หวั่นซื้อ "โดรน" ซ้ำรอย "เรือเหาะ-จีที 200" แนะทำแผน-ถามความต้องการกำลังพล
แนวคิดการจัดหา "โดรน" หรือ "อากาศยานไร้คนขับ" (ยูเอวี) ในภารกิจตรวจการณ์และลาดตระเวนล่วงหน้าเพื่อความปลอดภัยของกำลังพลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม คุ้มค่า และตรงตามความต้องการของหน่วยปฏิบัติผู้ใช้งานจริง
เสียงตั้งคำถามดังขึ้นเป็นพิเศษ เพราะภารกิจตรวจการณ์ หรือ "เฝ้าตรวจทางอากาศ" นั้น กองทัพเพิ่งล้มเหลวไปกับการจัดซื้อ "เรือเหาะ" มูลค่า 350 ล้านบาท ซึ่งใช้งานไม่ได้จริง เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง และชำรุดเสียหายต่อเนื่องจนสุดท้ายต้องปลดประจำการไปเมื่อไม่นานมานี้
พูดภาษาบ้านๆ คือ ความ "เรือเหาะ" ยังไม่ทันจางหาย ยังจะหาเรื่องเสียเงินรอบใหม่กับ "โดรน" กันอีกหรือ
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง ให้ทัศนะกับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ในเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ คือแม้จะเห็นด้วยในหลักการว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนงานยุทธการก็ตาม แต่นั่นก็ต้องพิจารณาความต้องการที่แท้จริงของหน่วยปฏิบัติ และมีแผนปฏิบัติการรองรับอย่างชัดเจน แน่นอน และรัดกุม ปฏิบัติงานได้จริงด้วย
"การใช้เทคโนโลยีทางทหารสมัยใหม่เข้าสนับสนุนงานยุทธการเป็นเรื่องที่ดี เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยทำให้งานยุทธการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ต้องระวังว่า การนำเอาเทคโนโลยีทางทหารสมัยใหม่เช่นนี้ ต้องไม่ใช่เริ่มต้นจากความต้องการในการจัดซื้อจัดหา เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยเหตุผลเช่นนั้นแล้ว อุปกรณ์ทางทหารสมัยใหม่อาจจะไม่ตอบความต้องการทางยุทธการ"
เป็นคำตอบเชิงหลักการของนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง และแน่นอนว่าตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากความผิดพลาดในอดีต ก็คือโครงการจัดซื้อ "ระบบเรือเหาะ" และเครื่องตรวจวัตถุระเบิด "จีที 200"
"ดังตัวอย่างของเรือเหาะ หรือเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอย่าง จีที 200 อุปกรณ์สมัยใหม่ทั้งสองชนิดนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การจัดซื้อจัดหาเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ได้เกิดจากความต้องการทางยุทธการอย่างแท้จริง เป็นเพียงการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการ โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดกับงานยุทธการ"
จากตัวอย่างอื้อฉาวของอุปกรณ์ทางความมั่นคงที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมายไปอย่าง "สูญเปล่า" ทำให้ ศ.ดร.สุรชาติ ขมวดปมมาถึงแนวคิดในการจัดหา "โดรน"
"การจะนำเอาอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในภาคใต้ อาจจะเป็นเรื่องดี แต่ต้องถามความชัดเจนว่าอุปกรณ์ชุดนี้จะนำมาใช้ในภารกิจอะไร หากเป็นเพียงแค่การลาดตระเวนเพื่อการเตรียมกำลังเข้าพื้นที่แล้ว อากาศยานปกติอาจทำภารกิจในการลาดตระเวนได้อยู่แล้ว การจะนำเอาโดรนมาใช้จึงอาจต้องการความชัดเจนในทางทหารมากขึ้น เพราะกองทัพในระยะที่ผ่านมาได้จัดหายุทโธปกรณ์หลายอย่างที่อาจจะไม่คอบสนองความต้องการที่แท้จริงทางทหาร"
"ดังนั้นการจัดหาในอนาคตต้องการความชัดเจน เพื่อทำให้การใช้งบประมาณของกองทัพเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นแล้วอาวุธและอุปกรณ์ที่ถูกจัดหาจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในทางยุทธการ และถูกทิ้งไปอย่างสิ้นเปลืองงบประมาณ ตัวอย่างของเรือเหาะและจีที 200 เป็นข้อเตือนใจที่ดี โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหาดังเช่นในปัจจุบัน" นักวิชาการด้านความมั่นคง สรุป
