ความจริงแห่งชีวิตของผู้รอดชีวิตจากเหตุรุนแรง...ปากคำเหยื่อไฟใต้ในกระแสเยียวยา
หลักเกณฑ์เยียวยาเหยื่อไฟใต้ที่เคาะออกมาล่าสุดจากคณะกรรมการชุดที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน หากมองในแง่ร้ายก็น่าจะสรุปได้ว่าแทบไม่มีใครได้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทตามที่รัฐบาลเคยประกาศเอาไว้อย่างคลุมเครือ...
แต่หาก "คิดบวก" ก็น่าจะมองได้ว่านี่เป็นโอกาสครั้งแรกนับตั้งแต่ไฟใต้คุโชนเมื่อต้นปี 2547 เป็นต้นมา ที่จะได้มีการ "สังคายนา" ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะเหยื่อและครอบครัวของเหยื่อจากเหตุรุนแรงรายวันที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วราว 5 พันชีวิต
ดูจากตัวเลขย่อมเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะหางบประมาณมาจากไหนมาจ่ายเยียวยารายละ 7.5 ล้าน แต่ถึงกระนั้นก็ถือเป็นโอกาสที่ตัวผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวผู้สูญเสียจะได้มายืนในที่สว่างให้ "รัฐ" และ "สังคม" ได้รับทราบว่าพวกเขากำลังเดือดร้อน ลำบาก และขาดแคลนอะไรบ้าง จะได้ช่วยเหลือกัน...อย่างน้อยก็ให้ชีวิตในแต่ละวันดีขึ้นกว่าเดิม
เพราะจากข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมได้ ต้องยอมรับว่ายอดผู้เสียชีวิตราว 5 พันรายนั้น มีไม่ถึง 2 พันรายที่ครอบครัวหรือทายาทได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ ส่วนอีกราว 3 พันราย บ้างก็ "ตกสำรวจ" บ้างก็ไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ 3 ฝ่าย "ตำรวจ-ทหาร-ปกครอง" ว่าเป็นเหตุร้ายที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบจริงๆ
ขณะที่ผู้ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วราว 1.9 พันราย ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในฐานะลำบาก เพราะการช่วยเหลือที่ไม่เป็นระบบ
เมื่อไม่นานมานี้ มีวงพบปะเสวนาเล็กๆ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี เชิญผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุร้ายรายวันเข้าร่วมพูดคุย โดยผ่านการประสานงานของ อนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา
แม้หลายเหตุการณ์จะเป็นเหตุร้ายขนาดใหญ่ที่ผู้คนในสังคมยังพอจดจำกันได้ แต่เชื่อเถิดว่าไม่มีใครจำผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้ได้อีกแล้ว...พวกเขาและเธอดำรงชีวิตอยู่กันอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามไม่น้อยเลย...
ครูศุภวรรณ...ชีวิตที่พลิกผันจากเหตุการณ์ยิงรถตู้ 8 ศพ
14 มี.ค.2550 เกิดเหตุสะเทือนขวัญชนิดสะเทือนประเทศ เมื่อมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนดักโจมตีรถตู้โดยสารสายเบตง-หาดใหญ่ บนถนนสายบันนังสตา-ปะแต ท้องที่หมู่ 4 ต.อุเบง ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา และใช้อาวุธสงครามกราดยิงใส่คนบนรถซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 8 ราย
ครูศุภวรรณ แซ่ลู่ แห่งโรงเรียนเบตงสุภาพอนุสรณ์ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเพียงหนึ่งใน 2 คนที่รอดตายจากเหตุร้ายในวันนั้น แต่ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เด็กหญิงกีรติ แซ่ลู่ ลูกสาววัย 14 ปีของเธอ ต้องถูกสังหารไปต่อหน้าต่อตา
"วันนั้นฉันเดินทางไปส่งลูกเข้าโรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ แต่ระหว่างทางได้เกิดเหตุร้ายขึ้น ฉันเสียลูกสาวไป จำได้ว่าขณะเกิดเหตุเอามือไปกอดลูกไว้ ทำให้ถูกยิงเข้าที่มือ จากนั้นก็สลบไป ไม่รู้เรื่องอะไรเลย มาฟื้นอีกทีที่โรงพยาบาล จึงรู้ตัวว่าถูกยิงอาการสาหัส และที่คอยังมีรอยเหมือนถูกของมีคมปาดด้วย" ครูศุภวรรณ เล่าถึงเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในชีวิตที่เธอต้องเผชิญ
อย่างไรก็ดี ครูศุภวรรณมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ เธอจึงไม่รู้สึกโกรธหรือคลั่งแค้นผู้กระทำ ซ้ำยังไม่ยอมย้ายหนีออกจากพื้นที่อีกด้วย
"ฉันไม่ได้รู้สึกโกธรหรือแค้นพวกเขาเลย กลับเข้าใจพวกเขามากกว่า ถ้าพวกเขาไม่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ก็คงไม่มีใครอยากทำแบบนี้ หลังเหตุการณ์ในวันนั้นฉันก็ยังมีเพื่อนมุสลิมเหมือนเดิม ยังมีความรู้สึกเหมือนเดิมกับพี่น้องมุสลิม ฉันเข้าใจเขา ถ้าเขาได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกรังแก เขาคงไม่มาทำแบบนี้แน่ แต่ยอมรับว่าการดำเนินชีวิตประจำวันก็หวาดระแวงบ้างเหมือนกัน จะไม่พยายามออกไปไหนมาไหนคนเดียว และปรับเวลาในการเข้าออกบ้าน"
"ตลอดมาฉันปลอบใจตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือเวรกรรมที่เราต้องชดใช้ ฉะนั้นฉันจึงไม่พยายามสร้างกรรมต่อไป ไม่คิดมาก ไม่โกรธ ไม่เกลียดเขา และฉันก็ไม่คิดย้ายไปไหน ยังทำงานเหมือนเดิม" เธอบอก
แม้จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม แต่ผลพวงจากความรุนแรงก็ทำให้บางอย่างไม่อาจกลับคืนมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
"ฉันพูดไม่ชัด สาเหตุเพราะปากเบี้ยวจากที่ถูกยิง เสียงที่เปลงออกมาจึงไม่ชัดสักเท่าไหร่ และดูภายนอกสภาพร่างกายฉันก็เหมือนคนพิการ ทำให้ฉันถูกย้ายหน้าที่จากการสอนเด็กๆ หน้าชั้นเรียนไปประจำอยู่ห้องสมุด ทั้งๆ ที่ฉันจบวิชาเอกประถมวัย ก็อยากสอนเด็กๆ ให้ได้เหมือนเดิม แต่คงเป็นไปไม่ได้แล้ว"
เมื่อถามถึงนโยบายเยียวยาเหยื่อไฟใต้ของภาครัฐ ครูศุภวรรณ บอกเพียงว่า เธอไม่ต้องการเรียกร้องอะไร แค่ขอสิทธิ์ของตัวเองและความเป็นธรรมให้บ้างเท่านั้นก็พอ
"ฉันขอความเท่าเทียมและเสมอภาคกับคนอื่นๆ ไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว เพราะพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่"
เป็นเสียงเล็กๆ ที่แม้ฟังไม่ชัดจากครูศุภวรรณ แต่ก็เจือไปด้วยหลักคิดทางศาสนา และใช้หลักศาสนาเยียวยาจิตใจของเธอเอง...
รุ่งโรจน์...ความเคืองโกรธจากส่วนลึกที่ไม่อาจควบคุม
รุ่งโรจน์ แก้วคงทน เป็นลูกโทนของครอบครัวอันแสนอบอุ่นที่มีกัน 3 คน พ่อ แม่ ลูก แต่แล้ววันหนึ่งเขาต้องกลายเป็น "กำพร้า" เมื่อพ่อกับแม่ต้องมาเสียชีวิตพร้อมกันจากเหตุการณ์คนร้ายกราดกระสุนถล่มรถผลไม้ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ปีที่แล้ว
"เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้พ่อกับแม่ของผมตายหมด ส่วนผมแกล้งตายเลยรอดชีวิตมาได้" เขาเล่า
แต่การเอาชีวิตรอดจากเหตุร้าย ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกดี ซ้ำร้ายยังส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงจนทำให้เขามีความผิดปกติทางอารมณ์
"ผมคุมตัวเองไม่ได้ และจะเกิดอาการโวยวายแบบไม่รู้ตัวล่วงหน้า ทุกครั้งที่มีอาการ ผมไม่รู้เลยว่าตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง และจะจำสิ่งที่ทำลงไปในช่วงนั้นไม่ได้เลย มีแต่แฟนที่เล่าให้ฟังว่าผมจะร้องตะโกน อาละวาด อยู่ดีๆ ผมก็เป็น ทั้งที่ไม่ได้คิดอะไรก็โวยวายขึ้นมา โชคดีที่ยังมีแฟนและลูกๆ คอยเป็นกำลังใจ"
"ผมเป็นลูกคนเดียว ที่ผ่านมาก็อยู่กับพ่อและแม่ เราอยู่กันเป็นครอบครัวอย่างมีความสุข แต่ทุกวันนี้ไม่มีพ่อกับแม่แล้ว ผมเหลือแต่ลูก แต่ก็คิดว่าตัวเองยังรับสภาพแบบนี้ไม่ได้ ก็ได้แต่หวังว่าเวลาน่าจะช่วยบรรเทาและเยียวยาจิตใจของผมให้ดีขึ้น"
รุ่งโรจน์ บอกว่า แต่ละวันแต่ละคืนที่ผ่านไป เขาต้องพยายามไม่คิดถึงเรื่องราวร้ายๆ ที่เคยเกิดขึ้น และเมื่อมีอาการ "หลุด" ขึ้นมาแต่ละครั้ง เขาก็ต้องรีบกินยาเพื่อระงับมัน
"พอเกิดอาการมากๆ ผมก็กินยา พอยาหมดก็ไปหาหมอ ก็ต้องใช้ชีวิตอยู่แบบนี้ ผมเปลี่ยนอาชีพมาขายขนมครก อยู่ไปวันๆ ไม่อยากทำงานเหมือนพ่อกับแม่ เพราะไม่อยากไปในที่ที่เราเคยอยู่พร้อมหน้ากัน ผมรับไม่ได้ แม้อาชีพขายขนมครกจะมีรายได้แค่วันละ 300 บาทผมก็ยอม เพราะหวังว่าสภาพจิตใจตัวเองจะดีขึ้น"
เมื่อถามถึงเรื่องเงินเยียวยา รุ่งโรจน์ บอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากทางราชการ 2 แสนบาท แต่วันนี้เหลือเพียงความว่างเปล่า
"รัฐจ่ายเยียวยาให้สำหรับการเสียพ่อกับแม่ศพละ 1 แสนบาท ส่วนผมเองที่บาดเจ็บได้ไม่ถึง 5 หมื่นบาท เมื่อได้มาก็เอาไปจ่ายหนี้ของครอบครัวส่วนหนึ่ง เหลือไม่เท่าไหร่ ก็ใช้รักษาตัวมาเรื่อยๆ ตอนนี้หมดแล้ว"
แม้รุ่งโรจน์จะมีความผิดปกติทางอารมณ์ แต่เขาก็ยังมีอีกหลายชีวิตที่ต้องดูแล และไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากอดทนขายขนมครกต่อไป ด้วยหวังให้ลูกได้มีชีวิตที่ดีกว่าพ่ออย่างเขา...
สุมาลี...วันพรุ่งนี้ที่ไม่อาจคาดเดาของตัวเองกับแม่วัยชรา
สุมาลี ชูมณี ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มรถนักเรียนที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ปีที่แล้ว แม้เธอจะรอดชีวิต แต่พี่ชายคนที่สองของเธอต้องมาจากไปในเหตุการณ์เดียวกัน
หนำซ้ำเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้น พี่ชายคนโต พนม ชูมณี ก็จบชีวิตเพราะถูกยิง ทำให้ครอบครัวของเธอซึ่งเคยเป็นครอบครัวใหญ่ เหลือเพียงเธอกับแม่วัย 82 ปี
"เราอยู่กันแค่สองคนแม่ลูก ฉันเป็นข้าราชการเกษียน ตอนนี้ก็ได้แต่คิดว่าไม่รู้ใครจะโดนยิงก่อน ฉันกลัวว่าถ้าฉันโดนก่อนแล้วแม่ที่อายุมากจะอยู่อย่างไร เพราะแม่ไม่มีใครอีกแล้ว โครงการจ้างงานเร่งด่วนแม่ก็ทำไม่ไหว ก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร มีแต่หมดหวัง หมดกำลังใจ"
พูดถึงการเยียวยาจากภาครัฐ สุมาลี บอกว่า เป็นไปอย่างล่าช้าและมีกฎระเบียบมากมาย เธอเคยประสบมาด้วยตัวเองเมื่อครั้งสูญเสียพี่ชายทั้ง 2 คน
"ทุกวันนี้ก็นั่งคิดว่าถ้าฉันเป็นอะไรไป ใครจะมาเรียกร้องสิทธิ์ตรงนี้ให้แม่ เพราะจะให้แกไปเองก็คงไม่ไหวหรอก บอกตรงๆ ว่าไม่อยากเอาอะไร แค่อยากทวงสิทธิ์ที่แม่ควรได้รับก็พอ"
ฟารีดา...พิการจากเหตุยิงร้านน้ำชากับภาระส่งเสียลูก 3 คน
ความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบไม่ได้เลือกชั้นวรรณะ อาชีพ หรือศาสนา ความจริงที่ทุกคนได้พานพบก็คือว่า พี่น้องมุสลิมจำนวนมากก็ตกอยู่ในสถานะลำบากไม่ต่างอะไรกับพี่น้องไทยพุทธเลย
ฟารีดา ประดู ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์คนร้ายกราดยิงร้านน้ำชาที่บ้านกาโสด อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อปีที่แล้ว แม้เธอจะยังไม่ตาย และยังมีลมหายใจ แต่ผลที่เกิดจากเรื่องร้ายๆ ทำให้เธอเสมือนตายทั้งเป็น
"เดิมฉันรับจ้างกรีดยาง แต่เมื่อถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานมาก ทำให้เจ้าของสวนไปจ้างคนอื่นมากรีดแทน เราก็เข้าใจเขานะ เขาก็ต้องการเงิน เราไม่สามารถทำงานให้เขาได้เราก็ต้องออก"
ฟารีดา บอกว่า แม้เธอจะออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้าน แต่ด้วยความพิการจากคมกระสุน ทำให้เธอไม่สามารถทำงานหนักได้อีก
"ตอนนี้ต้องทำขนมขาย แต่คนพิการอย่างฉันทำได้อย่างมากก็วันละ 50 ห่อ ทำแค่นี้มองไม่เห็นกำไร แต่ฉันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะร่างกายไม่ไหวจริงๆ ฉันถูกยิงจนกระบังลมและม้ามแตก กระสุนตัดเส้นประสาทจากบริเวณขามาที่แขนทำให้ชาไปหมด ทุกวันนี้ทำได้แค่นี้ก็เต็มที่แล้ว ตื่นตอนเช้าต้องนั่งทำขนมจนถึงเย็นเพื่อให้สามีเอาไปตั้งขายที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้าน บางวันขายไม่หมดก็ต้องเก็บกลับมา ก็ทำได้แค่นั้นจริงๆ"
