ดีหมด โปร่งใสทุกอย่าง! คกก.อิสระตรวจสอบ‘กรุ๊ปลีส’ไม่พบทุจริต‘ปล่อยกู้-ซื้อหุ้น’
เปิดรายงาน คกก.อิสระตรวจสอบ ‘กรุ๊ปลีส’ ให้ความเห็น 2 ปมธุรกรรมนอก ปท. บริษัทฯ ทำตาม กม. เรียกผู้บริหารมาถามแล้ว ไร้ข้อสงสัย ไม่คอร์รัปชัน ขอให้สื่อสารทำความเข้าใจนักลงทุนมากขึ้น ก่อนถูก ก.ล.ต .ฟันปมเงินปล่อยกู้ บ.ลูกในสิงคโปร์ 3.4 พันล.ปริศนา
สืบเนื่องกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในความผิดเกี่ยวกับการทุจริต เข้าข่ายเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอกยินยอมให้ลงบัญชี และทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง กรณี การปล่อยกู้เงินให้กับบริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLH บริษัทลูกที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนปล่อยกู้ต่อไปยังบริษัทกลุ่มประเทศไซปรัส และสิงคโปร์ แต่ผู้บริหารรายนี้ถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์กว่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราว 3 พันล้านบาท) และให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย
ขณะเดียวกันยังมีกรณีเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาประมาณ 2,545 ล้านบาท ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 - 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท
ทั้งสองกรณี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการทำธุรกรรมของเอกชนรายดังกล่าว และข้อสังเกตดังกล่าวปรากฎอยู่ในงบการเงินของบริษัทฯตามที่เสนอต่อผู้ถือหุ้น บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2560 ตามที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปก่อนหน้านี้
กรณีดังกล่าวได้ถูกตั้งข้อสังเกตการทำธุรกรรมข้างต้นว่า คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ตรวจพบหรือไม่ แล้วมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร?
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ บมจ.กรุ๊ปลีส (ตามที่ปรากฎในรายงานประจำปี 2559 – ANNUAL REPORT 2016 ) พบว่า คณะกรรมการตรวจสอบประกอบด้วย กรรมการอิสระ จำนวน 4 คน ได้แก่ พล.อ.สืบสันต์ ทรรทรานนท์ ประธานกรรมการตรวจสอบ (ระบุตำแหน่ง 2557-ปัจจุบัน รองหัวหน้าสำนักงาน สำนักรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม) นายโศณิต พิชญางกูร นายกฤษณ์ พันธ์รัตนาลา และ ดร.พลเดช เทอดพิทัก วานิช คณะกรรมการฯ ได้รายงานผลการตรวจสอบว่า บมจ. กรุ๊ปลีส มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนมีระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเป็นระเบียบ สอดคล้องกันภายในฝ่ายงานและสามารถอ้างอิงกันได้ระหว่างฝ่ายงานต่างๆ บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด
กรณีเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาประมาณ 2,545 ล้านบาท คณะกรรมการตรวจสอบได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารว่าข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายบริหารได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งงบการเงินดังกล่าวผู้สอบบัญชีได้รายงานความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
มีรายละเอียดดังนี้
รายงานทางการเงิน คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาและสอบทานข้อมูลที่สำคัญของงบการเงินรายได้ไตรมาสและประจำปี 2559 บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) งบการเงินรวมของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยร่วมกับฝ่ายบริหารและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พบว่า ได้จัดทำมาตรฐานทางการเงิน มีความถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป ครบถ้วน และเป็นที่เชื่อถือได้โดยได้สอบทานประเด็นที่เป็นสาระสำคัญในการจัดทำงบการเงินและการเปิดเผยข้อมูลตามาตรฐานการรายงานทางการเงินโดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ร่วมพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (บริษัท สำนักงานอีวาย) ที่แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559 จำนวน 2 ข้อ ได้แก่
1.) เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ จำนวน 3,477 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559 (คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สุทธิรวม ณ วันที่ 31 ธ.ค.2559) ซึ่งผู้สอบบัญชีรับอนุญาตให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวม ข้อ 11 เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ โดยบริษัทฯ ได้ให้กู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์โดยบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัสและสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งผู้กู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯด้วย และได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทฯ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว โดยเงินให้กู้ยืมเหล่านี้มีลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศและหุ้นของบริษัทซึ่งถือโดยผู้กู้
2.) เงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา จำนวนประมาณ 2,545 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 ซึ่งบริษัทย่อยได้เข้าทำการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกาแห่งหนึ่งจำนวนร้อยละ 29.99 ของหุ้นจำนวนทั้งหมด ในราคาซื้อ 2,462 ล้านบาท (ราคาซื้อไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อจำนวน 26 ล้านบาท) โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2559 ซึ่งบริษัทย่อยซื้อหุ้นดังกล่าวบางส่วน (จำนวนร้อยละ 22.27 ของหุ้นทั้งหมด) จากบริษัทผู้ขายที่มีกรรมการผู้หนึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯด้วย ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 - 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท ฝ่ายบริหารประเมินว่าราคาซื้อคิดเป็นประมาณ 8 เท่า ของกำไรของบริษัทร่วมดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 หุ้นดังกล่าวแสดงไว้เป็นเงินทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินรวมด้วยวิธีส่วนได้ส่วนเสียด้วยจำนวนเงิน 2,545 ล้านบาท (มูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2559 มีประมาณ 1,285 ล้านบาท)
โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายบริหารว่าข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ฝ่ายบริหารได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งงบการเงินดังกล่าวผู้สอบบัญชีได้รายงานความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
ระบบควบคุมภายในบริษัทฯ ได้จัดให้มีฝ่ายงานตรวจสอบภายใน ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและระบบควบคุมภายในในทุกๆ ระบบงาน และรายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้ร่วมกันพิจารณาความเพียงพอของระบบควบคุมภายในตามแบบประเมิน “ความพอเพียงของระบบควบคุมภายใน” ของสำนักงานคระกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จัดทำขึ้นตามแนวคิดของ COSO1 (The Committee of Sponsoring Organizations of the Tread way Commission) พบว่าระบบควบคุมภายในบริษัทฯ มีความน่าเชื่อถือเพียงพอและเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งนี้ฝ่ายงานต่างๆ ภายในบริษัทฯ ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภายในเป็นอย่างดี ทำให้การตรวจสอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
การปฏิบัติตามกฎหมายบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนกฎหมายและระเบียบที่กำหนดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตรวจสอบขอให้ฝ่ายบริหารเพิ่มการสื่อสารให้กับนักลงทุนเพื่อความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทให้มากขึ้น
ผู้สอบบัญชีบริษัท สำนักงาน อี วาย จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทในปี 2559 เป็นปีที่ 10 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ชื่อนายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ เลขทะเบียน 3182 ซึ่งการตรวจสอบบัญชีอยู่ภายใต้มาตรฐานการบัญชีที่มีความถูกต้องในระดับสากล และมีค่าใช้จ่ายสำหรับการสอบบัญชีในระดับที่สมเหตุสมผล
รายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์คณะกรรมการตรวจสอบได้ร่วมพิจารณาการทำรายการระหว่างกับของบริษัทฯ พบว่ามีความสมเหตุสมผล และเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ตัวอย่างเช่น การลงทุนในบริษัทร่วมประเทศศรีลังกาซึ่งบริษัทผู้ขายมีกรรมการผู้หนึ่งเป็นกรรมการของบริษัทด้วย ได้พิจารณาอย่างรอบคอบพร้อมกับการผ่าน ที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วย
โดยรวมจากการที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ปฏิบัติหน้าที่ พบว่าบริษัทฯ มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนมีระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเป็นระเบียบ สอดคล้องกันภายในฝ่ายงานและสามารถอ้างอิงกันได้ระหว่างฝ่ายงานต่างๆ
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบสนับสนุนให้กับบริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของตลาดหลักทรัพย์ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ และแนวทางการปรับปรุง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่ายงาน
ทั้งหมดคือรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ บมจ. กรุ๊ปลีส
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 24 ต.ค.2560 สำนักข่าวอิศราได้ติดต่อไปยัง บริษัท สำนักงาน อี วาย จำกัด ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ปรากฎในงบการเงิน บมจ.กรุ๊ปลีส เพื่อสอบถาม นายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต บมจ.กรุ๊ปลีส พนักงาน บริษัท สำนักงาน อี วาย ฯ แจ้งว่านายโสภณไม่อยู่
ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป
อ่านประกอบ:
ฉบับเต็ม!ความเห็นผู้สอบบัญชีฯ ‘ปล่อยกู้-ซื้อหุ้นนอก ปท.’ 2 ปมปริศนา ‘กรุ๊ปลีส’
ปมใหม่‘กรุ๊ปลีส’ซื้อหุ้น บ.ในศรีลังกา 2,545 ล. สิ้นปีมูลค่าวูบเหลือ 1,285 ล.
ก.ล.ต.สั่งGLแก้งบการเงินให้ตรงตามจริงหลังพบ ‘บิ๊ก’ปล่อยกู้ฉาว54ล.เหรียญ-เฉยเจอคุก10ปี
ไส้ใน-เส้นทางปล่อยกู้‘กรุ๊ปลีส’ก่อน ก.ล.ต. ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบบิ๊ก รับ ปย.54 ล.เหรียญ
ก.ล.ต.ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบผู้บริหาร‘กรุ๊ปลีส’ ใช้ บ.ลูกปล่อยกู้เอกชน ตปท.54 ล.เหรียญสหรัฐฯ