันธุ์ และขาดความรู้เรื่องระบบจัดการตลาด จึงต้องย้ายถิ่นฐานเข้าไปเป็นคนจนในเมือง ยิ่งเป็นคนด้อยโอกาสที่มีความเปราะบางทับซ้อนหลายเรื่องมากขึ้นเท่าไหร่ ชีวิตก็ลำบากมากขึ้นเท่านั้น
2. ในหลวงของปวงชนกับพระราชกรณีกิจด้านการลดความเหลื่อมล้ำ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ซึ่งแม้ชื่องานของพระองค์ท่านไม่ได้เรียกกันตรงๆ แบบนั้น แต่สิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงดำเนินการจำนวนมาก เป็นไปเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของคนด้อยโอกาสในลักษณะต่างๆ อย่างครบถ้วน พระองค์ท่านทรงให้เงินอุดหนุนตั้งสถานสงเคราะห์แก่ผู้ด้อยโอกาส ทรงหาแหล่งน้ำให้เกษตรกร ทรงสนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และทรงจัดที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ประชาชนจำนวนมากมีที่อยู่ที่ทำมาหากิน มีการพัฒนาอาชีพให้เป็นสัมมาอาชีวะที่ดีแก่ชีวิต สำหรับคนในเมือง พระองค์ท่านก็ทรงช่วยพัฒนาหลายเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการจราจรและระบบขนส่ง งานของพระองค์ท่านเป็นทั้งเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การประกันความเสมอภาคเท่าเทียม และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในเรื่องสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นเรื่องการวางกติกาที่เป็นธรรมหรือหลักนิติธรรมในการพัฒนาแบบต่างๆ และเป็นเรื่องที่สนับสนุนเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งนานาชาติให้การรับรอง
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องการทรงงาน คือ พระองค์ท่านทรงเรียนรู้ร่วมไปกับประชาชน สิ่งใดที่ชาวบ้านทำได้ดีงามตามจารีตครรลองกติกาชุมชนที่เหมาะสม พระองค์ท่านจะทรงช่วยเผยแพร่ต่อยอดให้เติบโตขึ้น ดังตัวอย่างที่ทรงยืนยันการพึ่งพาระหว่างคนและป่า โดยทรงตักเตือนนักกฎหมายให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดการป่า ที่หากไม่ประณีตในการดำเนินการ อาจเกิดกรณีป่าบุกรุกคนก็เป็นได้
ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศาลเด็กและเยาวชนในครั้งแรก พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำรัสว่างานศาลเด็กเป็นงานที่ยากและซับซ้อน เพราะเชื่อมโยงกับงานทางสังคมสงเคราะห์ สวัสดิการ และงานทางการศึกษา การพัฒนาต้องได้รับร่วมมือกันอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสังคมทุกภาคส่วน ไม่มีใครสามารถทำงานสำคัญได้คนเดียว สิ่งที่พระองค์ทรงบุกเบิกจึงมิใช่การเปิดหน้างานใหม่แบบฉาบฉวย หากแต่มีความลึกซึ้งในเชิงเนื้อหาและมีความละเอียดรอบคอบในเชิงกระบวนการ ทรงเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างงานต้นน้ำและปลายน้ำอย่างเป็นองค์รวม ที่มีฐานความรู้แบบสหวิทยาการรองรับ ทรงเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้าน มิใช่เพียงข้าราชการหรือนักธุรกิจ เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินการ ให้ประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชน โดยคำนึงถึงคนเสียเปรียบและด้อยโอกาสมากที่สุดเสมอ และไม่ได้เป็นไปเพื่อสร้างคะแนนเสียงหรือความนิยม
ไม่มีใครรู้ ว่าทำไมในหลวงของปวงชนต้องทรงทำงานหนักเป็นพิเศษเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ประชาชนอาจจะเดากันไปตามความคิดของแต่ละคน ซึ่งคงไม่มีใครทราบคำตอบที่ถูกต้อง ว่าทรงกระทำสิ่งต่างๆ ให้แก่ประชาชน เพราะทรงเชื่อในเรื่องปณิธานของพระโพธิสัตว์ หรือทรงมุ่งมั่นในการมีทศพิธราชธรรมตามรอยพระพุทธองค์ หรือทรงชื่นชมบทบาทของราชาปราชญ์ตามแนวปรัชญาตะวันตก ไม่มีใครเข้าใจเหตุผลที่แท้จริง ว่าทำไมพระองค์ท่านถึงได้ทรงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อทรงพัฒนางานต่างๆ ให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ เหมือนดนตรีแจ๊สของพระองค์ที่อิมโพรไวส์ไปตามท่วงทำนองในแต่ละเหตุปัจจัย เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปในลักษณะต่างๆ แต่มีเป้าหมายเดียวที่แน่วแน่ชัดเจน คือ การขจัดความทุกข์ยากของประชาชน
3. การน้อมนำพระราชปณิธานเรื่องการขจัดความเหลื่อมล้ำไปขยายผลให้กว้างขวางขึ้น
