อะไรควรจะเป็นเป้าหมายที่แท้จริงในการพัฒนา EEC?
ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกชี้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางลำพังด้วยการลงทุนจากต่างชาติได้เลย นอกจากนี้ แม้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้ทำให้ 3 จังหวัดมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่น้อยในพื้นที่ และภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศได้รับผลประโยชน์ไม่มากนัก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” เพื่อนำพาประเทศสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ที่มาถูกทาง โดยพยายามแก้ไขจุดอ่อนของนโยบายก่อนหน้า เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัดชายแดน และการส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve industries)
รัฐบาลมุ่งหวังให้โครงการ EEC ดึงดูดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่เกิดขึ้นในอดีต
แม้ว่า การดึงดูดการลงทุนมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เป้าหมายที่แท้จริงของการพัฒนา EEC ไม่ควรวัดจากเพียงยอดลงทุนที่ได้รับ หรือจำนวนบริษัทชั้นนำระดับโลกที่มาลงทุน แต่ควรวัดจากความสามารถเทคโนโลยีของประเทศ และทักษะของแรงงานไทยที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนการปฏิรูปกฎระเบียบและการบริการภาครัฐที่จะตามมา และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระยะยาว
ในการดำเนินโครงการ EEC รัฐบาลได้ประกาศเสาหลักที่สำคัญ 3 ประการคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้แรงจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุน และการอำนวยความสะดวกในการลงทุน
เสาแรกคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีทั้งการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม เช่น สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ รถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ และการเริ่มโครงการใหม่ เช่น รถไฟความเร็วสูง และเมืองอัจฉริยะ
เสาที่สองคือ การให้แรงจูงใจทางภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยนักลงทุนในเขตส่งเสริมจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากเป็นประวัติการณ์ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ซึ่งทำให้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะจัดเก็บจริงของไทยต่ำที่สุดในอาเซียน และการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดเหลือเพียงร้อยละ 17 สำหรับบุคคลที่มีทักษะสูงในระดับโลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไทยมีมาตรการในลักษณะดังกล่าว นอกจากแรงจูงใจทางภาษีแล้ว นักลงทุนยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การเช่าที่ดินได้สูงสุด 99 ปี การได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยเงินตราต่างประเทศ และการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้เสร็จภายใน 1 ปี
เสาสุดท้ายคือ การอำนวยความสะดวกในการลงทุน ซึ่งจะมีการจัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ในสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยเลขาธิการของสำนักงานฯ สามารถอนุมัติหรือออกใบอนุญาตต่างๆ ได้ ทั้งที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร การจดทะเบียนพาณิชย์ และการจัดสรรที่ดิน ซึ่งจะช่วยปลดล็อคปัญหาด้านกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการให้บริการของรัฐที่ขาดความเป็นเอกภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การมุ่งมั่นดำเนินการตามมาตรการใน 3 เสาหลักดังกล่าวทำให้ EEC กลายเป็นโครงการที่น่าสนใจมากต่อนักลงทุน เมื่อเทียบกับการดึงดูดการลงทุนทั้งหลายของรัฐบาลไทยที่เคยมีมา ด้านรัฐบาลเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงทุนที่จะเกิดขึ้นใน EEC จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ
ผู้เขียนเชื่อว่า โครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างทั้ง สนามบินอู่ตะเภา รถไฟรางคู่ และมอเตอร์เวย์ น่าจะเกิดขึ้นจริงตามแผนที่วางไว้ ขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุดซึ่งมีการถมทะเล ยังต้องผ่านการยอมรับจากชุมชนก่อน ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินคือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภาก็มีความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน
ผู้เขียนยังเชื่อว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ จะช่วยดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายได้พอควร แต่มาตรการดังกล่าวก็มีต้นทุนสูงและมีประสิทธิผลจำกัด ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่คาดว่า น่าจะมีการลงทุนมากคือ สาขาที่ไทยมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งคือ อุตสาหกรรมเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วบางส่วน เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน และท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและเชิงสุขภาพ บริการสุขภาพ และอุตสาหกรรมใหม่บางสาขา เช่น การซ่อมบำรุงเครื่องบิน (MRO) โลจิสติกส์ และออโตเมชั่น โดยบริษัทต่างชาติชั้นนำในระดับโลก เช่น แอร์บัส โตโยต้า และลาซาด้า ได้แสดงความสนใจที่จะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ลำพังมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติและโครงสร้างพื้นฐานที่จะเกิดขึ้น ไม่ควรเป็นเป้าหมายหลักของ EEC ที่ผ่านมา ไทยสามารถดึงดูดบริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศได้ไม่น้อย เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ เราก็มีผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เราก็มีบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ 2 รายใหญ่ที่สุดโลกคือ ซีเกท และเวสเทิร์น ดิจิตอล บริษัทเหล่านี้ทำให้เกิดการจ้างงาน การเชื่อมโยงไทยเข้ากับห่วงโซ่การผลิตของโลก และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางอยู่เช่นเดิม
บทเรียนในอดีตจึงชี้ว่า การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยไม่ได้สร้างความสามารถทางเทคโนโลยีของตัวเอง และไม่ยกระดับทักษะของแรงงานไทย จะไม่เพียงพอที่จะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศรายได้สูง อันที่จริง ประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในโลกก็ชี้ว่า ไม่มีประเทศใดที่สามารถหลุดพันจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางลำพังด้วยการลงทุนจากต่างชาติได้เลย นอกจากนี้ แม้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้ทำให้ 3 จังหวัดมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ประชาชนไม่น้อยในพื้นที่ และภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศได้รับผลประโยชน์ไม่มากนัก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น การพัฒนา EEC ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง จึงควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม 4 ประการคือ
ประการแรก ไทยต้องมีความสามารถทางเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของไทยเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับบริษัทต่างชาติและบริษัทไทยที่มาลงทุน เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลยังควรพิจารณาตั้งสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยอาจตั้งขึ้นมาใหม่ หรือแยกบางหน่วยออกจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แต่ต้องกำหนดให้มีภารกิจที่ชัดเจนคือ การพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เป็นหลัก
ประการที่สอง แรงงานไทยต้องมีทักษะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวะของไทยต้องทำงานร่วมกับบริษัทใน EEC ในการพัฒนาบุคลากรและจัดการสอนแบบทวิภาคี เพื่อให้นักศึกษามีทักษะที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง
ประการที่สาม ต้องมีการปฏิรูปกฎระเบียบของรัฐ และการให้บริการประชาชนอย่างครบวงจรตามมาโดยเร็ว โดยนำเอาบทเรียนจาก EEC ไปขยายผลทั่วประเทศ เพราะกฎระเบียบและการบริการภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมานาน
ประการสุดท้าย ต้องมีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการสร้างความสามารถของชุมชนอย่างจริงจัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต โดยต้องเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา และเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส และเปิดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย