"อานนท์ นำภา"ทนายแดงอุทธรณ์ "พท.-นปช. ทิ้งเหยื่อโดนขังลืม"
เป็นประเด็นร้อนกับ คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศระหว่างการโฟนอินที่ จ.สุรินทร์ว่า “รัฐบาลกำลังทำงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งเรื่องการเยียวยาคนเสื้อแดงทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ขอย้ำว่าอย่าขัดแย้งกัน เรื่องนักโทษเสื้อแดง ขอให้ใจเย็นๆ ผมกำลังพูดคุยกับผู้พิพากษาอยู่ น่าจะเรียบร้อยทุกอย่าง ถ้ารัฐบาลไม่มีเงินประกันตัวเสื้อแดง ผมจะเอาเงินของผมไปประกันให้ทุกคนเอง”
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเดินหน้า 2 ยุทธศาสตร์ใหญ่ คือ การจัดทำรธน.ใหม่ทั้งฉบับ และการปรองดองที่มีเป้าหมายไปสู่การนิรโทษกรรม ล้างความผิดทุกคดีหลังการปฏิวัติ 2549
ในหมวดการปรองดอง มีหลายขาที่ต้องเดินควบคู่ คือ การเยียวยาซึ่งรัฐบาลได้ออกมติครม.กำหนดค่าชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อจากเหตุการณ์ชุมนุมทั้งม็อบเหลืองและม็อบแดง โดยผู้เสียชีวิตรายละ 7.75 ล้านบาท อีกขาคือ การประกันตัว คนเสื้อแดง ที่ต้องคดีและถูกคุมขัง โดยยอดก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลอยู่ที่ 101 คน แต่ผ่านมา 8 เดือนที่ได้เป็นรัฐบาล กลับไม่มีความคืบหน้ามากนัก ยังมีคนเสื้อแดงถูกคุมขังในคดีต่างๆ รวม 66 คน
คนเสื้อแดงที่อยู่ในเรือนจำไม่ได้รับการประกันตัวเหมือนแกนนำ แยกเป็นคดีความผิดกลุ่มต่างๆ ดังนี้ คือ กลุ่มคดีผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 , คดีพรก.ฉุกเฉิน , คดีก่อการร้าย, คดีครอบครองอาวุธวัตถุระเบิด ครอบครองอาวุธสงคราม พรบ.อาวุธปืน คดีวางเพลิงเผาทรัพย์ , คดีร่วมกันฆ่า , คดีลักทรัพย์
นายอานนท์ นำภา ทนายความสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ ที่รับหนักในการวิ่งรอก ช่วยเหลือประกันตัวกับ คนเสื้อแดงในช่วงที่ผ่านมา กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้ต้องขังถูกควบคุมตัวในเรือนจำ 66 คน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลนำโดยกระทรวงยุติธรรมได้อนุมัติงบมาให้สำหรับการประกันตัวแล้วจำนวนหนึ่ง และภายในเดือนมี.ค.-เม.ย. สมาคมทนายความที่ทำงานเกี่ยวกับคดีของกลุ่มนปช. จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลที่สั่งไม่ให้ประกันไปอีกครั้งหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างการจัดทำคำร้องขอประกัน
“การยื่นประกันตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอุปสรรคสำคัญในการช่วยเหลือผู้ถูกคุมขังที่ยังเหลืออยู่ คือ เวลาที่เรามีหลักทรัพย์ของตัวจำเลยไปยื่น ศาลไม่ให้ประกัน หรือแม้แต่ใช้หลักทรัพย์ของกรมคุ้มครองสิทธิไปยื่นศาลก็ยังไม่ให้ ซึ่งคนที่ยังไม่ได้รับการประกันตัวที่เหลือ คือชาวบ้าน เป็นชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย ดังนั้นจะเห็นว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักทรัพย์ที่นำไปขอประกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ศาล คือศาลไม่ให้ประกันตัว”
สำหรับท่าทีของพรรคเพื่อไทยได้ให้ความช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน หลังจากถูกวิจารณ์ว่า ลอยแพคนเสื้อแดง นายอานนท์ กล่าวว่า ในส่วนของการยื่นประกันตัวในทางกฎหมาย รัฐบาลช่วยในระดับหนึ่งโดยอนุมัติงบประมาณมาช่วย แต่ถ้าในทางนโยบายในความเห็นส่วนตัวนั้น มองว่า รัฐบาลยังทำช่วยไม่มาก ทั้งที่ สามารถทำได้ไกลกว่านี้ เพราะดูง่ายๆจากสิ่งที่ถูกสะท้อนออกมาจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ที่ได้ศึกษาเรื่องความรุนแรงการสลายการชุมนุม โดยคอป.ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่า ปัญหาหนึ่งที่ทำให้การเมืองปะทุ และบรรยากาศยังอึมครึมอยู่ขณะนี้ คือเรื่องของนักโทษการเมือง
“อย่างที่ผมบอก ขณะนี้ปัญหาที่มีอยู่คือไม่ใช่เรื่องของเงิน ซึ่งถ้าเราดูจากทางปฏิบัติแล้วฝ่ายบริหารสามารถเข้าไปประสานงานกับฝ่ายตุลาการได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราให้ฝ่ายบริหารเข้าไปแทรกแซง แต่หมายความว่า น่าจะหาวิธีช่องทางอื่นเช่น อาจจะใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีเข้าไปประกัน หรือวิธีทางอื่นที่สามารถทำได้มากกว่านี้มากว่าที่จะสนับสนุนเรื่องของเงิน ที่สำคัญในส่วนของฝ่ายบริหารถ้ายังเห็นว่านักโทษการเมืองที่ยังติดคุกอยู่ สามารถออกเป็นกฎหมาย พรบ.นิรโทษกรรม ได้โดยใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ ส.ส.ในสภาที่พรรคเพื่อไทยมีเสียงส่วนใหญ่สามารถ ออกได้และน่าจะผ่าน แต่ตอนนี้ไม่ทราบว่ารัฐบาลรออะไรอยู่” นายอานนท์ ตั้งคำถามกับรัฐบาล”
ทนายเสื้อแดง กล่าวว่า ในการช่วยเหลือชาวบ้านเสื้อแดง ที่ยังถูกคุมขังอยู่กับการช่วยเหลือแกนนำคนสำคัญของ นปช.ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำกันอยู่พอสมควร อย่างการช่วยเหลือแกนนำนปช. บางคนมีคดีหมิ่นพระบรมราชานุภาพด้วย แต่ก็ได้รับการประกันตัวออกมา ผิดกับชาวบ้านที่ยังติดคุกในความผิดมาตรา 112
ดังนั้นรัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือให้มากกว่านี้ เพราะเท่าที่เห็นยังไม่เพียงพอ
“ความสามารถของรัฐบาลน่าจะช่วยได้ไกลกว่านี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อศาลไม่ให้ประกันแล้วเรื่องก็จบ แต่เราต้องคุยกันต่อว่าเมื่อไม่ได้ประกันแล้วเราจะมีช่องทางไหนช่วยเหลืออย่างไร หรือจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม เขาอย่างไร และตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาพูดอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง แต่เขากลับออกมาให้ความสำคัญเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้เร่งด่วนที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ในทางกลับคนคนที่ช่วยเหลือคุณ มวลชนที่เป็นชาวบ้านของคุณที่เป็นคนบริสุทธิ์ ยังถูกกุมขังอยู่ ทั้งๆที่เขามีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมคือเขามีสิทธิที่จะต้องได้รับการประกันตัว แต่ชาวบ้านตัวเล็กๆเหล่านี้ กลับถูกปฏิเสธจากฝ่ายตุลาการ ดังนั้นการใช้อำนาจบริหารเข้ามาถ่วงดุลอำนาจตุลาการสามารถทำได้อยู่แล้วโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม” นายอานนท์ กล่าว
สำหรับความช่วยเหลือจากฝั่งแกนนำ นปช. ที่มีต่อมวลชนเสื้อแดง นั้น นายอานนท์ บอกว่า ทางกลุ่ม นปช.เองได้ให้ความช่วยเหลือ โดย นาง ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธานนปช. จะคอยประสานไปยังสมาคมทนาย เพื่อทำเรื่องประกัน แต่สุดท้ายก็ยังติดอยู่ที่ศาลอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่ว่า การช่วยเหลือจะจบแค่นี้ โดยเฉพาะ สส.สายเสื้อแดง หรือ ส.ส. ที่มาจาก นปช. สามารถช่วยได้มากคือการเสนอเรื่องการทำนิรโทษกรรม แต่เขายังไม่ทำ
“ถ้าเรามองความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อไทยโดยตรงทางพรรคเขาก็ช่วยในระดับหนึ่ง คือมีการนำเอาส.ส.เพื่อไทยไปประกันในบางส่วนแต่มันไม่ได้ แต่เขาสามารถทำได้มาว่าการประกัน คือการนำรัฐมนตรีไปรับรอง ซึ่งสามารถทำได้ผล อย่างที่ทำให้กับ คุณอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ที่เอารัฐมนตรี เอาผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไปประกัน แต่ชาวบ้านไม่ได้ถูกใช้วิธีการนี้ และที่สุดเมื่อศาลไม่ให้ประกันแล้วมาอ้างว่าเราไม่สามารถไปแทรกแซงศาลได้ คือมันไม่ใช่ เพราะคุณมีอำนาจทั้งนิติบัญญัติ และอำนาจบริหารอยู่ในมือ คุณมีความชอบธรรมในการถ่วงดุลอำนาจตุลาการ ถ้าอำนาจตุลาการที่สั่งไม่ให้ประกัน ไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง รัฐบาลได้รับส่วนแบ่งอำนาจมาแล้ว รัฐบาลสามารถใช้ได้ในการถ่วงดุล แต่รัฐบาลไม่ใช้”
“ผมมองว่ารัฐบาลห่วงแต่เสถียรภาพของตัวเองมากเกินไป รัฐบาลคงเกรงว่าถ้าเสนอนิรโทษกรรมไป จะทำให้มีแรงต้านขึ้นมา ซึ่งมันไร้สาระ เราจะเสนอนิรโทษกรรมเฉพาะชาวบ้าน เราไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำมาแล้ว ในสมัย 2516 ที่ออกกฎหายนิรโทษกรรมให้ประชาชนโดยที่ไม่ออกให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจะมีกฎหมาย พรก.ฉุกเฉิน ที่เขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าเจ้าหน้าที่รัฐหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ เว้นแต่ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่นอกเหนือผิดกฎหมาย หรือเป็นการกระทำที่ร้ายแรง” นายอานนท์ กล่าว
การช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังถูกจองจำอยู่นั้น ใช่ว่าคนในประเทศจะสามารถช่วยได้เพียงทางเดียว แต่คนสำคัญกว่านั่นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พยายามช่วยเหลือมวลชน นายอานนท์ กล่าวว่า พ.ต.ท. ทักษิณ ยังดีที่ส่งคนมาดูแลนักโทษการเมืองในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ส่วนตัวเห็นว่า ถ้าคุยกันตรงๆ การเจรจาพูดคุยของฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ จะสามารถนำเอาชาวบ้านกลุ่มนี้ไปเป็นตัวละครในการเจรจาได้ หรือนำชาวบ้านไปเป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวได้ แต่เงื่อนไขนี้ยังไม่ถูกนำไปใช้ พูดง่ายๆว่าเขายังไม่นำเอาเงื่อนไขเสรีภาพของชาวบ้านไปเจรจา
ทางออกหนึ่งที่ ทนายความเสื้อแดงผู้นี้เตรียมไว้ คือ การหารือกับนักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับนักโทษการเมือง ว่าสามารถจะนำเสนอ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม และนำไปเป็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หรือให้ออกเป็นกฎหมาย เพราะถ้าเราไปบอกแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ รัฐบาลคงไม่ทำ แต่รัฐบาลคงอาจต้องใช้แรงมวลชนไปผลักดันรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง
“ถึงแม้มันแย่ตรงที่ว่ารัฐบาลมาจากมวลชนคนเสื้อแดงแต่ยังมีคนติดคุกอยู่ ยังจะต้องให้มวลชนไปกดดันตัวเองก็แปลกเหมือนกัน”
นายอานนท์ กล่าวอีกว่า ทุกครั้งที่เราพูดเรื่องเงื่อนไขการออก พรบ.นิรโทษกรรมกับ ส.ส.เพื่อไทยฝั่งคนเสื้อแดง มักจะถูกบิดไปทุกครั้ง เช่น เมื่อได้เป็นรัฐบาลในช่วงแรกก็ติดช่วงสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อพูดนิรโทษกรรมเข้าไปก็มีเสียงจากแกนนำบางคนสะท้อนออกมาว่าถ้าเราเสนอเข้าไปก็ดูไม่ดีจะหาว่าทำแต่เรื่องทางการเมือง ทั้งที่จริงแล้วเราเสนอเฉพาะชาวบ้าน ต่อมาเมื่อเราเสนอในช่วงนี้เข้าไป กลับมาขอว่าเอาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน เรื่องนิรโทษกรรมเอาไว้ก่อน พักไว้ก่อน ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง การติดคุกมาเกือบ 2 ปีไม่ได้พักเบรกกินกาแฟได้ ที่ผ่านมามีข้ออ้างอยู่มาก นักโทษการเมืองในเรือนจำเองเขาก็เดือดร้อน เขาก็ได้แต่ส่งเสียงผ่านทนายความ ผ่านคนที่เข้าไปเยี่ยม ซึ่งรัฐบาลต้องออกกหมายนิรโทษกรรมออกมา ขณะนี้มองว่ารัฐบาลไม่ได้ใส่ใจกับชาวบ้านที่ติดคุกเท่าที่ควร เมื่อคุณได้อำนาจรัฐไปแต่คุณยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาเรื่องชาวบ้านไม่ได้ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว
“ส่วนทางด้านของ แกนนำนปช. เอง ก็คุยเพียงแต่เรื่องประกันตัวส่วนเรื่องการออกกฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเขายังไม่มีการพูดถึง แต่กลับขอพูดถึงเรื่องการแก้ไขรับธรรมนูญก่อนอีกเช่นกัน โดยอ้างว่าเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งคนที่รับเดือดร้อนคนที่ติดคุกไม่สามารถรอได้แล้ว” นายอานนท์ กล่าว