หากพวกเราตั้งปณิธานที่จะกระทำความดีแบบในหลวงของปวงชน สิ่งที่นักกฎหมายทุกคนน่าจะช่วยกันทำได้ทันทีคือการเริ่มสำรวจเรียนรู้เรื่องที่เกี่ยวข้อง เราอาจจะเริ่มจากการค่อยๆ สังเกตคนจนและคนด้อยโอกาสที่เรียงรายอยู่รอบตัว ซึ่งเราเองอาจจะไม่เคยสนใจมาก่อน เราอาจจะต้องออกไปศึกษาเรื่องราวชีวิตของเขา ไปรับฟังความทุกข์ของพวกเขาให้มาก และออกไปช่วยแก้ไขปัญหาให้เขาเหล่านั้นดังเช่นที่พระองค์ได้ทรงกระทำ
เรื่องที่น่าจะทำก่อนออกไปไหนๆ อาจจะเป็นเรื่องการสำรวจอภิสิทธิ์ที่เรามีอยู่เหนือคนอื่นๆ ทั้งด้วยชนชั้น ด้วยอาชีพ ด้วยตระกูล ด้วยชาติพันธุ์วรรณา และการนับถือศาสนา ด้วยเครือข่ายโรงเรียน เครือข่ายสถาบันผู้นำชั้นสูง หรือกลุ่มกิจกรรมสังคม ที่อาจเชื่อมโยงสร้างกลุ่มผู้อภิสิทธิ์ชนให้หนาแน่นขึ้น สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์กับตัวเรา แต่ก็อาจจะเป็นโทษแก่ระบบสังคมโดยรวม
ดังนั้น การคิดทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิให้แก่บุคคลอื่นจึงอาจจะต้องทำควบคู่ไปกับการคิดลดละอภิสิทธิ์ของเราไปด้วย เพราะเรื่องเล่าที่ดีงามเกี่ยวกับในหลวงของปวงชน ไม่ใช่เรื่องการทรงวางตนยิ่งใหญ่ตามสถานะสูงสุดที่ทรงมีในแผ่นดิน หากแต่คือความอ่อนน้อมของพระองค์ท่าน ที่ทรงถือความเรียบง่ายมาเป็นหลักในการทรงงาน ในขณะที่พระองค์ท่านทรงมีชีวิตแบบ "กินง่าย อยู่ง่าย" แต่ทรงมีพระราชหฤทัยดวงใหญ่ที่กว้างขวาง ทรงมุ่งมั่นออกไปทำงานทุกหนแห่งอย่างไร้กาลเวลาและไร้พรมแดน ทรงได้พบกัลยาณมิตรข้ามชนชั้น ดังตัวอย่างที่เราได้ยินว่าชาวบ้านมุสลิมนุ่งโสร่งที่สายบุรีเป็นพระสหายที่ดีของพระองค์ท่าน หรือผู้อาวุโสชาวม้งจากยอดดอยจังหวัดน่านก็เป็นพระสหายอีกเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ พสกนิกรชาวไทยไม่เคยเห็นในหลวงของปวงชนทรงใช้อำนาจเกินเลย พระองค์ท่านไม่ทรงพูดจาหุนหัน ทรงมีแต่ความสุภาพนุ่มนวล หลายครั้งทรงมีพระราชอารมณ์ขัน ทรงให้อภัยโทษในทางคดีแม้แก่คนที่เห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์โดยมิถูกมิควร พระองค์ท่านทรงเข้าใจความแตกต่างทางอุดมการณ์ของผู้คนในสังคม ทรงเห็นปัญหาของช่องว่าง และทรงพยายามอุดช่องว่างทั้งปวงเพื่อให้เกิดความสันติสุขในบ้านเมือง แม้จะเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
4. ก้าวต่อไปในวันที่ไร้พระองค์ท่าน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหาราชาผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย พระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนสังคมไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุคคลใดจะหาญรับมาดำเนินการต่อ และในหลวงของปวงชนคงไม่ทรงยินดี หากประชาชนจะท่องบ่นเดินตามรอยพระบาท นำปรัชญาหรือหลักการของพระองค์ท่านไปใช้แบบท่องสูตรคูณ แต่พระองค์ท่านน่าจะทรงมีพระปิติสุขยิ่งกว่า หากทุกฝ่ายรู้จักใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบใหม่ๆ จนสามารถผลักดันงานลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายโครงการยังต้องการการปรับปรุงดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคงจะดีมาก
หากสังคมไทยจะมีนายกรัฐมนตรีฝ่ายประชาชน ประธานรัฐสภาฝ่ายประชาชน และนักกฎหมายฝ่ายประชาชน ในทุกหนทุกแห่ง ที่จะทำงานบริหาร ทำงานนิติบัญญัติ และทำการบังคับใช้กฎหมาย โดยจัดสรรทรัพยากรต่างๆ ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเสมอภาค และเป็นธรรม และคงจะดีมากขึ้นไปอีก หากผู้บริหารหน่วยงานยุติธรรมทั้งหลายจะช่วยกันระดมสรรพกำลังในการลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมรรคผลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยกันสร้างระบบยุติธรรมที่มีความเป็นมนุษย์ ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความเมตตากรุณาและการเกื้อกูล ไม่ทิ้งประชาชนคนใดให้อยู่อย่างต่ำต้อยไว้ด้านล่าง อันจะทำให้ชาวบ้านรู้สึกอุ่นใจว่าในวันหนึ่งพวกเขาจะได้มีทนายความฝ่ายประชาชน ตำรวจฝ่ายประชาชน พนักงานอัยการฝ่ายประชาชน และผู้พิพากษาฝ่ายประชาชน ที่คอยดูแลปกป้องเขา เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยมีรัชกาลที่ 9ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายประชาชน ที่ได้ทรงอุทิศชีวิตเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างดีที่สุดให้แก่พสกนิกรของพระองค์ท่านและประเทศไทย
หมายเหตุ บทความชิ้นนี้เขียนโดยดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษา
ภาพประกอบจาก https://thaipublica.org