ขณะเดียวกัน มีความเห็นจากแหล่งข่าวระดับสูงซึ่งเคยทำงานในหน่วยงานความมั่นคง เสนอว่า หากจะใช้ "โดรน" หรือ "ยูเอวี" ในภารกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องมีการศึกษาสภาพพื้นที่ก่อน ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามีข้อจำกัดเรื่องสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขา ขณะที่บ้านเรือนราษฎรในจุดที่เป็นแหล่งหลบซ่อนของผู้ก่อเหตุรุนแรงก็อยู่กระจัดกระจาย ฉะนั้นควรศึกษาและทำแผนปฏิบัติการให้รัดกุมเสียก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจ
"ผมคิดว่าก่อนคิดจะใช้โดรนหรือยูเอวี ต้องจัดทำภาพถ่ายทางอากาศอย่างละเอียดก่อน เพื่อเป็นพื้นฐานการตัดสินใจ ที่ผ่านมามีโครงการที่กองทัพอากาศทำอยู่แล้ว เพราะกองทัพอากาศมีความเชี่ยวชาญการใช้อากาศยานไร้คนขับมานาน แต่ดูเหมือนภารกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีกองทัพบกเป็นหน่วยหลักภายใต้โครงสร้างของ กอ.รมน." แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการค้าอาวุธ ระบุว่า ที่ผ่านมาเคยมีการจัดซื้อและส่ง "มินิ-ยูเอวี" หรือ "อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก" ไปใช้ในภารกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก่อนแล้ว โดยเป็น "มินิ-ยูเอวี" ยี่ห้อ "ราเวน" (Raven) จากประเทศอิสราเอล รุ่นที่จัดซื้อมีข่าวว่าเป็นรุ่น RQ 11 B มีโครงสร้างขนาดเล็ก น้ำหนักเพียง 1.9 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ บินต่อเนื่องได้ประมาณ 60 นาที เพดานบิน 1,000 ฟุต รัศมีการทำงาน 10 กิโลเมตร มีกล้องความคมชัดสูง สามารถเก็บภาพในเวลากลางคืนและตรวจจับความร้อนได้ ทั้งนี้ ภายหลังการจัดซื้อ ได้มีการเรียกกำลังพลไปฝึกอบรมการใช้งาน
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ พบว่า "มินิ-ยูเอวี" ไม่ตอบโจทย์การปฏิบัติงานเท่าที่ควร เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นป่ายางพารา และมีระยะปฏิบัติการที่ไม่ไกลนัก ประกอบกับเพดานบินก็ไม่สูง หากใช้ในการตรวจการณ์ หรือลาดตระเวนล่วงหน้า หรือแม้แต่สอดแนม ฝ่ายตรงข้ามก็สามารถมองเห็น และไหวตัวทัน อาจหลบหนีหรือจัดกำลังซุ่มโจมตีก็ได้ เพราะรู้ว่าเมื่อส่งโดรนมาแล้ว อีกไม่นานกองกำลังก็ต้องเคลื่อนที่ตามมา
ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ "โดรน" ปฏิบัติการจริง ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะ ทั้งในแง่การใช้งานและการบำรุงรักษา โดยเฉพาะหากจะขยับมาใช้ "โดรน" จริงๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า "มินิ-ยูเอวี" และมีศักยภาพในการปฏิบัติที่สูงขึ้น กำลังพลที่ใช้ก็ต้องมีทักษะสูงตามไปด้วย หากระบบมีปัญหา ต้องมีความสามารถซ่อมแซมได้เองเบื้องต้น มิฉะนั้นจะยิ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กำลังพลมากกว่าช่วยลดภาระกำลังพล
"ผมคิดว่าหากจะจัดซื้อจริงๆ ต้องมีแผนการใช้งานและการปฏิบัติที่รัดกุม ตรงตามความต้องการ และต้องพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริงกับสภาพพื้นที่ที่เป็นอยู่ เพราะหากพูดแค่หลักการในแง่ตรวจการณ์ ลาดตระเวน สอดแนม ก็เป็นเหตุผลที่สวยหรูน่าใช้งานทั้งนั้น แต่คำถามคือพอนำไปใช้จริง มันสามารถใช้งานได้อย่างที่พูดหรือเปล่า ซึ่งบางกรณีไม่ใช่อุปกรณ์ไม่ดี แต่มันอาจไม่เหมาะกับสภาพการณ์จริง" แหล่งข่าวจากวงการค้าอาวุธ ระบุ
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข (แฟ้มภาพอิศรา)
2 อากาศยานไร้คนขับ (ยูเอวี) ที่พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ องค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงกลาโหม
ขอบคุณ : ภาพ "โดรน" จากสถานีโทรทัศน์ NOW26 รายการล่าความจริง
อ่านประกอบ :
รัฐตั้งเป้าซื้อ "โดรน" กว่าร้อยลำ? คนชายแดนใต้ทั้งหนุนทั้งค้าน
รู้จัก "มินิ-ยูเอวี" อากาศยานไร้คนขับในภารกิจดับไฟใต้
รือเสาะป่วนหนักบึ้มทหารเจ็บ2 ทัพฟ้าส่งอากาศยานไร้คนขับลงใต้