ฉบับเต็ม!ความเห็นผู้สอบบัญชีฯ ‘ปล่อยกู้-ซื้อหุ้นนอก ปท.’ 2 ปมปริศนา ‘กรุ๊ปลีส’
ชัดๆ ฉบับเต็ม!รายงานความเห็นผู้สอบบัญชี 2 ปมธุรกรรม บมจ.กรุ๊ปลีส ปล่อยกู้ 3.4 พันล.ปริศนา!หัวเชื้อ ก.ล.ต. ชง ดีเอสไอ-ปปง.กล่าวโทษผู้บริหาร แต่งบัญชีฯส่อทุจริต–ซื้อหุ้น บ.ในศรีลังกา 2,545 ล. ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระตีราคาแค่ 1,600 - 1,700 ล.
สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในความผิดเกี่ยวกับการทุจริต เข้าข่ายเป็นการทำธุรกรรมอำพราง การยักยอกยินยอมให้ลงบัญชี และทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง กรณีการปล่อยกู้เงินให้กับบริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLH บริษัทลูกที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนปล่อยกู้ต่อไปยังบริษัทกลุ่มประเทศไซปรัส และสิงคโปร์ แต่ผู้บริหารรายนี้ถูกกล่าวหาว่าได้รับผลประโยชน์กว่า 54 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา (ราว 3 พันล้านบาท) และให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย ตามข่าวก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันยังมี กรณีเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาประมาณ 2,545 ล้านบาท ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 - 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำรายงานความเห็นของ นายโสภณ เพิ่มศิริวัลลภ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาติ (บริษัทสำนักงาน อีวาย) ที่เสนอต่อผู้ถือหุ้น บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) กรณีเงินให้กู้ยืม จำนวน 3,477 ล้านบาท และ เงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา มีดังนี้
@ชี้ปมหลักทรัพย์ค้ำประกัน หากตัดมูลค่าหุ้นทิ้ง เหลือเพียง 60 % และ 53 %
1.เงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ – จำนวน 3,477 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 (คิดเป็นร้อยละ 40 ของสินทรัพย์สุทธิรวม ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2559)
ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 11 เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ บริษัทฯได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ โดยบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัสและสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ ซึ่งผู้กู้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทฯด้วยและได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยดังกล่าว
เงินกู้ยืมเหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศ และหุ้นของบริษัทฯซึ่งถือโดยผู้กู้ บริษัทฯได้แจ้งต่อข้าพเจ้าว่า มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน (รวมถึงหุ้นของบริษัทฯ ซึ่งถูกตีมูลค่าด้วยราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันสิ้นปี) มีมูลค่าประมาณร้อยละ 106 และร้อยละ 238 ตามลำดับ ของจำนวนเงินให้ผู้กู้สองกลุ่มนี้
แต่ถ้าไม่คิดมูลค่าหุ้นบริษัทฯที่นำมาค้ำประกันแล้ว (ตามหลักความระมัดระวังที่พึงปฏิบัติในการวิเคราะห์มูลค่าประกัน หุ้นของบริษัทผู้ให้กู้ยืมเงิน ไม่ควรถูกคำนวณนับเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ที่บริษัทนั้นได้ให้กู้ยืม) มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 60 ร้อยละ 53 ตามลำดับของจำนวนเงินให้กู้ยืมของผู้กู้สองกลุ่มนี้
@ ก้อน 2,129 ล้านบาท ขยายเวลาให้ลูกหนี้ใช้หนี้ 2-3 ปี
ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีกำหนดชำระคืนเงินต้นแตกต่างกันตามระยะเวลาตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี โดยมีกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันสิ้นสุดของสัญญา มีลูกหนี้บางรายที่เมื่อถึงกำหนดจ่ายชำระเงินต้นคืนในระหว่างปี แต่บริษัทย่อยได้ขยายตารางการชำระหนี้ให้ลุกหนี้เหล่านั้นออกไปอีก 2-3 ปี โดยยอดเงินให้กู้ยืมที่มีการแก้ไขสัญญาขยายตารางการชำระหนี้มีจำนวนประมาณ 2,129 ล้านบาท (59 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา)
