คุยกับ “พงษ์ธร” ผู้คิดระบบสร้างบ้านแบบวอลรัส ชี้นวัตกรรมทางรอดไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลาง
“สินค้าของผมคือนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเอง มันยาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ เราอาจทำไปแล้ว ทุกอย่างที่ทำมาคือ ศูนย์ก็ได้ การมาก๊อปปี้สินค้าช่วงที่เรากำลังตั้งไข่ มันเป็นความโหดร้ายอำมหิตกับเรามาเลย เราขาย Product ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขายยากนะครับ”
“คนทำนวัตกรรมจริงๆ มีต้นทุนอยู่แล้ว นวัตกรรมมีสองแบบ นวัตกรรมคิดขึ้นมาเองใหม่เลย กับนวัตกรรมย้อนทาง ของผมคือนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเอง มันยากเพราะเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ เราอาจทำไปแล้วทุกอย่างที่ทำมาคือ ศูนย์ก็ได้” “จอร์ช หรือ พงษ์ธร ปัทมจินตธำรง” เจ้าของบริษัทวอลรัส โฮม จำกัด ผู้ประดิษฐ์ “แผ่นผนังสำเร็จรูปเสริมแรง” และระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส เปิดใจให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
“พงษ์ธร” ได้เริ่มต้นฉายภาพให้เห็นถึงระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส โดยเขากล้าที่จะพูดว่า ระบบที่คิดค้นขึ้นมานี้สามารถลด Living Cost ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
1. เคยจ่ายค่าไฟเท่าไหร่ หารสอง เพราะไปในเมืองไทยค่าไฟมาจากแอร์เป็นหลัก ผนังบ้านวอลรัสจะทำให้บ้านคุณเย็นลง แตกต่างจากการเปลี่ยนหลอดไฟเป็น LED ช่วยลดค่าไฟได้เพียงนิดเดียว เป็นกิมมิกที่หลอกคนได้ที่ตัวเลข
2.บ้านเงียบลง เพราะโฟมที่ใช้เป็นโฟมเซลล์ปิด
และ 3.ปัจจุบันนี้ค่าแรงแทบจะไล่ตามค่าวัสดุก่อสร้างแล้ว สัดส่วนเริ่มใกล้กันมาก เช่น บ้าน 100 ตารางเมตร ระบบเดิมก่ออิฐ ฉาบปูนใช้แรงงานคน 12 คน เสร็จภายใน 4 เดือน เท่ากับ 12x350x120 ค่าแรง 504,000 บาท แต่ระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส ใช้คนแค่ 4 คน เสร็จภายใน 2 สัปดาห์
“ค่าแรงผมไม่ได้ให้ 350 บาทต่อวัน ผมให้ 700 บาทต่อวัน 4x14x700 เท่ากับค่าแรง 39,200 บาท นี่คือผลต่างที่เห็นชัด” พงษ์ธร ระบุ และว่า ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการก่อสร้างมา 3 เจนเนอเรชั่น ทุกคนมุ่งไปที่ Building Cost คิดทำอย่างไรลดให้ได้ต่ำที่สุด แต่น้อยคนนักจะคิดลด Living Cost ค่าครองชีพให้กับผู้อยู่อาศัย
และนี่คือสิ่งที่ทำให้ คนรุ่นใหม่ที่จบเศรษฐศาสตร์อย่างเขา เริ่มเปลี่ยนมาทำเป็นผู้ประกอบการทำธุรกิจ “ระบบสร้างบ้านวอลรัส” ตั้งแต่ปลายปี 2557 เริ่มแรกเปลี่ยนคลังวัสดุก่อสร้างให้เป็นโรงงานผลิตก่อน
