บ่อน้ำพระราชทานที่บ้านกูจิงลือปะ กับกิจกรรมจับปลาสร้างตาดีกา
เอ่ยถึงบ้านกูจิงลือปะ ตำบลเฉลิม อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส หมู่บ้านเชิงเทือกเขาบูโด แทบทุกคนมักจะนึกถึงเรื่องราวร้ายๆ และเศร้าสลดที่เกิดกับ ครูจูหลิง ปงกันมูล ตั้งแต่ปี 2549 จนกลายเป็นภาพจำว่าชุมชนแห่งนี้อยู่ในพื้นที่สีแดง และมีร่างเงาของความรุนแรงแฝงตัวอยู่
ทั้งที่ในความเป็นจริง เหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิง ผู้กระทำเป็นเพียงคนส่วนน้อย และยังมีคนนอกพื้นที่เข้ามาแทรกในสถานการณ์ด้วย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่กูจิงลือปะ รักสันติและทำมาหากินอย่างสุจริตกันมาช้านาน
น้อยคนนักที่จะทราบว่าบ้านกูจิงลือปะมี "บ่อปลาพระราชทาน" ซึ่งตั้งอยู่กลางหมู่บ้านมานานกว่า 30 ปีแล้ว บ่อปลาแห่งนี้แวดล้อมไปด้วยต้นยางพาราและสวนผลไม้นานาพันธุ์ ปัจจุบันกำลังได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน
พื้นที่รวมกว่า 16 ไร่ของบ่อปลา มาจากการบริจาคของเจ้าของที่ดินรวม 17 ราย ที่เต็มใจน้อมเกล้าถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกูจิงลือปะ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528
ครั้งนั้นพระองค์ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้กรมประมงจัดหาสถานที่สำหรับสร้างแหล่งปลาประจำหมู่บ้าน เพื่อให้สามารถผลิตอาหารโปรตีนสำหรับบริโภค โดยมีชาวบ้านพร้อมใจกันบริจาคที่ดินของตนคนละเล็กละน้อยเพื่อขุดบ่อปลาจนสำเร็จตามพระราชเสาวนีย์
นับแต่นั้นมา บ่อปลาพระราชทานจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น มีพันธุ์ปลานับหมื่นตัวที่กรมประมงนำมาปล่อยเป็นประเดิม และมีเจ้าของที่ดินร่วมกันดูแล ทั้งให้อาหารและบริหารจัดการบ่อปลาจนมีปลาแน่นบ่อ
ในอดีตบ่อปลาแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้มีการจับปลาได้อย่างอิสระ เคยมีการเปิดบ่อปลาไม่กี่ครั้งเพื่อให้ชาวบ้านจับปลา เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งมีการเปิดบ่อปลาครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยให้จับปลาด้วยแห เก็บค่าสมัครคนละ 50 บาท เพื่อสมทบรายได้สร้างตาดีกาประจำหมู่บ้าน ให้เด็กๆ ได้มีสถานที่เรียนตาดีกาที่ดีขึ้น
กติกาก็กำหนดกันง่ายๆ แบบบ้านๆ โดยผู้สมัครลงจับปลา จะจับคนละกี่ตัวก็ได้ ใครจับปลาได้น้ำหนักมากที่สุดก็ได้รางวัลไป
เด็กชายสุบฮา จอแม จากตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ เข้าร่วมจับปลาและคว้ารางวัลไปครอง จนเป็นที่เลื่องลือถึงความสามารถ สุบฮา บอกว่า จับปลาแถวบ้านอยู่เป็นประจำ เมื่อทราบข่าวการจับปลาที่กูจิงลือปะ จึงมาสมัครและร่วมจับปลาด้วย เพราะจะได้ร่วมสร้างตาดีกา
บรรยากาศในวันเปิดบ่อปลาเป็นไปอย่างสนุกสนาน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันเข้าร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก และหลังจากนี้บ่อปลาพระราชทานจะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์
นิสือกรี นิเฮาะ ผู้ใหญ่บ้านกูจิงลือปะ บอกว่า กำลังของบประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่รอบบ่อปลา ด้วยการลงพันธุ์ไม้ผลต่างๆ รวมทั้งแบ่งพื้นที่ตามแต่ละเจ้าของที่ดินเดิม ให้ช่วยกันดูแลอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อพัฒนาให้บ่อปลาแห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำชุมชน
"เราตั้งเป้าจะพัฒนาให้บ่อปลาเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ทุกคนเข้ามาแล้วสบายใจ ทำให้สังคมได้เห็นว่ากูจิงลือปะมีของดีที่ควรช่วยกันส่งเสริมและให้กำลังใจ ไม่ได้มีแต่ข่าวที่เคยได้รับรู้ ทุกคนในหมู่บ้านอยากให้สังคมมองความเป็นจริงในปัจจุบันของบ้านกูจิงลือปะ"
วันนี้กูจิงลือปะฟื้นตื่นจากฝันร้าย และกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน...
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 บ่อปลาพระราชทานที่บ้านกูจิงลือปะ
3 สุบฮา จอแม หนุ่มน้อยที่จับปลาชนะผู้ใหญ่
4-5 ชาวบ้านร่วมกิจกรรมจับปลาสร้างตาดีกากันอย่างสนุกสนาน
อ่านประกอบ :
ม่านหมอกความรุนแรงที่บ้านกูจิงลือปะ(1)...จากสังหารครูจูหลิงถึงฆ่าโหดสองแม่ลูก!
ม่านหมอกความรุนแรงที่บ้านกูจิงลือปะ(2)...ตราบาปในหัวใจที่ยากจะเลือน
ม่านหมอกความรุนแรงที่บ้านกูจิงลือปะ (จบ) 58 หมายจับกับคดีครูจูหลิงที่ยังไม่คืบหน้า
กูจิงลือปะ...โศกนาฏกรรมที่ยังไม่มีตอนจบ