สมัชชาปฏิรูปประเทศเตรียมชง จัดตั้งธนาคารแรงงาน-กองทุนพิทักษ์สิทธิ์กรรมกร
เวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศ เตรียมนำเสนอมติแก้ปัญหาแรงงานไทยอย่างยั่งยืน ชงปรับโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน จัดตั้งธนาคารแรงงาน ตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ์แรงงาน
คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย(คสป.) ในวันที่ 30 มี.ค.-1 เม.ย.นี้ หนึ่งในประเด็นที่จะมีการนำเสนอคือ “การปฏิรูปแรงงานและสวัสดิการ : การเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน การปรับโครงสร้างค่าจ้าง การเพิ่มผลิตภาพและการคุ้มครองแรงงงาน”
ทั้งนี้ข้อมูลจาก คสป.ระบุว่าในวันที่ 1 เม.ย.นี้จะครบกำหนดที่รัฐบาลประกาศดำเนินการตามนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งมีทั้งกระแสต้านและสนับสนุน แต่ในความเป็นจริงอัตราค่าจ้างแรงงานของไทยมีความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันมาอย่างช้านาน เห็นได้จากสถิติจำนวนตัวเลขค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี พ.ศ. 2554 ที่ประกาศโดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างนั้น มีตัวเลขที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่อัตราค่าจ้างต่ำสุดคือ จ.พะเยา ได้รับวันละ 159 บาท ส่วนจังหวัดที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดที่สุดคือ จ.ภูเก็ต ได้รับวันละ 221 บาท ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้รับวันละ 215 บาท
ด้วยอัตราตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่ ทำให้ร้อยละ 60 ของแรงงานไทยมีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 6,000 บาท แต่ในทางกลับกันการใช้วิถีชีวิตในสังคมเมือง ในเขตอุตสาหกรรม ต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วแรงงานยังต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการทำงานเพื่อส่งไปให้พ่อแม่ลูกที่อยู่ในชนบท ด้วยจำนวนอัตราค่าจ้างที่ไม่คงที่นั้นจึงทำให้แรงงานจำนวนมากจะต้องทำงานให้ได้วันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาชดเชยค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้แล้วการทำงานหนักวันละ 10-12 ชั่วโมงนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่บั่นทอนสุขภาพของแรงงานไทย ซึ่งการรักษาพยาบาลของลูกจ้างตามสิทธิประกันสังคมเองก็ไม่ได้เท่าเทียมกับข้าราชการ และสิทธิของประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพ
ไม่เฉพาะอัตราค่าจ้างของแรงงานไทยที่ไม่คงที่เท่านั้น แรงงานไทยยังขาดอำนาจต่อรอง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีและยังมีปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบเกิดความขัดแย้งกับฝ่ายธุรกิจ นายจ้าง หรือกลไกของรัฐ แรงงานส่วนใหญ่นั้นมักจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร เนื่องจากคู่กรณีมีอำนาจทุนและอำนาจรัฐ เมื่อเข้าสู่ประเด็นพิพาทและเกิดการดำเนินการของกฏหมาย แรงงานจำนวนมากไม่มีทุนว่าจ้างทนายความมาช่วย จึงเสียเปรียบและต้องยอมจำนน
ทั้งนี้คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป เตรียมเสนอมติแก้ปัญหาแรงงานไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ได้แก่ การปรับโครงสร้างค่าจ้างแรงงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม มีโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ ความเสี่ยงและลักษณะงานของลูกจ้าง และเสนอจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือกองทุนการเงินของแรงงานด้วย
ตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิ์แรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์หลักสองประการ 1.ให้นายจ้างและรัฐบาลสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการเลิกกิจการแล้วลูกจ้างจะได้รับเงินชดเชยจากกองทุนนี้ 2.ลูกจ้างมีสิทธิได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย ในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้
เสนอให้กระทรวงแรงงานร่วมกับนายจ้างจัดตั้งบริษัทกำลังคน ซึ่งจะเป็นบริษัทกลางที่ร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยให้บริษัทจัดหางานเอกชนที่มีอยู่แล้วทั้งหมดถือหุ้น เพื่อทำหน้าที่จัดฝึกกำลังคน แสวงหาตลาดในต่างประเทศ ดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ และติดต่อประสานงานกับครอบครัวของแรงงานในประเทศ พร้อมดูแลค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับแรงงานเหล่านี้
เสนอให้กระทรวงแรงงานและสถาบันการศึกษาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมพัฒนานโยบายและองค์กรแรงงาน เป็นหน่วยงานอิสระทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเชิงระบบเรื่องผลกระทบนโนบายสาธารณะด้านแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาองค์กรแรงงาน เสนอแนะเชิงนโยบายยุทธศาสตร์แรงงานให้สอดคล้องกับความเป็นประเทศอุตสาหกรรมยุคใหม่