14 มีนาคม 2560 “ ระบบสร้างบ้านวอลรัส” ด้วยผนังฉนวนรับแรงเฉือน ร่วมกับโครงข้อแข็งสมบูรณ์ที่เป็นเหล็กรีดเย็น (P835) ได้รับทุนอุดหนุน จากโครงการคูปองนวัตกรรมเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ไทย ไปสู่ประชาคมอาเซียนระยะที่ 2 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อการพัฒนาต้นแบบของผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการผลิต หรือรูปแบบธุรกิจจากแนวความคิดนวัตกรรม
ถัดจากนั้นประมาณ 3 เดือน 1 มิถุนายน 2560 ในฐานะผู้ประดิษฐ์ “แผ่นผนังสำเร็จรูปเสริมแรง” เขาก็ได้ขอรับอนุสิทธิบัตร อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 ซึ่งมีอายุสิทธิบัตรถึง ปี 2565
เพื่อให้เห็นภาพชัดมากขึ้น ระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส มีจุดเด่นอย่างไร
ผู้บริหารหนุ่มเปิดพรีเซนเทชั่นอธิบายอย่างแคล่วคล่องให้ฟังว่า “แต่เดิมการสร้างบ้านจะมีระบบผนังฉนวนรับแรง หรือ SIPs (Structural Insulation Panels) และระบบโครงข้อแข็งสมบูรณ์ เช่น บ้านโมดูลาร์ (Modular) ตู้คอนเทรนเนอร์ แต่ “ ระบบสร้างบ้านวอลรัส” เป็นรายแรกที่นำสองระบบมารวมกัน เป็นโครงสร้างสองชั้นทำงานพร้อมกันจะแข็งแรงกว่าปกติ เรานำระบบ SIPs มาเป็นแรงบันดาลใจ และด้วยความชอบสินค้าของอีเกีย ที่มีการดีไซน์สินค้าได้ลงล็อกหมด จึงเป็นที่มาระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส
ระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส ก็คือบ้านปูนหลังหนึ่ง เราแทบมองไม่ออกเป็นบ้านอะไร แต่หากสแกนข้างในจะมีเหล็กวิ่งซ่อนอยู่ ตรงประตูหน้าต่างมีเหล็กเป็นโครงข้อแข็งอยู่ เป็นกระดูกเหล็กซ่อนในเนื้อของผนัง วันนี้เราพัฒนานำระบบ SIPs มาแปลงเป็นเฟอร์นิเจอร์ เคาน์เตอร์ แผงค้าในตลาดสดได้ด้วย
นอกจากนี้ ระบบสร้างบ้านวอลรัสยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานได้มาก ผู้ประดิษฐ์ “แผ่นผนังสำเร็จรูปเสริมแรง” เปรียบเทียบให้ฟังว่า เหมือนเราทำให้จอยสติก (joy stick) มาอยู่ในมือลูกค้า สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เดิมเราให้ช่างมาทำบ้าน หรือต่อเติมบ้านเราแทบควบคุมอะไรเขาไม่ได้เลย บางเจ้าลากไป 45 วัน ลากไป 3 เดือนเราก็ต้องยอม แต่การสร้างบ้านแบบวอลรัส ว่าเป็นวันๆ ไป อีกทั้งผู้รับเหมาก็ไม่อยากจะดึงงาน เพราะการสร้างบ้านระบบนี้จะใช้เวลาเร็ว รีบจบหลังนี้ไปทำหลังใหม่ดีกว่า ใช้คนน้อย กำไรอยู่แล้ว
นี่คือจุดเด่น ที่เขาบอกว่า ลูกค้าสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้
“ระบบผนังของผม เหมือนการเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็นห้องเย็น แปลว่า หากเปิดแอร์ปุ๊บเย็นเลย และความร้อนภายนอกจะเข้ามาลำบาก ทำให้ประหยัดพลังงาน เราเปลี่ยนคอนเซ็ปจากของถูก เร็ว ดี จะมาพร้อมกัน ใช้ของที่คุ้มราคา โดยไม่ต้องจ่ายแพง”
ในฐานะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพกับสินค้าที่มีนวัตกรรม ยังมีมุมมองแบบยั่งยืน “การใช้บ้านระบบนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เราไม่ต้องไปดิ้นรนหาพลังงานทดแทน แต่ที่ผ่านมาเราใช้ไฟกันเยอะ จึงต้องไปหาเพิ่มเยอะ แต่หากผมจะบอกว่า มีระบบบ้านที่ทำให้ใช้ไฟน้อยลงครึ่งหนึ่ง คอมเพรสเซอร์ตัด ทำงาน 2 ชั่วโมงแล้วตัดทั้งคืน พลังงานทั้งประเทศจะใช้น้อยลงอัตโนมัติ”
เมื่อถามถึงระบบการสร้างบ้านแบบวอลรัส รองรับความเสี่ยงแผ่นดินไหวได้หรือไม่นั้น เขาบอกว่า บริษัทวอลรัส โฮม กำลังรอผลจากห้องทดสอบคาดไม่เกินปลายปี ผลน่าจะออกมา
และเมื่อถามถึงวัสดุโฟม ซึ่งเป็นวัสดุหนึ่งในระบบสร้างบ้านวอลรัส บางคนบอกว่า โฟมเป็นมลพิษ เพราะไม่ย่อยสลาย จอร์ช มองต่าง บอกว่า “ ผมก็จะเอาสิ่งที่ไม่ย่อยสลายมาทำเป็นบ้าน จะได้เป็นบ้านที่ทนๆ และจริงๆ แล้ว โฟม 1 ก้อน มาจากพลาสติกเท่ากระเป๋าเป้เพียง 1 ใบ แต่สามารถฟูขึ้น ดังนั้น โฟมมีวัตถุดิบแค่ 2% ที่เหลือคืออากาศ หมายความว่า ผมใช้ทรัพยากรแค่ 2% ในการทำบ้าน”
วอลรัส โฮม ต้องการเปลี่ยนทัศนคติคนไทย สื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้โฟมก่อสร้างไม่ติดไฟ พ่นไฟใส่ก็ไม่เป็นอะไร วันนี้ไม่มีวัสดุอะไรที่วิเศษที่สุดในโลก หรือมีแต่ข้อดีไม่มีข้อเสีย และก็ไม่มีอะไรที่มีข้อเสีย แล้วไม่มีข้อดี เขามองว่า การนำตัว EPS โฟมที่ไม่ย่อยสลาย มีความทน ไปใช้ แล้วเอาความเบาของมันไปใช้ โฟมก้อนหนึ่งมีโพลิเมอร์แค่ 2% ที่เหลือเป็นอากาศหมด แปลว่า เขาทำบ้านหลังหนึ่งเบียดเบียนทรัพยากรโลกน้อยมาก ส่วนเศษชิ้นเล็กๆ ที่เหลือ ก็นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ต่อได้ แทบไม่มีเศษเหลือทิ้งเลย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของบริษัทวอลรัส โฮม จำกัด คือใคร เขาไล่ให้เห็นมีตั้งแต่เจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา คนที่อยากมีบ้าน พื้นที่ที่มีการขนส่งลำบาก บ้านภัยพิบัติ หรือบ้านที่อยากสร้างไวๆ ในอนาคต วอลรัส โฮม ยังมองไปที่กลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพราะประเทศเหล่านี้ประชากรยังโตเพิ่มอยู่
ส่วนเมืองไทย เขามองไปที่ กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ (Aging Society) มองกลุ่มลูกค้าที่บ้านหนึ่งหลังมีคนอาศัยอยู่มากกว่า 3 รุ่น
ปัจจุบัน “พงษ์ธร” ได้ทำสัญญา 3 ปี ผลิต OEM ชุดครัวให้โฮมโปร เป็นครัวปูนที่แข็งแรงกว่าระบบเดิม ครัวที่ประกอบเร็วที่สุด นับเป็นนาที
แต่หนทางสตาร์ทอัพไทย ใช่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะมีนวัตกรรมมีแนวความคิดทำธุรกิจดีๆ แล้วก็ตาม “พงษ์ธร” เล่าว่า เขาเคยโดนบริษัท ไทยนาโนเฮ้าส์ จำกัด ลอกเลียนแบบสินค้า อย่างที่เคยเป็นข่าวตำรวจบุกจับ (อ่านประกอบ:http://www.tnamcot.com/view/59d1d794e3f8e4e10c07ab8f)
“คนทำนวัตกรรมจริงๆ มีต้นทุนอยู่แล้ว นวัตกรรมมีสองแบบ นวัตกรรมคิดขึ้นมาเองใหม่เลยกับนวัตกรรมย้อนทาง ของผมคือนวัตกรรมที่คิดขึ้นมาเอง มันยากเพราะเราไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ เราอาจทำไปแล้ว ทุกอย่างที่ทำมาคือ ศูนย์ก็ได้ การมาก๊อปปี้สินค้าช่วงที่เรากำลังตั้งไข่ มันเป็นความโหดร้ายอำมหิตกับเรามาเลย เราขาย Product ที่ไม่เคยมีมาก่อน ขายยากนะครับ”
พร้อมกันนี้เขาเชื่อมั่นว่า นวัตกรรม หรือ innovation จะทำให้ประเทศไทย หลุดจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ได้ ไปไหนไม่ได้แล้ว ดังนั้น เราต้องเอาตัวรอดด้วย นวัตกรรม
“ผมไปขอทุนธนาคารหลายแห่ง ทุกคนถามว่า ของเรามีแอพิเคชั่นอะไร ทุกคนเข้าใจว่า นวัตกรรมคือ แอพริเคชั่น ผมบอกว่า ไม่ใช่นะ นวัตกรรมของผมเปลี่ยนโลกได้หมดเลย ถามว่า บ้านเข้าถึงได้ง่าย ทุกคนมีที่อยู่อาศัย ประหยัดพลังงานได้เป็นเท่าตัว คือมูลค่าที่เกิดกับประเทศ กับครอบครัวหนึ่งครอบครัว”
นอกจากนี้ เขายังเจอกรณีสั่งของแล้ว ให้หยุดงาน แล้วจะไม่จ่ายเงิน เพราะเกิดไม่มั่นใจสินค้าขึ้นมา แล้วเขาก็ถามกลับมาว่า “บริษัทคุณเป็นบริษัทใหม่ แล้วจะเอาอะไรมารับประกันเขา แปลว่า ลูกค้า มีแอทติจูด ทั้งๆที่ 3 ปีช่วงเริ่มต้นลูกค้าที่เป็นสถาปัตย์ฯ วิศวะ หรือหมอแทบไม่มีคำถามเลย”
และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ เจ้าของธุรกิจขนม "สยาม บานาน่า" หรือขนมที่เรียกว่า "โตเกียว บานาน่า เมืองไทย" กรณีนี้ เขาติดตั้งผนังสร้างโรงงานไป 95% แล้ว เรียกว่าทำงานเกินงวด แล้วสั่งให้หยุดงาน อ้างหาเหตุงานมีปัญญา สุดท้ายไม่จ่ายเงินงวดที่ค้างเกือบ 9 แสนบาท ซึ่งผู้รับเหมา 5 รายเจอเหมือนกันหมด ในที่สุดหลังเจรจาหลายต่อหลายรอบไม่เป็นผล “พงษ์ธร” ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ติดตั้งไป 95%
“บทเรียนของผมคือ ผมจะต้องไม่มีเคสแบบสยามบานาน่า ที่ 2 ที่ 3 อีก ก่อนที่รถส่งของไปถึงหน้างาน หากไม่เก็บเงิน 100% ผมจะไม่ลงของ และเราต้องกลับมาทำเรื่องนิติกรรมให้ปลอดภัยสำหรับธุรกิจ กลับมาดูเรื่องสัญญา การสร้างระบบสัญญาเพื่อทำให้เขาเอาเปรียบเราไม่ได้ สินค้าเราทำมาเพื่อผลิตให้ไซต์งานนี้ เราจะเอาไม่ใช้ที่อื่นไม่ได้”
นี่คือความย้อนแย้งนโยบายรัฐอยากขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม ทางกลับกันการดำเนินธุรกิจให้แข็งแกร่งและอยู่รอด ในโลกความเป็นจริงแล้ว เป็นเรื่องไม่ง่ายเอาเสียเลย...