บัตรคนจนไม่ช่วยคนจน? ชาวบ้านบ่นร้านธงฟ้าฯมีน้อย-ต้องต่อคิวซื้อ!
"แปลกแต่จริง...บัตรคนจนแต่ซื้อของคนจนไม่ได้" เป็นข้อความที่แชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์
ข้อความนี้ถูกแชร์พร้อมภาพกลุ่มแม่ค้าพ่อค้าตามตลาดสดกำลังนั่งกุมขมับท่ามกลางบรรยากาศเงียบเหงา เพราะไม่มีลูกค้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าเลยแม้แต่คนเดียว ทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่งแจก “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี และขึ้นทะเบียนเอาไว้กว่า 11 ล้านคนทั่วประเทศ โดยมีวงเงินในบัตร 200 ถึง 300 บาท สำหรับจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
แต่บัตรที่ว่านี้กลับไม่สามารถซื้อของจากพ่อค้าแม่ค้ารากหญ้าตามตลาดสดที่เป็นคนหาเช้ากินค่ำเหมือนกันได้
แม้ภาพที่แชร์กันอาจไม่ใช่ภาพจริงที่ตรงกับข้อความ แต่ก็กระตุกให้สังคมเริ่มตั้งคำถามว่า บัตรคนจนมีจุดประสงค์เพื่อช่วยคนจน แต่ทำไมถึงไม่สามารถซื้อสินค้าจากคนจนด้วยกันได้ แล้วแบบนี้จะเรียกว่าช่วยคนจนได้อย่างไร?
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้รับบัตรคนจนไปตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค.60 พบปัญหาและเสียงบ่นของชาวบ้านหลายเรื่อง เช่น บัตรคนจนไม่สามารถซื้อของตามแผงค้าทั่วไปซึ่งเป็นแผงของคนจนได้ ต้องซื้อจาก "ร้านธงฟ้าประชารัฐ" เท่านั้น ซึ่งชาวบ้านบอกว่าร้านธงฟ้าฯมีน้อยเกินไป ซ้ำยังยังอยู่ไกล บางอำเภอมีเพียงร้านเดียว
เช่น อ.ยะหา จ.ยะลา มีร้านธงฟ้าประชารัฐเพียง 1 ร้าน คือ ร้านอุสตาซเลาะห์พาณิชย์ ประชาชนผู้ถือบัตรคนจนต้องขึ้นรถรับจ้างไปซื้อของ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หนำซ้ำเมื่อไปถึงร้านแล้วก็ไม่สามารถซื้อของได้ทันที เพราะคิวยาว ทางร้านต้องแจกบัตรคิวให้มารับของวันรุ่งขึ้น หรือไปซื้อเช้า ได้รับของตอนเย็น ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายรอบ
นางมารียะ (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ยะลา เล่าว่า ที่ อ.ยะหา มีร้านธงฟ้าฯแค่ร้านเดียว ชาวบ้านต้องไปรอเข้าคิวซื้อของตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด เมื่อร้านเปิดแล้วก็ต้องรับบัตรคิว จากนั้นก็กลับบ้าน แล้วไปรับของอีกวันหนึ่ง หนำซ้ำใน 1สัปดาห์ ร้านเปิดบริการสำหรับคนที่ถือบัตรคนจนแค่ 5 วัน เพราะอีก 2 วันร้านปิด
"หลายคนบ้านจนอยู่แล้วยิ่งลำบาก เพราะไม่มีรถไปรับบัตรหรือไปแลกของ ก็ต้องชวนเพื่อนบ้านไปด้วยกัน เมื่อชวนเพื่อนไป ก็ต้องเติมน้ำมันรถให้เพื่อน บางคนต้องไปหลายกิโลฯ ก็ต้องเติมน้ำมันมอเตอร์ไซค์มากกว่า 1 ลิตร ไปแล้วก็ไม่ได้ของ ได้แค่บัตรคิว ต้องรออีกวันถึงจะได้ ก็ต้องชวนเพื่อนบ้านขี่มอเตอร์ไซค์ไปอีกรอบ ก็ต้องเติมน้ำมันให้อีก รวมๆ แล้ววงเงิน 300 บาทที่ได้ในบัตร เหลือจริงๆ ไม่ถึง 200 บาท" มารียะ กล่าว
สอดคล้องกับ น.ส.กาญ (สงวนนามสกุล) ชาวบ้าน อ.ยะหา ที่บอกว่า อ.ยะหา มีร้านธงฟ้าประชารัฐเพียงร้านเดียว ทำให้คนไปต่อคิวเยอะมาก
"ฉันไปหลายครั้งช่วงวันแรกๆ คนเยอะ รอไม่ไหว ก็คิดว่าผ่านไปสักระยะค่อยไป คนน่าจะน้อยลง แต่ที่ไหนได้ พอไปจริงๆ ก็ยังมีคนมาใช้บริการเยอะอีก ฉันอยากให้มีร้านร่วมโครงการมากกว่านี้ เพราะพอมีร้านเดียว ปัญหาหลายเรื่องก็เกิด" น.ส.กาญ บอก
ความลำบากของผู้ได้สิทธิ์รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถูกสะท้อนผ่านคนในพื้นที่เป็นเสียงเดียวกัน เพราะตั้งแต่วันแจกบัตร ก็ได้เห็นชาวบ้านไปต่อคิวตากแดดเป็นแถวยาวและใช้เวลานาน หลายคนถึงกับล้มป่วย
เสียงวิจารณ์ลุกลามไปถึงกลุ่มผู้ค้าด้วย เช่น นางมีเนาะ สาแม แม่ค้าร้านขายของชำใน จ.ยะลา บอกว่า สินค้าต่างๆ ราคาแพงขึ้นตั้งแต่มีโครงการบัตรคนจน ข้าวสารขึ้นเป็นร้อยบาทต่อกระสอบ ตอนนี้ต้องชะลอการซื้อของเข้าร้านก่อน เผื่อราคาของจะลดลงบ้าง
ขณะที่ในมุมของเจ้าของร้านธงฟ้าประชารัฐ อย่างร้านอุสตาซเลาะห์พาณิชย์ ร้านธงฟ้าประชารัฐแห่งเดียวใน อ.ยะหา ยอมรับว่า ช่วงแรกๆ แก้ปัญหาไม่ทัน ทำให้ต้องต่อคิวนาน แต่ตอนนี้ใช้วิธีแจกบัตรคิว ช่วงเช้า 30 คน ช่วงบ่าย 30 คน แต่ในฐานะเจ้าของร้านก็พยายามบริการให้กับทุกคน
บทสรุปจากการลงพื้นที่รับฟังเสียงของคนรากหญ้าก็คือ ประชาชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะจากที่ทดลองใช้มายังไม่แน่ชัดว่าสามารถช่วยเหลือคนจนได้จริง หรือเพิ่มภาระให้ผู้มีรายได้น้อยกันแน่!
---------------------------------------------------------------------------------------
เรื่อง/ภาพ : นาซือเราะ เจะฮะ, อับดุลเลาะ หวังหนิ
บรรยายภาพ :
1 ป้ายประชาสัมพันธ์หน้าร้านธงฟ้าประชารัฐ ที่ระบุขัดว่าต้องรับบัตรคิว ยกเว้นลูกค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้บัตรคนจน และร้านยังเปิดให้บริการเพียง 5 วันต่อสัปดาห์
2 ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อคิวซื้อของ