วสิษฐ เดชกุญชร:อยู่ในวัง 3 ปี ไม่เคยเห็นพระพักตร์ ‘ร. 9’ เศร้าเท่า 14 ต.ค.2516
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยผ่านโทรทัศน์ เพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ายุติแล้ว ก่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ต่อมาอีก ซึ่งคนที่ชมโทรทัศน์ในวันนั้นจะเห็นว่า พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เศร้าหมองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่ผมได้เข้าไปทำงานในวังมา 3 ปี”
วันที่ 14 ต.ค. 2560 พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 14 ตุลา ประจำปี 2560 หัวข้อ ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับ 14 ตุลา ณ อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว
พล.ต.อ.วสิษฐ บอกเล่าช่วงเวลาที่ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ต.ค. 2516 ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็น “ตำรวจราชสำนักประจำ” ทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย คงจดจำได้ว่า แม้ประเทศจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองโดยการรัฐประหารจากทหารหลายครั้ง
“ทหารผลัดกันขึ้นมาปกครองบ้านเมือง แทนที่บ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า กลับย่อยยับไป ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ละครั้งที่ยึดอำนาจ ผู้ถืออำนาจต้องการเป็นรัฐบาลถูกกฎหมาย จะต้องวิ่งเข้าหาพระมหากษัตริย์ ในที่นี้ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระองค์จึงต้องทำให้รัฐบาลเกิดความถูกต้องทางกฎหมายโดยไม่มีทางเลือก”
อดีตตำรวจราชสำนักประจำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาจึงมักมีผู้คนแสดงความข้องใจหรือสงสัยเสมอว่า เมื่อรัฐบาลที่ยึดอำนาจวิ่งเข้าหาพระมหากษัตริย์ หากพระองค์ไม่พระราชทานความถูกต้องให้ รัฐบาลจะ ‘เจ๊ง’ ได้หรือไม่ อย่างกระนั้นเลย เพราะความจริง ไม่ง่ายอย่างนั้น เนื่องจากกลุ่มคนเป็นผู้ถืออาวุธ ฉะนั้นหากพระองค์ปฏิเสธ แน่นอนว่า จะต้องเกิดการต่อสู้และปะทะกัน ซึ่งสุดท้ายทหารย่อมชนะ
ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไม่มีกองทัพ แม้จะทรงดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพไทยตามรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงกลับไม่มีอำนาจบังคับบัญชา นี่จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ว่า ทำไมรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารจึงถูกต้องตามกฎหมายเสมอมา
ทำให้ความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลสมัยยุคต้นค่อนข้างตึงเครียด เพราะรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้จะมีความเคารพ แต่เคารพด้วยปาก ทำให้กระทบกระทั่งกันตลอดเวลา
พล.ต.อ.วสิษฐ บอกเล่าว่า เมื่อถึงแผ่นดิน รัชกาลที่ 9 รัฐบาลเริ่มรับฟังพระองค์มากขึ้น เพราะทรงเป็นผู้มองการณ์ไกล สามารถประนีประนอมกับรัฐบาล ขณะเดียวกันได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญมิได้ห้ามไว้ ทำให้ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี พระองค์ได้รับการยกย่องเป็น ‘มหาราช’ ผู้หนึ่งที่นำความเจริญมั่นคงมาให้แก่บ้านเมือง และทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างที่เห็นได้ในปัจจุบัน
14 ต.ค. มหาวิปโยค
ช่วง ต.ค. 2516 เป็นเดือนวิกฤติของคนไทย นอกจากปัญหาการเมืองภายในแล้ว ยังมีปัญหาการเมืองภายนอกด้วย นั่นคือการคุกคามของระบอบคอมมิวนิสต์
พล.ต.อ.วสิษฐ เล่าต่อว่า นักการเมืองถูกสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์จะถูกรัฐบาลจับกุม คุมขัง ซึ่งในปี 2516 มีผู้ต้องสงสัยเป็นคอมมิวนิสต์จำนวนมาก แม้เพียงออกเอกสารหรือพูดแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล จะถูกเหมารวมว่าเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น
ก่อนเหตุการณ์ 14 ต.ค. นิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลที่ยึดอำนาจและไม่คืนประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน นิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่งจึงถูกจับกุมข้อหากระทำการเป็นคอมมิวนิสต์
การจับกุมตัวแทนนิสิตนักศึกษาครั้งนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลักแสนคน แต่แทนที่รัฐบาลจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถระงับเหตุการณ์ได้ แต่กลับใช้ไม้แข็ง เตรียมจับนิสิตนักศึกษาที่ชุมนุมแทน
อดีตตำรวจชั้นผู้ใหญ่ยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์มหาวิปโยคสัปดาห์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งให้เดินทางไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และได้เดินทางกลับมากรุงเทพฯ วันที่ 13 ต.ค. ซึ่งเหตุการณ์เริ่มบานปลายแล้ว จึงได้ออกไปดูสถานการณ์นอกสวนจิตรลดา พร้อมกับมีโอกาสได้พบกับผู้แทนนิสิตนักศึกษาด้วย
“ตอนนั้นการชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมายังลานพระราชวังดุสิตแล้ว แต่เมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์คิดว่า คงไม่หนักหนา เพราะมีการชุมนุมกันโดยสงบ คงไม่สบายใจบ้างตรงที่มีนักเรียนอาชีวะบางคนหว่านไม้ หว่านเหล็ก”
จนกระทั่งประมาณ 12 นาฬิกา พล.ต.อ.วสิษฐ์ ได้รับคำสั่งให้ไปยืนคอยรับผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่เตรียมเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ยังศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ได้รอจนกระทั่ง 16 นาฬิกา จึงมากันครบ ยกเว้น นายเสกสรร ประเสริฐกุล
จนเวลา 17 นาฬิกา 30 นาที พระองค์เสด็จมาถึง และมีรับสั่งกับผู้แทนนิสิตนักศึกษา แต่ตนเองมิได้เข้าเฝ้าด้วย จึงไม่ทราบว่าพระองค์รับสั่งอะไรบ้าง จนกระทั่ง 20 นาฬิกา จึงกลับออกมา และเป็นหน้าที่จะต้องไปส่งออกจากสวนจิตรลดา แต่ขณะที่กำลังจะออกไปนั้น
พล.ต.อ.วสิษฐ์ กล่าวว่า ได้ยินผู้แทนนิสิตนักศึกษาคนหนึ่ง ปรารถขึ้นมาว่า “เราถูกหักหลัง” จึงได้ถามกลับไปเกิดอะไรขึ้น ก่อนอีกฝ่ายจะตอบกลับมา นายเสกสรร ประเสริฐกุล ควบคุมการชุมนุมผิดข้อตกลงร่วมกันที่จะไม่เคลื่อนประชาชนมายังลานพระราชวังดุสิต ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการ
ด้วยเหตุนี้ผู้แทนนิสิตนักศึกษาที่เข้าเฝ้าจึงไม่ยอมออกจากสวนจิตรลดา ทำให้ต้องรับอาสาไปตามหาตัวนายเสกสรร ประเสริฐกุล ให้เจอ
“ตอนนั้นจำได้ว่า ใช้รถตำรวจกองปราบฯ นำผู้แทนนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่ในรถโฟล์คตู้ ไปรับตัวนายเสกสรร ที่ลานพระราชวังดุสิต แต่รถแล่นตามกันไม่ทัน เพราะคนเยอะ อีกทั้งเมื่อก่อนไม่มีโทรศัพท์มือถือ วิธีการหาตัวต้องไปหาโทรศัพท์บ้าน โทรไปอีกเครื่องหนึ่งที่อยู่ใกล้ แต่ไม่สำเร็จ แม้จะทุลักทุเล แต่สุดท้ายได้ตัวนายเสกสรร เข้ามาในวัง”
รอดพ้นวิกฤติด้วยพระบารมี
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานกระแสรับสั่งว่า ขณะนี้รัฐบาลยอมแล้วที่จะปล่อยผู้ต้องหา โดยทำข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างรัฐบาลกับนิสิตนักศึกษา พร้อมจะขอพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 20 เดือน
โดยมีตนเองเป็นผู้ออกไปชี้แจงกับประชาชนที่ชุมนุมกันภายนอกแทนนิสิตนักศึกษา เพราะผู้แทนนิสิตนักศึกษาอยากให้คนในวังที่มีความน่าเชื่อถือไปชี้แจงแทนมากกว่า
“ผมเห็นว่าอยู่ในระหว่างน่าสิ่วน่าขวาน ออกไปอย่างตำรวจ ดีไม่ดีอาจไม่ได้กลับเข้าเข้ามา จึงทิ้งปืนและวิทยุ และออกไปแต่ตัว ซึ่งเวทีที่ใช้ปราศรัยหน้าวังเป็นรถสองแถวไม่ใหญ่นัก ได้ปีนกระไดขึ้นไปบนหลังคาและพูดเครื่องขยายเสียง โดยน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อ่านให้ทุกคนฟัง มีเนื้อหาโดยสรุปเกี่ยวกับความสามัคคีปรองดอง และเห็นสมควรให้ยุติการชุมนุม เพราะพระองค์ทรงไม่ได้บรรทมมานาน 7 วัน 7 คืนแล้ว เพราะเฝ้าติดตามสถานการณ์”
พล.ต.อ.วสิษฐ เล่าต่อว่า ทันทีที่พูดจบบนเวทีปราศรัย เสียงปรบมือดังขึ้น และใครไม่ทราบเป็นต้นเสียงร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เสียงผู้ชุมนุมร่วม 1 แสนคน ดังกระหึ่ม ผมคุกเข่าลงร่ำไห้ด้วยความปิติว่าเหตุการณ์จบสิ้นลงแล้ว แต่ความปิตินั่นกลับมีเพียงชั่วประเดี๋ยว เมื่อระหว่างกำลังลงจากรถสองแถว เสียงระเบิดดังขึ้น!
ปรากฎว่า เป็นเสียงระเบิดขวดของนักเรียนอาชีวะที่พกไว้ในกระเป๋า จึงตามแพทย์มารักษา ตอนแรกนึกว่าจะกลายเป็นสมรภูมิหน้าวังแล้ว
สุดท้าย เหตุการณ์ไม่สงบลง พล.ต.อ.วสิษฐ์ บอกว่า ระหว่างผู้ชุมนุมกำลังกลับ เกิดเสียงระเบิดแก๊สน้ำตา มีการปะทะกับตำรวจไม่ให้ไปในถนนเส้นราชวิถี ซึ่งได้รับคำสั่งให้สกัดกั้นไว้ จนเกิดข่าวปากบอกกันต่อว่า ตำรวจฆ่านิสิตหน้าวัง กระจายออกไป จึงกลายเป็นต้นตอของมหาวิปโยค
การปะทะหน้าสวนจิตรลดารุนแรง มีนิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งวิ่งเข้ามาที่ประตู แต่ทหารไม่กล้าเปิด ในที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีรับสั่งให้เปิดประตู เพื่อให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาในพื้นที่ ก่อนที่พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และพระราชธิดา จะเสด็จลงมาทรงเยี่ยม
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีกระแสพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยผ่านโทรทัศน์ เพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ายุติแล้ว ก่อนที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จะทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์ต่อมาอีก ซึ่งคนที่ชมโทรทัศน์ในวันนั้นจะเห็นว่า พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เศร้าหมองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่ผมได้เข้าไปทำงานในวังมา 3 ปี”
ท้ายที่สุด อดีตตำรวจราชสำนักประจำ ‘วสิษฐ์ เดชกุญชร’ เชื่อว่า เหตุการณ์มหาวิปโยค 14 ต.ค. 2516 ผ่านพ้นมาได้ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ที่ชื่อ ‘ภูมิพล’ .