คุยกับ 'อดีตอธิบดีกรมข้าว' ถ่ายทอดคุณูปการ ‘ร.9’ ตามรอยพระบาท บิดาพัฒนาข้าวไทย
ร่วมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย คุยกับ ‘ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ’ อดีตอธิบดีกรมการข้าว ถ่ายทอดคุณูปการ ‘ในหลวง ร.9’ กับการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย ที่ได้ทรงวางรากฐาน สร้างโครงการเพื่อชาวนาอยู่ดี กินดี
“ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสที่เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการโคกกูแว จ.นราธิวาส ปี พ.ศ.2536
แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญงานด้านข้าวมาโดยตลอด โดยทรงทุ่มเทพระวรกายเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพความเป็นอยู่ของชาวนาด้วยพระองค์เอง เพื่อบำบัดทุกข์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมมีพระราชดำริและทรงดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาข้าวในโครงการส่วนพระองค์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมกับทรงสนับสนุนการวิจัยข้าว
70 ปีแห่งการครองราชย์ และทรงงานด้านข้าวมาต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อ 18 ต.ค. 2559 ให้เฉลิมพระเกียรติล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 เป็น ‘บิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย’
ชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อดีตอธิบดีกรมการข้าว
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อดีตอธิบดีกรมการข้าว กล่าวด้วยความปลาบปลื้มใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีคุณูปการกับข้าวไทยมหาศาล โดยมีโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นจุดเริ่มต้นของการทรงงานศึกษาและทดลองการปลูกข้าว ซึ่งใช้ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์
“พระองค์ทรงใช้แปลงนาทดลองเป็นพื้นที่ศึกษาเรื่องพันธุ์ข้าว เทคโนโลยีการปลูกข้าว การปลูกพืชแซมในนาข้าว ดิน ปุ๋ย เพราะฉะนั้นพระองค์ทรงสนพระทัยเรื่องข้าวอย่างมาก”
แปลงนาทดลองผืนนี้จึงกลายเป็นแปลงที่มีคุณค่า เพราะช่วยส่งเสริมการศึกษาวิจัย และทำให้เกษตรกรและนักเรียนนักศึกษาใช้ในการเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ที่สำคัญ เราใช้แปลงนาทดลองเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานเพื่อใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
"ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองเเละทำนามาบ้าง
เเละทราบดีว่า การทำนานั้นมีความยากลำบากอยู่มิใช้น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี
เเละต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วย จึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน..."
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเเก่ผู้นำกลุ่มชาวบ้าน พ.ค. 2504
อดีตอธิบดีกรมการข้าว บอกเล่าว่า ไม่เพียงพระองค์จะส่งเสริมให้ผลิตข้าวเองได้ แต่ได้มองไปถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า เพราะหากเกษตรกรยังปลูกข้าวและขายเป็นข้าวเปลือก จะทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้พระราชทาน ‘โรงสีข้าวตัวอย่างแบบระบบแรงเหวี่ยง สวนจิตรลดา’ ขึ้นมา และดำเนินการต้นแบบ ก่อนจะขยายผลไปยังโรงสีข้าวชุมชน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 38,200 บาท
นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้งสหกรณ์ เพื่อจัดซื้อข้าวเปลือกในราคาเป็นธรรมและให้สมาชิกสหกรณ์ได้บริโภคข้าวสารในราคาเหมาะสม โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1 แสนบาท ให้ด้วย พร้อมกับให้นำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวมาแปรรูปอัดแท่งเป็นถ่าน หรือใช้บำรุงดิน จำหน่าย จะได้เกิดประโยชน์สูงสุด
“พระองค์ทรงคิดค้นการพัฒนาข้าวมานาน โดยเฉพาะเรื่องของนวัตกรรม แต่คนไทยเพิ่งมาตื่นตัวในช่วงนี้” นายชัยฤทธิ์ มองว่า หากทุกคนสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้อย่างครบวงจร เชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และรายได้ ให้ดีขึ้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเกี่ยวข้าว ณ โครงการพัฒนาส่วนพระองค์ บางเเตน จ.ปราจีนบุรี (ภาพประกอบ:ไทยรัฐทีวี)
จากพระราชดำรัส ฟื้นกำเนิด ‘กรมการข้าว’
ทั้งนี้ อย่างที่ทราบกันดีว่า พระองค์ทรงให้ความสำคัญเรื่องการปลูกข้าว และการส่งเสริมพัฒนาข้าวให้ชาวนา นายชัยฤทธิ์ กล่าวว่า พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้ง ‘กรมการข้าว’ ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2549 หลังจากเคยจัดตั้งขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2496 ก่อนจะยุบและนำไปรวมกับหน่วยงานอื่นในปี 2515
ด้วยพระองค์มีพระราชดำรัสเรื่องข้าว ทำให้มองว่า ควรจัดตั้งกรมการข้าว เพราะข้าวเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องข้าวมีหลายหน่วยงาน กระจัดกระจายตามส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดกรมวิชาการเกษตร ทำให้การวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่สามารถเชือมโยงกันได้
“สมัยดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการข้าว ยังได้มีโอกาสได้จัดตั้งโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยสร้างศูนย์วิจัยข้าว 27 แห่งทั่วประเทศ และพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมถึง 3 ศูนย์วิจัย ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวนครราชสีมา ทรงสนพระทัยเรื่องการปลูกข้าวในดินเค็ม ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ ทรงสนพระทัยเรื่องการปลูกข้าวไร่ และศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง จ.เชียงใหม่ ทรงสนพระทัยการปลูกพันธุ์ข้าวเมืองหนาว เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์”
ที่สำคัญกว่านั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยังได้มอบทุนให้กรมการข้าวไว้ศึกษาพัฒนาและวิจัยพันธุ์ข้าว ปีละ 3-5 ล้านบาท อีกด้วย
น้อมนำหลักเกษตรทฤษฏีใหม่-ความพอเพียง ปรับใช้
แม้ปัจจุบันนายชัยฤทธิ์ จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่ยังคงช่วยเหลืองานด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวกับกรมการข้าวอยู่ โดยตลอดระยะเวลาของการทำงาน ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์มาปรับใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอด
โดยเฉพาะหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างหนึ่งว่า ชาวนาหากปลูกข้าวอย่างเดียว ปัญหาจะเกิดตามมา เพราะข้าวสร้างรายได้ค่อนข้างต่ำและมีความเสี่ยงสูงจากภัยธรรมชาติ รวมถึงโรคแมลง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ปลูกพืชชนิดเดียวจะช่วยลดความเสี่ยงได้
ทั้งนี้ ต้องควบคุมกับการใช้ชีวิตภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย อดีตอธิบดีกรมการข้าว บอกว่า จากการศึกษาปัญหาของชาวนา พบว่า ส่วนใหญ่ยังยากจน เพราะไม่พอเพียง ไม่มีการทำบัญชีรายรับ-จ่าย ขาดการวางแผนชีวิต มีรายได้น้อย แต่รายจ่ายมาก
“ผมจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเสมอ โดยมองเรื่องรายได้และรายจ่ายให้สมดุล คิดไว้เผื่ออนาคต เพราะฉะนั้นบางครั้งตนเองต้องสมถะ ต้องพอประมาณ ฉะนั้นหากเราทำให้ดี จะไม่เจอปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจแน่นอน ซึ่งนอกจากจะใช้กับตนเองแล้ว ยังได้นำไปแนะนำพี่น้องชาวนาด้วย”
คุณูปการด้านการวิจัยและพัฒนาข้าวไทยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงวางรากฐานไว้ให้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ หากทุกคนน้อมนำมาปฏิบัติ ต่อยอด จะช่วยเสริมสร้างการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง และข้าวไทยจะไม่หายไปจากวิถีชีวิตและจิตวิญญาณของความเป็นไท .