จุฬาฯรั้งอันดับ245 มหาวิทยาลัยดีระดับโลก -มธ.ติดท็อป100 เอเชีย
เอ็มไอที ครองที่หนึ่งมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ม.สองแห่งของสิงคโปร์ติดท็อป 20 แรก ด้านมหาวิทยาลัยไทย จุฬาฯอันดับดีสุดที่ 245 รั้งที่ 50 ของเอเชีย ด้าน มธ. ติดกลุ่มอันดับ 601-650 ของโลก- 97 ของเอเชีย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เว็บไซต์ของ QS TOP UNIVERSITIES ได้ประกาศอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลกประจำปี 2018 สำหรับมหาวิทยาลัยที่ครองแชมป์ดีที่สุดในโลกสำหรับปีนี้ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูแซตส์หรือ MIT สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยอันดับสอง มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (สหรัฐฯ) อันดับ3 มหาวิทยาลัยฮาร์วอร์ด (สหรัฐฯ) อันดับ4 สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอเนียหรือ Caltech (สหรัฐฯ) อันดับ5 มหาวิทยาลัย แคมบริดจ์ (สหราชอาณาจักร)
ทั้งนี้ในอันดับท็อป 20 อันดับแรก มีมหาวิทยาลัยจากสิงคโปร์สองแห่งติดอันดับด้วย ได้แต่ สถาบันเทคโนโลยีนันยาง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อยู่ในอันดับที่ 11 และ 15 ตามลำดับ
ในส่วนของมหาวิทยาลัยไทยนั้น ใน 10 อันดับแรก ได้แก่
1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 50 ของเอเชีย
2. มหาวิทยาลัยมหิดล อันดับ 58 ของเอเชีย
3. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ 97 ของเอเชีย
4. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อันดับ 112 ของเอเชีย
5. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันดับ 149 ของเอเชีย
6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี อันดับ 171 ของเอเชีย
7. มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันดับ 178 ของเอเชีย
8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อันดับ 188 ของเอเชีย
9. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อันดับในกลุ่ม 261-270 ของเอเชีย
และ10. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อันดับในกลุ่ม 301-350 ของเอเชีย
สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในอันดับ 245 ของโลก ขยับขึ้นมาจากเดิมที่ 252 ในปีที่แล้ว และหากเทียบมหาวิทยาลัยในเอเชียแล้ว จุฬาฯอยู่ในอันดับ 50 ตกลงจากปีที่แล้วที่อยู่ในอันดับ 45 ในขณะที่อัตราการมีงานทำของนิสิตจบใหม่นั้นอยู่ในอันดับระหว่าง 251-300 ในด้านการเรียนการสอนวิศวกรรมและภาควิชาเคมี จุฬาฯถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอันดับ 51-100 ซึ่งยังคงสามารถเกาะกลุ่มนี้มาโดยตลอด4 ย้อนหลัง
ด้านมหาวิทยาลัยมหิดล ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 334 ของโลก ตกลงจากอันดับเดิมในปีที่เเล้วที่อยู่อันดับ 283 ขณะที่อันดับในเอเชีย ม.มหิดลจัดอยู่ในอันดับ 58 ของเอเชีย ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วที่อันดับ 61 ในส่วนอัตรานิสิตจบใหม่มีงานทำอยู่ในอันดับระหว่าง 301-500 ในด้านการเรียนการสอนทางการแพทย์อยู่ในอันดับระหว่าง 101-150
ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ในอันดับระหว่าง 601-650 ของโลก เป็นอันดับเดิมในตลอด3 ปีที่ผ่านมา หากเทียบเฉพาะในภูมิภาคเอเชียถูกจัดในอันดับ 97 ขึ้นจากเดิมในตำแหน่ง 101 นอกจากนี้ม.ธรรมศาสตร์ยังถูกจัดให้อยู่ในมาตรฐานมหาวิทยาลัย 4 ดาว ขณะที่อันดับในด้านการจัดการเรียนการสอนเรื่องธุรกิจและการจัดการอยู่ในอันดับ 201-250 ในด้านการมีงานทำของนิสิตจบใหม่ม.ธรรมศาสตร์อยู่ในอันดับ 301-500 ตกลงจากการสำรวจก่อนหน้าที่อยู่ในอันดับ 201
ด้านมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 751-800 ของโลก ซึ่งตกลงจากอันดับเดิมที่กลุ่ม 701-750 รั้งอันดับที่ 149 ของมหาวิทยาลัยในเอเชีย และยังเป็นที่ 29 ของโลกในด้านการเรียนการสอนเรื่องเกษตรและป่าไม้ ซึ่งเป็นอันดับที่ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วที่ 47
ด้านสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ถูกจัดอยู่ในอันดับระหว่าง 801-1000 ของโลกตกลงจากเดิมที่กลุ่ม 701-750 และรั้งอันดับที่ 171 ของอเชีย ซึ่งตกลงจากเดิมที่ 161 ในส่วนของการเรียนการสอนเรื่องวิศวกรรมและเทคโนโลยีอยู่ในอันดับระหว่าง 401-450
การจัดอันดับดังกล่าวใช้เครื่องมือสำรวจใน 6 ประเด็น ได้แก่ (1) ชื่อเสียงด้านวิชาการ 40% (2) ชื่อเสียงด้านจ้างงาน 10% (3) อัตราส่วนของสาขาวิชาต่อจำนวนนักศึกษา 20% (4) ความนิยมของสาขาที่เรียน 20% (5) สัดส่วนของสาขานานาชาติ 5% (6) สัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติ 5%
ทั้งในเว็บไซต์ www.topuniversities.com จะจัดแสดงอันดับของมหาวิทยาลัยใน 400 อันดับแรกเท่านั้น โดยในครั้งนี้เป็นการแสดงผลสำรวจจาก 980 มหาวิทยาลัยทั่วโลก จากการสำรวจทั้งหมด 4,388 แห่งทั่วโลก
หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก https://sites.google.com/site/monedodee55/mhawithyalay-thi-michux-seiyng-khxng-thiy/1-culalngkrn-mhawithyalay