อุทธรณ์ยืนคุก3ปีไม่รอลงอาญา!อดีต รมช. คลัง-พวก ช่วย‘โอ๊ค-เอม’ไม่จ่ายภาษีซื้อชินคอร์ป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ‘เบญจา หลุยเจริญ’ อดีต รมช.คลัง-3 อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่มิชอบช่วย ‘พานทองแท้-พินทองทา’ ไม่ยื่นคำนวณภาษีปมซื้อหุ้นชินคอร์ป ทำเสียหาย 7.9 พันล้านบาท คนใกล้ชิด ‘เลขาฯคุณหญิงพจมาน’ โดนด้วย 2 ปีฐานสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร นายกริช วิปุลา นุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ณ ป้องเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไม่ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย จากกรณีการซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 เสียหายกว่า 7.9 พันล้านบาท
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น นางเบญจา น.ส.จำรัส น.ส.โมรี และนายกริช มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83 จำคุกคนละ 3 ปี ส่วน น.ส.ปราณี มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมด จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
โดยศาลอุทธรณ์ พิจารณาคำอุทธรณ์ของจำเลยทุกประเด็น ทั้งเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และประเด็นว่าการตอบข้อหารือของจำเลยที่ทำหนังสือสอบถามกรมสรรพากรก่อนทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ กับเหตุสมควรการลงโทษสถานเบาหรือให้รอการลงโทษจำคุกหรือไม่นั้น
เห็นว่า ทุกประเด็นในคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 5 รายนั้นฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 5 ราย ในอัตราโทษโดยไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย โดยสภาพความผิดของจำเลยทั้ง 5 ราย เป็นการกระทำโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยจะอ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็มิได้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว และศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้ว มาเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษไม่ได้ จึงพิพากษายืน
ความคืบหน้าล่าสุด รายงานข่าวแจ้งว่า ศาลไม่ให้ประกันตัวนางเบญจา และถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อทั้งสองศาลคือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน คดีซึ่งในอัตราโทษจำคุกอย่างเดียวกัน คดีนั้นต้องห้ามฎีกาในประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงหากจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จะต้องให้ผู้พิพากษาที่ได้ร่วมทำสำนวนหรืออัยการสูงสุดลงนามรับรอง
อนึ่ง กรณีนี้จำเลยทั้งหมดไม่ให้นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากร หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย จากกรณีการซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164.6 ล้านบาท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท (ราคาตลาดขณะนั้น 49.25 บาท) ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้นคนละ 7,941,950,000 บาท (ราว 7.9 พันล้านบาท) ทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย