ไส้ใน-เส้นทางปล่อยกู้‘กรุ๊ปลีส’ก่อน ก.ล.ต. ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบบิ๊ก รับ ปย.54 ล.เหรียญ
“…ความผันผวนของราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการคืนเงินกู้ของผู้กู้ เป็นปัจจัยสองประการสำคัญในการพิจารณาถึงความเสี่ยง และความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันที่ใช้ค้ำประกันหนี้สองกลุ่มนี้…”
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) กล่าวโทษนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ผู้บริหารบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้ผลประกอบการของ GL สูงเกินความจริง
ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากในงบการเงินงวดปี 2559 ของ GL ที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับธุรกรรมการให้กู้ยืมแก่ลูกหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ผลประกอบการของ GL เพิ่มสูงขึ้น ก.ล.ต. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า นายมิทซึจิ ให้บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิ้งส์ จำกัด (GLH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GL ที่ประเทศสิงคโปร์ ปล่อยกู้แก่บริษัทในต่างประเทศหลายแห่ง โดยพบหลักฐานว่า GLH ให้กู้แก่บริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไซปรัส 4 แห่ง และสิงคโปร์ 1 แห่ง เป็นเงินให้กู้รวมประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีนายมิทซึจิ เป็นผู้ควบคุมและเป็นผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
เมื่อบริษัททั้ง 5 แห่งได้รับเงินกู้จาก GLH ไปแล้ว ได้นำไปหมุนเวียนในกลุ่มบริษัทผู้กู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่ GLH เป็นงวด ๆ ซึ่งยอดดอกเบี้ยถูกนำไปรวมเป็นรายได้ในงบการเงิน อันเป็นการแต่งบัญชีและสร้างผลประกอบการของ GL ให้สูงเกินจริง
เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่ ก.ล.ต. ตรวจสอบพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมทางการเงินของนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL (อ่านประกอบ : ก.ล.ต.ชงดีเอสไอ-ปปง.สอบผู้บริหาร‘กรุ๊ปลีส’ ใช้ บ.ลูกปล่อยกู้เอกชน ตปท.54 ล.เหรียญสหรัฐฯ)
ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะมีบทสรุปอย่างไร คงต้องรอการสอบสวนจากดีเอสไอ และ ปปง. ก่อน
เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) รวมถึงรายงานของผู้สอบบัญชี สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2529 ทุน 100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 63 ซอย 1 ถ.เทศบาลนิมิตรใต้ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. แจ้งประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ มีนายสามารถ จิระดำรง นายอนุรักษ์ อินทรภูวศักดิ์ นายเจษฎา จินดานนท์ นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ และนายปรีชา เนตรประภา เป็นกรรมการ
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2537 ได้แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ทุนปัจจุบัน 922,545,040 บาท (ชำระแล้ว 762,769,069 บาท) ล่าสุดมีนายมิทซึจิ โคโนชิตะ เป็นประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายทัตซึยะ โคโนชิตะ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการ นายมุเนะโอะ ทาชิโร่ นายแพทริค ฟิชเชอร์ นายริกิ อิชิกา นายยูซุเกะ โครมุมะ นายเรจิส มาร์แต็ง นายอาลัน ดูเฟส
พล.อ.สืบสันต์ ทรรทรานนท์ เป็นกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ นายกฤษณ์ พันธ์รัตนมาลา นายพลเดช เทิดพิทักษ์วานิช นายโศณิต พิชญางกูร เป็นกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อไตรมาสที่ 2/2560 มีสินทรัพย์รวม 18,277 ล้านบาท หนี้สินรวม 9,978 ล้านบาท เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้ 9,958 ล้านบาท
จากการตรวจสอบงบการเงินเมื่อไตรมาสที่ 2/2560 ผู้สอบบัญชีเขียนเน้นเหตุการณ์ กรณีบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ได้ปล่อยกู้บริษัท กรุ๊ปลีส โฮลดิงส์ จำกัด หรือ GLH ซึ่งเป็นบริษัทลูกจดทะเบียนในสิงคโปร์ ก่อนที่ GLH จะนำไปปล่อยกู้ให้กับบริษัทอีกหลายแห่งในประเทศสิงคโปร์ และไซปรัส รวมวงเงิน 3,759 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของสินทรัพย์รวม
ผู้สอบบัญชี ระบุว่า ธุรกิจหลักของบริษัทคือให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แต่บริษัทดำเนินการนอกธุรกิจ โดยให้เงินกู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่ม ในจำนวนเงินที่เป็นสาระสำคัญ แสดงอยู่ในรูปแบบของลูกหนี้กลุ่มเกาะไซปรัส และกลุ่มประเทศสิงคโปร์ ซึ่งผู้กู้ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ด้วย และได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืม
นอกจากหุ้นของบริษัทแล้ว มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันอื่นอันประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ในเกาะไซปรัส และประเทศบราซิล พันธบัตรรัฐบาลไซปรัส และหุ้นในบริษัทอื่นต่างประเทศด้วย ในระหว่างไตรมาสที่ 2/2560 ผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ได้ปลดหลักทรัพย์ค้ำประกันอันได้แก่หุ้นของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ออกบางส่วน โดยนำอสังหาริมทรัพย์ในประเทศญี่ปุ่นมาค้ำประกันแทน
บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อผู้สอบบัญชีว่า ถ้ารวมหุ้นของบริษัทซึ่งถูกตีมูลค่าด้วยราคาปิด ณ วันสิ้นไตรมาส มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันจะเพียงพอ โดยมีมูลค่าประมาณร้อยละ 105 ของจำนวนเงินของผู้กู้กลุ่มไซปรัส และร้อยละ 122 ของจำนวนเงินผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์
อย่างไรก็ดีผู้สอบบัญชีเห็นว่า ราคาหุ้นของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวน และมีการซื้อขายเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นอยู่ในช่วงราคา 12.4-65.5 บาท/หุ้น ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาความเพียงพอของมูลค่าหลักทรัพย์ประกันต่อเงินกู้อย่างมาก ถ้าใช้หลักไม่ระมัดระวัง โดยไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัทที่จะนำมาค้ำประกันเป็นส่วนหนึ่งในการค้ำประกันแล้ว มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ประกันจะไม่เพียงพอค้ำประกันหนี้เงินกู้ได้ โดยมีเพียงร้อยละ 80 ของจำนวนเงินผู้กู้กลุ่มไซปรัส และร้อยละ 83 ของจำนวนเงินผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์
เดิมลูกหนี้กลุ่มเหล่านี้ มีการกำหนดชำระคืนเงินต้นแตกต่างกันตามเวลาตั้งแต่ 3 เดือน-3 ปี โดยมีกำหนดการจ่ายชำระเงินต้นคืนเมื่อถึงวันสิ้นสุดสัญญา แต่มีลูกหนี้บางรายเมื่อถึงกำหนด บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ได้ขยายตารางการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ไปอีก 2-3 ปี โดยอดเงินให้กู้ยืมที่มีการแก้ไขสัญญาขยายตารางชำระหนี้ในปี 2559 มีจำนวนประมาณ 2,129 ล้านบาท (59 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา) หนี้ที่มีการขยายตารางการชำระหนี้ คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าเงินกู้ยืมทั้งหมด ในระหว่างปี 2560 ผู้กู้กลุ่มไซปรัส ได้จ่ายชำระคืนเงินให้กู้ยืมก่อนกำหนดคิดเป็นจำนวน 414 ล้านบาท (12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ต่อมาเดือน ก.ค. 2560 ผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ชำระคืนเงินตามกำหนดคิดเป็นจำนวนประมาณ 500 ล้านบาท (15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
การจ่ายชำระคืนเงินให้กู้ยืมดังกล่าวของผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ ได้ปลดหลักทรัพย์ค้ำประกันอันได้แก่ หุ้นของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่เหลืออยู่ทั้งจำนวน มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ทั้งสองกลุ่ม เท่ากับร้อยละ 104 และร้อยละ 117 ของจำนวนเงินให้กู้ยืม แต่ถ้าไม่คิดมูลค่าหุ้นของบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่จะนำมาค้ำประกันแล้ว มูลค่าที่เหลือของหลักทรัพย์ค้ำประกันจะเท่ากับร้อยละ 80 และร้อยละ 117 ของจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้สองกลุ่มนี้ตามลำดับ
ความผันผวนของราคาหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการคืนเงินกู้ของผู้กู้ เป็นปัจจัยสองประการสำคัญในการพิจารณาถึงความเสี่ยง และความเพียงพอของมูลค่าหลักประกันที่ใช้ค้ำประกันหนี้สองกลุ่มนี้
สำหรับรายละเอียดการกู้ยืมเงินตามที่ระบุในงบการเงินเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2559 ระบุว่า กลุ่มไซปรัส กู้ยืมเงินกับบริษัทลูกของ ‘กรุ๊ปลีส’ ทั้งสิ้น 1,415,973,000 บาท (ราว 39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 14.5-17 ต่อปี ส่วนกลุ่มสิงคโปร์ 2,016,263,000 บาท (ราว 56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 14.5-25 ต่อปี
ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2560 กลุ่มไซปรัส กู้ยืมเงิน 1,005,791,000 บาท (ราว 29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) กลุ่มสิงคโปร์ 1,912,200,000 บาท (ราว 56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีดอกเบี้ยค้างรับล่าสุด 3,100,139,000 บาท
นี่คือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่าง GLH บริษัทลูกของ ‘กรุ๊ปลีส’ ในสิงคโปร์ ก่อนปล่อยกู้ต่อให้กลุ่มสิงคโปร และกลุ่มไซปรัส ตามรายงานของผู้สอบบัญชี ที่ชี้ให้เห็นปัจจัยเสี่ยงในการนำหุ้นของบริษัทมาค้ำประกัน ซึ่งอาจส่งผลให้หลักทรัพย์ไม่เพียงพอกับวงเงินกู้ดังกล่าว
ท้ายสุดจะมีผลสรุปอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไป !
หมายเหตุ : ภาพประกอบ นายมิทซึจิ โคโนชิตะ จาก www.prbanana.com