สามีของฟารีดากำลังคิดทำสวนกล้วย แม้จะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าจะสร้างรายได้เพิ่มจากการขายขนม แต่ภาระที่หนักอึ้งเพราะต้องส่งเสียลูกอีก 3 คน ทำนายได้เลยว่าชีวิตของเธอและครอบครัวคงไม่ดีขึ้นเท่าไหร่
"ทุกวันนี้ก็ยังนอนไม่ค่อยหลับสนิทเลย เพราะยังมีอาการแสบๆ ร้อนๆ ทั้งตัว บางครั้งตื่นมากลางดึกแล้วก็นอนไม่หลับอีกเลย บางครั้งที่อยู่คนเดียวก็จะนึกถึงภาพเหตุการณ์โหดร้ายที่เกิดขึ้นกับฉัน"
เมื่อถามถึงเรื่องเงินเยียวยา ฟารีดา บอกว่าไม่เคยคาดหวังอะไร แค่อยากได้ตามสิทธิ์ที่ตัวเองควรจะได้ก็เพียงพอแล้ว
"แค่นี้จริงๆ นะที่ฉันต้องการ" เธอย้ำเสียงเศร้า
นิเยาะ...น้ำตาที่รินไหลกับตลกร้ายเรื่องเยียวยา
ดูเผินๆ เหมือนครอบครัวของ มะแซะ อาเยาะแซ หรือ "บาบอแซ" จะโชคดี เพราะเขารอดชีวิตได้จากการถูกคนร้ายลอบยิงบริเวณกุโบร์ (สุสาน) ที่บ้านพงสะตา อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2553
แต่ใครจะรู้ว่านับจากวันนั้น นิเยาะ อาเยาะแซ ลูกสาวของบาบอแซ ต้องเสียน้ำตาอีกนับครั้งไม่ถ้วน เพราะพ่อของเธอไม่ได้กลับมาหายเป็นปกติ หนำซ้ำแม่ยังตรอมใจตายไปอีกคน
"พ่อยังมีอาการต่อเนื่อง คือจะหวาดกลัวทุกอย่าง ออกไปทำงานก็ไม่ได้ เพราะนอกจากยังหวาดกลัวกับสภาพแวดล้อมแล้ว ยังมีน้ำตาไหลอยู่ตลอดเวลาเมื่อถูกแดด ทำให้พ่อไปไหนไม่ได้เลย"
นิเยาะซึ่งยังเป็นเด็กสาวยอมรับตรงๆ ว่า ทุกวันนี้ครอบครัวของเธออยู่ได้ด้วยเงินบริจาคเท่านั้น
"แต่ละวันเราต้องอาศัยเงินบริจาคของเพื่อนบ้านประทังชีวิต เพราะพ่อก็ทำงานไม่ได้ แม่ก็มาตายเพราะตรอมใจ เงินช่วยเหลือที่ได้มาไม่ถึง 3 หมื่นไม่พอที่จะลงทุนทำอะไร เจ้าหน้าที่เยียวยาให้วัวมาอีก 1 ตัว พร้อมกับบอกว่ามูลค่าของวัวตัวนี้รวมอยู่ในงบเยียวยาแล้ว" เป็นเรื่องตลกร้ายที่นิเยาะไม่เคยนึกว่าจะได้ยิน
"เจ้าหน้าที่ไม่ได้ถามเราเลยสักคำว่าต้องการอะไร พ่อไปไหนมาไหนไม่ได้ กลับเอาวัวมาให้เลี้ยง สุดท้ายก็เลยต้องขายให้เพื่อนบ้านไปแบบถูกๆ ดีกว่าปล่อยให้ตาย" เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงทดท้อ
ทุกวันนี้บาบอแซยังคงน้ำตาไหลทุกครั้งที่เจอแดด ส่วนตัวนิเยาะเองน้ำตาไหลทุกครั้งที่มองพ่อของเธอ...
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้ายไปขวา) ครูศุภวรรณ, นิเยาะ, ฟารีดา และรุ่งโรจน์