‘ชวน หลีกภัย’ ย้อนความทรงจำถวายงาน 'ร.9' ทรงรอบรู้เหมือนตาทิพย์
“แปลกใจว่าพระองค์รู้เรื่องนี้ได้อย่างไร เลยสอบถาม พระองค์บอกว่า ฉันรู้ เพราะฉันฟังคุณฟองสนานพูดเมื่อเช้า ผมจึงต้องมาบอกคุณฟองสนานว่า พูดดี ๆ นะ ในหลวงฟังอยู่”
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เคยได้รับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะสมัยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2524-25
นายชวน บอกเล่าความทรงจำถึงพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของในหลวง ร.9 ให้ฟังในงาน 9 วัน 9 ความทรงจำ ธ สถิตอยู่ในใจนิรันดร์ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2560 ว่า วันแรกที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้นยังมีอายุน้อย เพียงแค่ 30 กว่าปีเท่านั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทราบดีว่า นายชวนไม่มีความรู้ด้านเกษตรโดยตรง จึงรับสั่งถึงแนวทางการทำงานในฐานะรัฐมนตรีว่า เดี๋ยวนี้เราไม่จำเป็นต้องมาสายตรง แต่สามารถเรียนรู้กันได้ โดยศึกษาจากคนที่มีความรู้
นับจากวันนั้น ด้วยความที่มีความอ่อนทั้งในเรื่องคุณวุฒิและวัยวุฒิ ทำให้ต้องระมัดระวังในการทำงาน เพราะต้องทำงานกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีอาวุโสกว่าถึง 4 คน
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานที่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาก ฉะนั้นเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว จึงต้องตามเสด็จ รับเสด็จ และส่งเสด็จ รวมถึงศึกษาโครงการเหล่านี้ให้ถ่องแท้
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทำงานเกี่ยวกับชาวบ้าน คนยุคปัจจุบันอาจนึกไม่ออกว่าอดีตมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่สมัยที่เป็นผู้แทนราษฎรครั้งแรก เพียงแค่ขับรถออกนอกเขตเทศบาลก็ลำบากแล้ว”
เพราะฉะนั้นความเจริญของประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าไปมาก อดีตนายกรัฐมนตรี บอกว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทอย่างมาก พระองค์มาจากสวิซเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มาอยู่ประเทศด้อยพัฒนาอย่างไทยขณะนั้น จึงได้เตรียมพระองค์เพื่อดูแลให้ประชาชนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี
การได้ตามเสด็จไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ทำให้เห็นว่า พระองค์มีความสนพระราชหฤทัยเรื่องของชาวบ้านจริง ๆ จำได้ว่า ครั้นเสด็จไปยัง จ.เชียงใหม่ พระองค์รับทราบว่ามีสหกรณ์แห่งหนึ่งมีพฤติกรรมไม่เรียบร้อยในแง่การบริหาร จึงมีรับสั่ง ซึ่งจำได้ขึ้นใจถึงทุกวันนี้
“เงินทั้งหมดมาจากภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นทำอะไรต้องซื่อตรง สุจริต อย่าให้เกิดปัญหาขึ้นมา” นายชวนมองว่า กระแสรับสั่งนั้น ชี้ให้เห็นพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยการทำงานขององค์กรในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต
จะเห็นว่า หลากหลายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เกิดจากพระอัจฉริยภาพของพระองค์ทั้งสิ้น ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า ประเทศไทยมีข้าราชการที่มีความรู้มาก แต่วันหนึ่งจะต้องเกษียณอายุราชการ แต่พระองค์ไม่มีวันเกษียณ ฉะนั้นจึงสั่งสมประสบการณ์ เรียกว่า มีความรอบรู้เหมือนตาทิพย์
“แผนที่ของพระองค์รู้หมดว่าพื้นที่ไหนน้ำจะท่วม พื้นที่ไหนน้ำจะไม่ท่วม ทำให้เมื่อจะมีพระราชดำริเรื่องอะไร ไม่ต้องลงดูพื้นที่จริง แต่ดูจากแผนที่ว่า พื้นที่ตรงนี้เพียงแต่เจาะช่อง น้ำจะไหลลงทะเลได้ พระองค์ทรงมองเห็น เพราะฉะนั้นสมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เวลาตามเสด็จ จึงต้องหาความรู้บ้าง”
นายชวน กล่าวถึงวิธีการหาความรู้โดยเชิญเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารมาอธิบายวิธีการดูแผนที่ก่อนตามเสด็จศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต่างยอมรับว่า “ท่านครับ ถึงพวกผมมีความรู้ แต่ไม่อาจเทียบกับในหลวงได้หรอกครับ เพราะทรงรู้จริง”
โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชุมพร เป็นหนึ่งในหลายร้อยโครงการพัฒนา ซึ่งในอดีตประสบปัญหาน้ำท่วม จนวันหนึ่งท่วมโรงพยาบาล พระองค์ทรงมองเห็นควรให้เจาะช่องน้ำ ในที่สุดปัญหาต่าง ๆ หมดไป เพราะทรงมีตาทิพย์นั่นเอง
หรือปัญหาเล็ก ๆ ที่เรามองข้าม แต่พระองค์มองเห็น อดีตนายกรัฐมนตรี เล่ายกตัวอย่างเหตุการณ์ ตนเองไม่มีบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องเช่าบ้านในซอยหมอเหล็ง วันหนึ่งขณะเข้าเฝ้า พระองค์ทรงกางแผนที่ให้ดู แล้วรับสั่งว่า “นายก ๆ ถ.ศรีอยุธยา มีรถติด บ้านนายกฯ อยู่ซอยไหน”
นายชวน บอกว่า พระองค์รับสั่งเช่นนั้นและชี้แผนที่ให้ดู เพื่อจะบอกว่า หากมีการสร้างสะพานข้ามจุดนั้น จะทำให้รถที่วิ่งบริเวณนั้นไม่ติดขัด เเละเมื่อก่อสร้างทำให้ตั้งเเต่นั้นมา ไม่มีรถติดขัดอีกเลย
“แปลกใจว่าพระองค์รู้เรื่องนี้ได้อย่างไร เลยสอบถาม พระองค์บอกว่า ฉันรู้ เพราะฉันฟังคุณฟองสนานพูดเมื่อเช้า ผมจึงต้องมาบอกคุณฟองสนานว่า พูดดี ๆ นะ ในหลวงฟังอยู่”
อดีตนายกรัฐมนตรี เล่าให้ฟังต่อว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังเป็นคนประหยัดมาก ฉะนั้นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการ จึงทำขึ้นด้วยความระมัดระวัง ผ่านการศึกษาอย่างถ่องแท้ ยกตัวอย่าง การก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการแรกที่มีค่าเวนคืนที่ดินสูงกว่าค่าก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีค่าเวนคืนที่ดินสูง แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ปีเดียวน้ำไม่ท่วม ถือว่าผลสำเร็จเกินคุ้มค่า พระองค์รับสั่งว่า ขาดทุนของเรา คือ กำไรของเรา เพราะฉะนั้น ความเสียหายไม่เกิดขึ้นปีเดียวเกินคุ้มแล้ว
ฉะนั้นความพอเพียง ไม่ใช่ความขี้เหนียว หรือไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะบางอย่างต้องกล้าลงทุน ยกเว้นอะไรที่ไม่ควร หรือฟุ่มเฟือยเกินเหตุ พระองค์จะระมัดระวัง นายชวนบอกว่า เงินทุกบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเกิดเป็นโครงการที่มีประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่ทำเพื่อความสนุกสนาน
ทั้งนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งหลายครั้งในเรื่องความประหยัดว่า “ถ้าประเทศไทยไม่รู้จักประหยัด จะอยู่ไม่รอด” พระองค์จึงเป็นพระเจ้าแผ่นดินตัวอย่างที่ใช้ชีวิตรู้จักคุณค่าของทุกสิ่งทุกอย่าง
“ตัวเราไม่อาจนำแบบอย่างพระองค์มาเปรียบเทียบได้ แต่ในฐานะคนทำงาน เห็นว่า ในหลวงทรงศึกษาอะไรถ่องแท้จริง จึงบอกว่า พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ นักปฏิบัติ และอยู่กับโลกความเป็นจริง ไม่เพ้อเจ้อ หรือคิดอะไรเกินความเป็นจริง แต่คิดจากประสบการณ์ ก่อนจะเสนอคำแนะนำ พระองค์จะต้องผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้วทั้งนั้น” นายชวน กล่าวในที่สุด
ทั้งหมดนี้คือความในใจบางช่วงบางตอนที่อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ‘นายชวน หลีกภัย’ หยิบยกมาบอกเล่า เพื่อรำลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ผู้สถิตในดวงใจนิรันดร์.