@บริษัทฯอ้าง มั่นคง น่าเชื่อถือ
อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาของเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้เป็นอัตราร้อย 14.5 ถึง 25 ต่อปีดอกเบี้ยรับในระหว่างปีจากลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีจำนวน 485 ล้านบาท (เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับประมาณร้อยละ 17) ซึ่งจำนวนเงินนั้นคิดเป็นร้อยละ 38 ของกำไร รวมรวมบริษัทฯและบริษัทย่อยในปี 2559 บริษัทฯได้แจ้งต่อข้าพเจ้า ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีการจัดตั้งอย่างมั่นคงและเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ และไม่ได้มีเกี่ยวข้องกันกับบริษัทฯ และบริษัทฯได้มีการตรวจสอบเป็นการภายในต่อลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้แล้วและพิจารณาว่าเชื่อถือได้
@ ซื้อหุ้น บ.ในศรีลังกา 2,545 ล้าน สิ้นปีมูลค่าหุ้นเหลือแค่ 1,285 ล้าน
2.เงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา – จำนวนประมาณ 2,545 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 2.1 เกี่ยวกับเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกา บริษัทย่อยได้เข้าทำการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศศรีลังกาแห่งหนึ่งในจำนวนน้อยละ 29.99 ของหุ้นทั้งหมด ในราคาซื้อ 2,462 ล้านบาท (ราคาซื้อไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อจำนวน 26 ล้านบาท) โดยได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯในการประชุมวิสามัญครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ซึ่งบริษัทย่อยซื้อหุ้นดังกล่าวบางส่วน (จำนวนร้อยละ 22.27 ของหุ้นทั้งหมด) จากบริษัทผู้ขายที่มีกรรมการผู้หนึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯด้วย ราคาหุ้นดังกล่าวได้ถูกตีราคาโดยผู้ประเมินราคาภายนอกของบริษัทย่อยว่ามีมูลค่าประมาณ 1,900 - 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระได้ตีราคาว่ามีมูลค่าประมาณ 1,600 – 1,700 ล้านบาท และจากราคาตลาดของหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ทำรายการหุ้นดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 1,391 ล้านบาท ฝ่ายบริหารประเมินว่าราคาซื้อคิดเป็นประมาณ 8 เท่าของกำไรของบริษัทร่วมดังกล่าว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 หุ้นดังกล่าวแสดงไว้เป็นเงินลงทุนในบริษัทร่วมในงบการเงินรวมด้วยวิธีส่วนได้เสียด้วยจำนวนเงิน 2,545 ล้านบาท (มูลค่าตลาดในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกา ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2559 มีประมาณ 1,285 ล้านบาท)
เรื่องที่ผู้สอบบัญชีฯให้ความสำคัญ
กรณีลูกหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ ตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 11 บริษัทย่อยในสิงคโปร์ได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทอื่นในต่างประเทศ จำนวนรวมประมาร 97 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือคิดเป็น 3,477 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิในงบการเงินรวม) เงินให้กู้ยืมเหล่านี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอันประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัสและประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส หุ้นในบริษัทอื่นในต่างประเทศ และหุ้นของบริษัทฯซึ่งถือโดยผู้กู้ ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้มีกำหนดชำระคืนตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 3 ปี โดยกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเฉพาะเมื่อถึงกำหนดตามสัญญา อัตราดอกเบี้ยของเงินให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้อยู่ที่ร้อยละ 15 ถึง 25 ต่อปี ดอกเบี้ยรับในระหว่างปี มีจำนวน 485 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 38 ของกำไรรวมในงบการเงินรวมสำหรับปี 2559 เนื่องจากมูลค่าของลูกหนี้มีจำนวนเงินที่มีสาระสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัท ข้าพเจ้าจึงให้ความสนใจในการตรวจสอบความมีตัวตนของลูกหนี้และมูลหนี้ที่คาดว่าจะได้รับคืนในอนาคต
ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบความมีตัวตนของลูกหนี้และมูลค่าของหนี้ที่คาดว่าจะได้รับคืนอนาคต โดยการตรวจสอบสัญญาเงินให้กู้ยืมพร้อมทั้งส่งจดหมายยืนยันยอดลูกหนี้ รวมถึงการทดสอบการรับชำระดอกเบี้ยว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญา และสอดคล้องกับนโยบายการรับรู้รายได้ของบริษัทฯ
ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลจากฝ่ายบริหารว่าระยะเวลากู้ที่ครบกำหนดชำระได้อาศัยความเชี่ยวชาญและความสัมพันธ์กับผู้กู้ของกรรมการของบริษัทฯและผู้บริหารสูงสุด และข้าพเจ้าได้รับความเห็นจากฝ่ายบริหารเกี่ยวโอกาสในการรับชำระคืนเงินให้กู้ยืมเงินลงทุนในบริษัทร่วมในประเทศศรีลังกาตามที่กล่าวไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 2.1 ในระหว่างปีปัจจุบัน บริษัทย่อยได้ซื้อหุ้นสามัญในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศศรีลังกาแห่งหนึ่งจำนวนเงิน 2,462 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 29.99 ของหุ้นสามัญในบริษัทดังกล่าว) โดยผู้บริหารสำคัญของบริษัทจำนวน 2 ท่าน ได้รับการแต่งตั้งในการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของบริษัทดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ฝ่ายบริหารของบริษัทฯได้พิจารณาแล้วว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯ มีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในบริษัทดังกล่าว จึงบันทึกเงินลงทุนในบริษัทร่วมและรับรู้กำไรขาดทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียในงบการเงินรวมในบริษัทดังกล่าวตั้งแต่วันที่บริษัทฯมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในบริษัทร่วม บริษัทฯอยู่ระหว่างการทำการปันส่วนต้นทุนธุรกิจ เนื่องจากรายการนี้เป็นรายการที่มีสาระสำคัญต่องบการเงินโดยรวม และในการพิจารณาความมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในบริษัทผู้ถูกลงทุนนั้นเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยดุลยพินิจที่มีนัยสำคัญของฝ่ายบริหาร ข้าพเจ้าจึงให้ความสนใจในการตรวจสอบรายการดังกล่าวนี้
นอกจากนี้ การตั้งข้อสมมติต่างๆ ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการบันทึกบัญชีการซื้อเงินลงทุนในบริษัทร่วมเริ่มแรก และอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้มานั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ดุลยพินิจที่มีนัยสำคัญของผู้บริหาร ข้าพเจ้าได้สอบถามฝ่ายบริหารถึงลักษณะและวัตถุประสงค์ในการเข้าทำรายการซื้อดังกล่าว และการพิจารณาของฝ่ายบริหารในเรื่องความมีอิทธิพลอย่างมีสาระสำคัญในบริษัทผู้ถูกลงทุน ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 28 (ปรับปรุง 2558) เรื่องเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบมูลค่าการซื้อหุ้นสามัญ เอกสารประกอบการซื้อและการจ่ายเงิน และได้ตรวจสอบรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทของบริษัทนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้ตรวจสอบการวัดมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วม ณ วันที่บันทึกรายการเงินลงทุนในบริษัทร่วมดังกล่าว ตลอดจนพิจารณาความครบถ้วนและถูกต้องในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายการนี้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวได้ถูกตั้งข้อสังเกตการทำธุรกรรมข้างต้นว่า คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ ตรวจพบหรือไม่ แล้วมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร?
ต้องติดตามผลสอบสวนของ ดีเอสไอ และ ก.ล.ต.กันต่อไป
อ่านประกอบ:
ปมใหม่‘กรุ๊ปลีส’ซื้อหุ้น บ.ในศรีลังกา 2,545 ล. สิ้นปีมูลค่าวูบเหลือ 1,285 ล.
ก.ล.ต.สั่งGLแก้งบการเงินให้ตรงตามจริงหลังพบ ‘บิ๊ก’ปล่อยกู้ฉาว54ล.เหรียญ-เฉยเจอคุก10ปี
ไส้ใน-เส้นทางปล่อยกู้‘กรุ๊ปลีส’ก่อน ก.ล.ต. ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบบิ๊ก รับ ปย.54 ล.เหรียญ
ก.ล.ต.ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบผู้บริหาร‘กรุ๊ปลีส’ ใช้ บ.ลูกปล่อยกู้เอกชน ตปท.54 ล.เหรียญสหรัฐฯ