พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส : ทำไมผมต้องสมัครเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกครั้ง?
"...หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ สตง. ต้องตระหนัก จำให้ขึ้นใจ คอยเป็นหลักให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการ สตง.ทุกคน คือ เงินแผ่นดิน เป็นเงินภาษีประชาชน เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และเราเป็นผู้มีหน้าที่ในการปกป้องดูแลรักษาเงินแผ่นดิน ต้องวางรากฐานการทำงานให้มั่นคงให้ได้ และผมคิดว่ามันเป็นภารกิจสำคัญ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะสานต่องานนี้ให้สำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องไปจากที่นี้ จะได้ไม่ได้อะไรติดค้างใจ..."
กำลังเป็นประเด็นความขัดแย้งการตีความกฎหมาย ที่กำลังถูกจับตามองจากสาธารณชน!
เมื่อคนในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลายคนต่างออกมายืนยันเสียงดังหนักแน่น ว่า นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. หมดสิทธิลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกหนึ่งสมัย แน่นอนแล้ว
เนื่องจากผลการตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเนื้อหากำหนดข้อห้ามไม่ให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. มาลงสมัครอีก ส่วนการที่ นายพิศิษฐ์ ระบุว่า ลงสมัครรับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง. โดยยึดตามคำสั่ง คสช.ที่71/2557 นั้น ไม่น่าจะถูกต้องเพราะพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายหรือ พ.ร.บ.ทั่วไป รวมถึงมาตรา 44 ในคำสั่งคสช.ด้วย
ขณะที่ นายพิศิษฐ์ ยืนยันที่จะไม่ถอนตัว พร้อมระบุว่า ตนเองยังมีสิทธิลงสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.ได้
คำถามที่น่าสนใจ ต่อกรณีนี้จริงๆ และยังไม่มีใครพูดถึงกันมากนัก คือ ทำไม นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ต้องการลงสมัครรับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกครั้งด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีโอกาสพูดคุยกับ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการตัดสินใจลงสมัครรับการสรรหาเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกหนึ่งสมัย อย่างเป็นทางการ
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ เหตุผลจากปากคำของ อดีตผู้ว่าฯ สตง.รายนี้
@ ทำไมต้องการลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกครั้ง?
"แล้วทำไมผมถึงลงสมัครไม่ได้ละ? ผมอยากจะถามกลับประโยคนี้มาก โดยเฉพาะในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ที่ปรากฎข่าวว่า ผมหมดสิทธิลงสมัครผู้ว่าฯ สตง.แล้ว ทั้งที่ ผมทำตามขั้นตอนการลงสมัครทุกอย่าง ผมตรวจสอบคุณสมบัติผมตามประกาศของ คตง.(คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) ที่ลงประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหา ผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่ไว้ รวมถึงอำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 71/2557 ด้วย ผมตรวจสอบดูแล้ว ไม่ได้เขียนห้ามอะไรไว้เลย คุณสมบัติผมครบทุกอย่าง"
@ แต่สนช.หลายคน ออกมายืนยันว่า หมดสิทธิลงสมัครตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"เรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับการตีความทางกฎหมาย เป็นเรื่องของการตีความตามกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ กฎหมายใหม่ยังไม่ออกมาเป็นทางการ การสมัครเป็นผู้ว่าฯ สตง. ของผมเกิดขึ้นในปัจจุบัน เกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายใหม่จะออกมา และผมก็ทำตามอำนาจประกาศคสช.ที่ 71/2557 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การที่ไปตีความกฎหมายใหม่แล้วระบุให้มีผลย้อนหลังด้วย แล้วมาบอกว่า ผมหมดสิทธิลงสมัครแล้ว เขาห้ามแล้ว แบบนี้มันถูกต้องหรือ การพิจารณากฎหมายลักษณะนี้ ถูกต้องแล้วใช่ไหม"
@ ขอถามย้ำทำไมต้องการลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ สตง.อีกครั้ง?
"ผมทำงานที่สตง.มาหลายสิบปีแล้ว ที่นี่เป็นเสมือนบ้านของผม เมื่อผมยังมีกำลังกาย กำลังใจ ที่สามารถทำงานให้กับบ้านของผม ให้กับประเทศชาติได้ ไฟในตัวผมยังไม่หมด ผมก็คิดว่าผมยังน่าจะทำงานต่อไปได้ และอย่างที่บอกไป กฎหมายคุณสมบัติตามประกาศคตง.ที่เปิดรับสมัคร รวมถึงประกาศคสช. ก็ไม่ได้ห้าม ผมจึงตัดสินใจลงสมัคร"
"ส่วนจะได้เป็นต่อหรือไม่ได้เป็นต่อ ก็แล้วแต่ผลของการสรรหา ผมไม่ใช่คนตัดสิน ถ้าผมไม่มีผลงานไม่มีประสบการณ์ ทำงานอะไรไม่ได้ มานั่งๆ นอนๆ ทำงานในระบบราชการเช้าชามเย็นชามไปวันๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกผม นั้นคือความจริงที่ต้องพิสูจน์กัน แต่ไม่ควรที่จะใช้การตีความกฎหมาย ในลักษณะแบบนี้ มาจัดการกับผม ทั้งที่ยังไม่ได้ทันพิสูจน์ตัวเองในขั้นตอนการสรรหา แล้วมาบอกว่าผมหมดสิทธิลงสมัครแบบนี้ ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ทำไมจะต้องทำอะไรกันแบบนี้ด้วย มันเป็นธรรมกับผมแล้วหรือ"
@ เคยให้สัมภาษณ์ว่า ถูกสกัดกั้น?
"สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มันทำให้คิดไปได้แบบนั้น มันพอจะเห็นได้อยู่ เพราะตอนนี้ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่า สตง. แต่กลับอบกว่า กฎหมายให้ย้อนไปถึงผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงพอทราบเจตนารมณ์อยู่ ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ในทางวิชาการไม่เคยเกิดขึ้น แต่ผมไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องมาสกัดกั้น ตลอดการทำงานทั้งชีวิตทุ่มเทให้กับการทำหน้าที่ โดยไม่คำนึงว่าจะกระทบกับใครเป็นการเฉพาะ คิดถึงแต่การดูแลเงินของแผ่นดิน ผมทำงานของผมแบบนี้มาตลอด ทำไมหรือ ถ้าผู้ว่าฯ สตง. ยังชื่อพิศิษฐ์ อยู่ จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะมีใครทำอะไรกันไม่สะดวก เพราะขออะไรไม่ได้หรือ"
@ คิดว่ามีเหตุผลอะไรทำไมถึงถูกสกัดกั้น?
"ผมไปตอบแทนความคิดใครไม่ได้หรอก แต่จริงๆ ผมก็อยากถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงไม่อยากให้ผมเป็นผู้ว่าฯ สตง.ต่อ เพราะในช่วงเวลาที่ผมทำหน้าที่เป็นผู้ว่าฯ สตง. อยู่ ผมพยายามวางรากฐานงานตรวจสอบของสตง.ให้มีความเข้มแข็ง มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก ไม่ทำงานแบบตั้งรับ งานตรวจสอบทุจริต ต้องมีต้องป้องและปราม และปรามด้วย เราให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลรักษาผลประโยชน์ รักษาเงินแผ่นดิน ไม่ให้ใครมาแสวงหาผลประโยชน์เอาไปใช้โดยไม่ถูกต้อง"
"หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ สตง. ต้องตระหนัก จำให้ขึ้นใจ คอยเป็นหลักให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการ สตง.ทุกคน คือ เงินแผ่นดิน เป็นเงินภาษีประชาชน เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และเราเป็นผู้มีหน้าที่ในการปกป้องดูแลรักษาเงินแผ่นดิน ต้องวางรากฐานการทำงานให้มั่นคงให้ได้ และผมคิดว่ามันเป็นภารกิจสำคัญ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะสานต่องานนี้ให้สำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่ผมต้องไปจากที่นี้ จะได้ไม่ได้อะไรติดค้างใจ ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังจะเป็นไปแบบนั้น แม้ว่าที่ผ่านมา เราจะถูกต่อว่าจากหน่วยงานรับตรวจต่างๆว่า เข้มงวดไป แต่เราก็ต้องทำ เพราะมันเป็นหน้าที่เรา ส่วนหน้าที่สำคัญของหน่วยงานรับตรวจที่ต้องทำ คือ เขาก็ควรยอมรับการตรวจสอบด้วย ถ้าคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ถูกต้องไม่มีปัญหาจะกลัวไปทำไม"
"ส่วนที่ไปพูดกันว่า สตง.ไม่กล้าไปแตะต้องทหาร ไปเป็นสารฟอกขาวให้ ผมว่าคนที่พูดแบบนี้ เพราะเขาไม่สนใจที่จะฟังเหตุผลอะไรเลย คิดเอาสนุกกันอย่างเดียว รู้ได้อย่างไร ว่าเราไม่ตรวจ ไม่กล้าทำอะไร เราตรวจทุกหน่วยงาน เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด ถ้ามันไม่เจออะไรผิดปกติ แล้วจะไปเอาผิดได้อย่างไร งานตรวจสอบเราจะไปทำเอาสนุก ทำตามใจตัวเอง หรือกระแสสังคมไม่ได้ เราต้องยึดหลักความจริง ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ยึดหลักฐานเอกสารต่างๆเป็นที่ตั้ง ซึ่งในส่วนงานจัดซื้อของกองทัพมีหลายโครงการ ที่สตง.ติดตามดูแลอยู่ มีปัญหาอะไร เจออะไรไม่ถูกต้อง เราต้องดำเนินการตามหน้าที่อยู่แล้ว"
@ การลงสมัครผู้ว่าฯ สตง. ครั้งนี้ เป็นเพราะยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่อยากปล่อยว่างอำนาจ?
"ผมไม่เคยยึดติดกับตำแหน่งหน้าที่ หรืออำนาจ เพราะผมเห็นกรณีแบบนี้มาเยอะแล้ว คนเราเมื่อถึงเวลาต้องไปมันก็ต้องไป เราอยู่ไปตลอดไม่ได้หรอก ผมรู้ตัวรู้เวลาของผมดี แต่อย่างที่บอกไป เหตุผลที่ผมลงสมัคร เพราะคิดว่าเรายังทำงานต่อไปอีกระยะ และไปดูกฎหมายดูคุณสมบัติตามประกาศคตง.ที่ออกมา และคำสั่งคสช. เขาไม่ได้ห้ามอะไร และเราคิดว่ายังมีกำลังกายกำลังใจอยู่ ยังมีไฟในการทำงานอยู่แล้ว ก็สมัคร ส่วนจะได้หรือไม่ได้ ผมไม่ใช่คนตัดสิน ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ"
"ความจริงมันควรจะเป็นแบบนี้ แต่นี่ยังไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้พิสูจน์ตัวเอง แล้วมาบอกว่า ผมหมดสิทธิแล้ว ไปเอากฎหมายใหม่ มาโยงมาบังคับ ให้นับรวมของเก่า ด้วย แบบนี้มันถูกต้องหรือ ก็คงต้องถามกลับไปอีกว่า ทำไมต้องทำกันแบบนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป นี่จะถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่เราตีความกฎหมายกันแบบนี้ ส่วนผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะติดสินพิจารณาอย่างไรกับเรื่องนี้ ก็สุดแล้วแต่ ผมไปทำอะไรไม่ได้ ผมทำดีที่สุดของผมแล้ว"
@ ยังยืนยันที่จะไม่ถอนตัว?
"ผมสู้เพื่อความถูกต้องมาตลอด ผมเคารพหลักของกฎหมาย เคารพการตีความทางกฎหมายที่ถูกต้อง การลงสมัครครั้งนี้ ผมคิดว่าผมมีคุณสมบัติเพียงพอ ถ้าประสบการณ์ผลงานที่ผ่านมา ผมไม่ดี นั่งทำงาน แบบเช้าชามเย็นชาม ไปวันๆ ถ้าคนที่เห็นคุณค่าของเงินแผ่นดิน และคิดอยากจะปกป้องมัน ไม่มีความหมายไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีแล้ว สำหรับประเทศไทย ในช่วงการปฏิรูปประเทศ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกผม กลับมาทำงานผู้ว่าฯ สตง.อีก"
"ขอเรียนยืนยันตรงนี้ ว่า การมาสมัครผู้ว่าฯ สตง. ของผม ก็เพื่อจะเอาความรู้ประสบการณ์ที่มีมารับใช้สตง.และสังคมประเทศชาติ รักษาประโยชน์เงินแผ่นดินตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน มิได้มุ่งหวังต้องการลาภยศสรรเสริญเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพราะสำหรับผมเรื่องลาภยศตำแหน่งนั้นละสิ้นไปนานแล้ว"