คสป.เสนอออก พ.ร.บ.คุ้มครองเกษตรกรในระบบพันธะสัญญาไม่ให้ถูกเอาเปรียบ
คสป.ชำแระปัญหาเกษตรกรไทย หนี้บาน 6.3 ล้านครัว ไร้ที่ทำกินร้อยละ 60 เสนอออก พ.ร.บ.คุ้มครองเกษตรระบบพันธะสัญญา งดภาษีกระดูกสันหลังชาติ ให้เงินกู้เรียนจบอุดมศึกษา หนุนโรงเรียนชาวนา
คณะกรรมการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาภาคเกษตรกรรมไทยว่า ในปัจจุบันจำนวนของเกษตกรไทยลดลงเรื่อยๆอย่างเห็นได้ชัดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ระหว่างปี พ.ศ. 2544–2553 ซึ่งลดมากถึงร้อยละ 1.09 ในขณะที่แรงงานในภาคเกษตรนั้นสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงที่ประชาคมโลกเกิดวิกฤตการณ์ด้านอาหารตั้งแต่ พ.ศ. 2551 และถึงแม้ว่าไทย
จะเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรลำดับต้นๆของโลก แต่เกษตรกรไทยกลับเต็มไปด้วยหนี้สิน ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 เป็นต้นมามีเกษตรกรที่เป็นหนี้มากถึง 6.3 ล้านคน รวมหนี้สินกว่า 8 แสนล้านบาท และยังมีเกษตรกรที่ยังต้องสูญเสียที่ดินทำกินมากถึงร้อยละ 59.73 ของเกษตรกรทั้งหมด หลายคนต้องเช่าที่ดินทำกินเพราะปัญหานายทุนกว้านซื้อ ซ้ำร้ายร้อยละ 39 ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในร่างกายระดับไม่ปลอดภัย ที่สำคัญขาดคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสานต่ออาชีพเกษตรกร ในขณะที่แรงงานภาคเกษตรที่มีอยู่เดิมนั้นก็กำลังเข้าสู่วัยชรา
อีกปัจจัยที่เป็นวิฤตเกษตรกรไทยคือไม่ได้ถือครองปัจจัยการผลิตเอง เช่น เมล็ดพันธุ์ สารเคมี อาหารสัตว์ ที่รวมศูนย์อยู่ในระบบการค้าสมัยใหม่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่กี่ราย โดยเฉพาะการเกษตรในรูปแบบพันธะสัญญาของนายทุนยักษ์ใหญ่ยิ่งเร่งเร้าให้เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย(คสป.) ในวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.นี้ หนึ่งในประเด็นที่จะมีการนำเสนอคือ “การปฏิรูประบบเกษตรกรรม เพื่อความเป็นธรรมและความมั่นคงทางอาหาร” ซี่งจะมีการนำเสนอมติที่ประชุมในการปฏิรูประบบเกษตรกรรมไทยอย่างยั้งยืน อาทิ เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ทำหลักสูตรการเรียนการสอนว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนที่เน้นคุณค่าและมูลค่า
เสนอให้มีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยผ่านกลไกต่างๆ เช่น ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน โรงเรียนชาวนา นักวิจัยเกษตรกร อาสาสมัครเกษตร สภาเกษตรและสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรท้องถิ่น พร้อมปรับทิศทางการทำงานให้สนับสนุนและทำงานร่วมกับเกษตรกรและชุมชนมากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรรมและขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืนอย่างกว้างขวาง
เสนอให้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนให้เกิดการสร้างเกษตรรุ่นใหม่โดยใช้นโยบายและมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น นโยบายการเงินการคลัง ทุนการศึกษาแก่ลูกหลานเกษตรกร หรือเงินกู้เพื่อการศึกษาดอกเบี้ยต่ำสำหรับการศึกษาการเกษตรแบบยั่งยืนจนจบการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยกเว้นภาษีจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมยั่งยืนภายในระยะเวลา 7 ปีด้วย
ยังเสนอให้ปฏิรูปกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ให้รัฐบาล สมาชิกรัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองเกษตรกรภายใต้ระบบการเกษตรแบบพันธะสัญญาภายในปี พ.ศ. 2556 โดยให้มีเนื้อหา เช่น ไม่ให้เกษตรกรต้องกลายเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม พร้อมทั้งเร่งปฏิรูปกฏหมายเพื่อลดการผูกขาดและควบคุมการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอีกด้วย