ยังให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายเงินก่อน!สตง.ชี้นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ยุคปู-บิ๊กตู่ ปัญหาเพียบ
สตง.แพร่ผลสอบการดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต" ยุค 'ยิ่งลักษณ์-บิ๊กตู่' พบปัญหาเพียบ ระบุชัดการดำเนินการไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันรวมถึงหลักเกณฑ์ที่กำหนด สุ่มตรวจพบรพ.หลายแห่ง ยังให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปก่อน ทั้งที่ แจ้งไม่มีการถามสิทธิก่อนให้บริการ-ไม่ต้องสำรองจ่าย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ตามที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มช่องทางการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน โดยได้ประกาศนโยบาย“เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2555 กำหนดเป้าประสงค์ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินต้องได้รับบริการโดยไม่มีการถามสิทธิก่อนให้บริการและไม่ต้องสำรองจ่าย ต่อมารัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) โดยมีผลบังคับตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2560 เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับประโยชน์สูงสุด โดยไม่มีเงื่อนไข ในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล
สตง.ระบุว่า ได้ตรวจสอบการดำเนินการตามนโยบาย“เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 -31 มีนาคม 2560 พบว่า การดำเนินการยังไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ ส่วนการการดำเนินการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 24 พฤษภาคม 2560 พบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” พบว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและฉุกเฉินเร่งด่วนบางส่วน ยังไม่ได้รับสิทธิตามนโยบาย โดยผ่านการบันทึกข้อมูลตามระบบ EMCO จากการตรวจสอบ พบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าใช้บริการผ่านโปรแกรมในระบบ EMCO โดยประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบการใช้สิทธิตามนโยบายดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินยังไม่ได้รับสิทธิตามนโยบาย
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์และอุทธรณ์ของคณะทำงานวินิจฉัยภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินและคณะกรรมการพิจารณาการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 - 2559 พบว่ามีผู้ป่วยที่อุทธรณ์และได้รับการพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์สามารถกลับเข้ามาได้รับสิทธิตามนโยบายได้ จำนวน 553 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.78 จากจำนวน 974 เรื่อง ที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะทำงานวินิจฉัยภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินและคณะกรรมการพิจารณาการใช้สิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์และสามารถกลับมาเบิกเงินชดเชยตามนโยบายได้ โดยผ่านระบบ EMCO จำนวน 418 ราย และผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์แต่ไม่สามารถใช้สิทธิผ่านระบบ EMCO ได้ เนื่องจากสถานพยาบาลไม่เข้าร่วมตามนโยบาย จำนวน 135 ราย ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รวบรวมข้อมูลเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รับทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป
สตง.ยังระบุว่า จากการสุ่มตรวจสอบสถานพยาบาล จำนวน 47 แห่ง พบว่า มีสถานพยาบาลเป็นจำนวน 46 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 97.87 ของสถานพยาบาลที่สุ่มตรวจสอบที่ให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและฉุกเฉินเร่งด่วนตามนโยบาย ให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดที่เกิดขึ้นไปก่อน แล้วจึงบันทึกข้อมูลเพื่อการใช้สิทธิผ่านระบบ EMCO และเมื่อได้รับเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว จึงคืนเงินค่ารักษาพยาบาลเฉพาะส่วนที่เบิกชดเชยได้ให้กับผู้ป่วยในภายหลัง
ส่วนสถานพยาบาลเอกชนไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิได้จากการสุ่มตรวจสอบสถานพยาบาล พบว่า มีสถานพยาบาลจำนวน 29 แห่งคิดเป็นร้อยละ 61.70 ของสถานพยาบาลที่สุ่มตรวจสอบ ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินบางรายไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิของผู้ป่วยได้ โดยส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งตัวผู้ป่วยประเภทสิทธิข้าราชการและสิทธิตามกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิ
สำหรับการดำเนินการตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (UCEP) ยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นั้น จากการตรวจสอบพบว่า สถานพยาบาลเอกชนมีการบันทึกข้อมูลเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินและการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลภายหลังการพ้นภาวะวิกฤตยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ขณะที่สถานพยาบาลเอกชนมีการบันทึกข้อมูลเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินในระบบ Preauthorization ยังไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จากการสุ่มตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชนจำนวน 41 แห่ง พบว่า มีสถานพยาบาลที่ยังไม่มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษา จำนวน 4 แห่ง และมีสถานพยาบาลที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาแต่ยังไม่ได้เริ่มใช้ระบบ Preauthorizationจำนวน 3 แห่ง ส่วนสถานพยาบาลอีกจำนวน 34 แห่ง มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาและมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินในระบบ Preauthorizationแล้ว แต่มีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินในระบบ Preauthorization ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ มีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินทุกราย หรือมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะที่แพทย์ประเมินอาการในเบื้องต้นแล้วว่ามีอาการฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น หรือมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินอาการในเบื้องต้นแล้วว่ามีอาการฉุกเฉินวิกฤตและฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งพบในสถานพยาบาลเอกชน จำนวน 7 แห่ง 24 แห่ง และ 3 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 20.59 70.59 และ 8.82 ของสถานพยาบาลเอกชนที่มีการบันทึกข้อมูลในระบบ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีสถานพยาบาลเอกชนมีการดำเนินการเกี่ยวกับการเก็บค่ารักษาพยาบาลเมื่อผู้ป่วยฉุกเฉินพ้นวิกฤตแต่อยู่ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยจากการสุ่มตรวจสอบสถานพยาบาลเอกชนที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาและมีการบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเพื่อคัดแยกระดับความฉุกเฉินในระบบ Preauthorizationจำนวน 34 แห่ง พบว่า สถานพยาบาลเอกชน จำนวน 16 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 47.06 ของสถานพยาบาลที่บันทึกข้อมูลในระบบ มีการเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายหลังพ้นภาวะวิกฤตแล้วแต่ยังอยู่ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในรายที่ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยกลับไปยังสถานพยาบาลตามสิทธิได้ และสถานพยาบาลเอกชนอีกจำนวน 18 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 52.94 ของสถานพยาบาลที่บันทึกข้อมูลในระบบ ไม่มีการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลในช่วงระยะเวลา 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ถึงแม้จะพ้นภาวะวิกฤตแล้ว
และยังมีปัญหาการจัดทำข้อมูลด้านระบบการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำ าหนด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินยังไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์และไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องมาจากสถานพยาบาลเอกชนยังขาดความพร้อมและไม่ทราบหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ครบถ้วน การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิทธิตามนโยบายยังไม่ทั่วถึง การอบรมการจัดทำข้อมูลรายการยา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ทำความเข้าใจของเจ้าหน้าที่สถานพยาบาล ประกอบกับรายการยาและเวชภัณฑ์มีจำนวนมาก และรายการที่กำหนดไม่ใช่รายการที่สถานพยาบาลเอกชนใช้ในปัจจุบันจึงต้องใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายการ รวมทั้งศูนย์สำรองเตียงยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ
เบื้องต้น สตง. ได้มีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแนวทางการทำงานใหม่แล้ว โดยในส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เน้นย้ำให้ชี้แจงและซักซ้อมความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลรายการยา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลให้เป็นไปตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (Fee schedule) ให้แก่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจัดเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการและจัดทำคู่มือขั้นตอน การจัดทำข้อมูลรายการยา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและมีช่องทางให้สถานพยาบาลสามารถสอบถามหรือปรึกษาหากเกิดปัญหาในการจัดทำข้อมูลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังให้เร่งรัดตรวจสอบข้อมูลการจัดทำรายการยา เวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลเอกชน (Mapping Data) ให้ถูกต้องและแล้วเสร็จ และดำเนินการตรวจสอบเอกสารข้อมูลที่สถานพยาบาลเอกชนส่งข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อขอเบิกค่าชดเชยรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามกำหนดเวลาด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากไทยพีบีเอส