สั่งเรียกเงิน'คนรวย'โผล่ชื่อรับผ้าห่มกันหนาว!สตง.ชี้มูลอบจ.อุดรจัดซื้อแพงเกินจริงผืนละ60บ.
สตง.สรุปรายงานผลสอบ อบจ.อุดร จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวแจกประชาชนยากจน ปี 2557 ชี้มูลแพงเกินจริงผืนละ 60บ. เงินหลวงเสียหาย 7 ล้าน สุ่มตรวจรายชื่อคนรับของ พบชื่อคนรวยโผล่รับเพียบ มีบ้านหลังใหญ่ รถหลายคัน ไม่ขาดแคลนจริง สั่งเรียกเงินคืนรวม29,920 บาท ระบุหากทำไม่ได้ให้แต่งตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจนท. ชดใช้คืนราชการแทน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงาน โครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ระบุว่า ในปี 2556 ได้เกิดเหตุภัยหนาวขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ติดต่อกันยาวนานเกิน 3 วัน ในระหว่างวันที่ 18 – 21 ธ.ค. 2556 ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีได้รับความเดือดร้อนจากสภาพอากาศหนาวเย็น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี จึงได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ครอบคลุมทุกอำเภอจำนวน 20 อำเภอ และเพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยหนาว อบจ.อุดรธานี ได้จัดทำโครงการ “ช่วยภัยหนาว เพื่อชาวอุดร” ประจำปีงบประมาณ 2557 โดยการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวจำนวนไม่น้อยกว่า 124,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจัดซื้อเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว สุขภาพ อนามัย ของประชาชนแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนผู้ด้อยโอกาส ครอบครัวยากจน และประชาชนที่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ พบว่า ไม่บรรลุวัตถุประสงค์การเนื่องจากประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่ไม่ได้เดือดร้อนหรือขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว ทำให้ผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับแจกไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีประชาชนที่ยากจนได้รับความเดือดร้อนหรือขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวแต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทำให้การดำเนินโครงการไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเนื่องจากภัยหนาวได้อย่างแท้จริง ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่คุ้มค่า
สตง.ระบุว่า จากการตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ตามโครงการฯ จำนวน 10 อำเภอ 22ตำบล 23 หมู่บ้าน ประชาชนที่อยู่ในบัญชีได้รับผ้าห่ม จำนวน 199 ราย พบว่า การแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประชาชนตามบัญชีรายชื่อไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ได้รับซ้ำซ้อนจากหน่วยงานเดียวกันหรือจากหลายหน่วยงาน และผ้าห่มกันหนาวที่ได้รับแจกไม่มีการใช้ประโยชน์
จากการสุ่มตรวจสอบบัญชีรายชื่อประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาว จำนวน 199ราย พบว่า ประชาชนที่มีรายชื่อได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 187 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.96 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบ มีเพียงจำนวน 12 ราย ที่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 6.03 ของจำนวนประชาชนที่สุ่มตรวจสอบประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์มีสัดส่วนที่น้อยมาก
จากการสอบถามประชาชนที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวและการสังเกตการณ์ พบว่า ประชาชนที่ได้รับผ้าห่มส่วนใหญ่ มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดี มีบ้านหลังใหญ่ มีรถยนต์หลายคัน มีบุตรหลานคอยดูแลโดยบางรายมีบุตรเป็นหมอ เป็นข้าราชการ หรือลูกสาวมีสามีเป็นชาวต่างชาติ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร บางรายมีกิจการร้านค้าขายรถจักรยาน ขายเสื้อผ้า ผ้าไหม ขายอาหารสัตว์ และไม่ได้ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาว เนื่องจากมีผ้าห่มกันหนาวที่เพียงพอโดยได้รับแจกหลายผืนในปีที่ผ่านมาหรือในปีเดียวกันซึ่งได้จากหลายหน่วยงานมีทั้งเอกชน หน่วยงานส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งมีบางส่วนที่จัดซื้อเอง จึงเป็นการช่วยเหลือ (แจกผ้าห่มกันหนาว) ให้กับประชาชนที่ไม่ได้เดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยหนาวตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ขณะที่การจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวยังมีราคาสูงกว่าราคาตามท้องตลาด จากการตรวจสอบพบว่า คณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะผ้าห่มกันหนาว ได้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่องรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคาสิ่งของสำรองจ่าย พ.ศ. 2556ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556 ส่วนราคาได้พิจารณาจากราคาที่เคยจัดซื้อจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตการประกาศสอบราคาของหน่วยราชการท้องถิ่นต่าง ๆและจากการสืบราคาจากร้านค้าตลาดห้าแยกจังหวัดอุดรธานีแล้วนำมากำหนดราคากลางในราคาผืนละ 222 บาท โดยไม่ได้มีการสืบราคาจากกลุ่มอาชีพ/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์ และจากเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ประกอบการที่มีอาชีพในการขาย “ผ้าห่มนวม” โดยตรง เพื่อนำมาพิจารณาในการกำหนดราคากลางผ้าห่มกันหนาว จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 50 (5) ที่กำหนดให้สืบราคาจากผู้มีอาชีพขายพัสดุนั้นโดยตรง
โดย อบจ.อุดรธานี ได้จัดซื้อผ้าห่มกันหนาวโดยวิธีพิเศษ กับ บริษัท นิวไลฟ์ เลิร์นเนอร์ จำกัด ตามสัญญาซื้อขาย เลขที่ 36/2557 ลงวันที่ 3 มกราคม 2557 จำนวน 124,000 ผืน (ราคาผืนละ220 บาท) เป็นเงินจำนวน 27,280,000 บาท จากการสอบถามและสืบราคาผ้าห่มกันหนาวจากกลุ่มอาชีพ/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์ตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกำหนด ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าห่มแหล่งใหญ่ในภาคอีสาน และจากเว็บไซต์ต่างๆ ของผู้ประกอบการที่มีอาชีพในการขาย “ผ้าห่มนวม” โดยตรงพบว่าราคาผ้าห่มนวมใยสังเคราะห์จะอยู่ที่ราคาไม่เกินผืนละ 160 บาทซึ่งต่ำกว่าราคาที่ อบจ.อุดรธานีจัดซื้อในราคาผืนละ 60 บาท (220–160) ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการซื้อผ้าห่มกันหนาวสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงินจำนวน 7,440,000 บาท (124,000x60)
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือถึงอบจ.อุดรธานี เพื่อแจ้งให้พิจารณาดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินคุ้มค่าไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต ส่วนประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จำนวน 187 ราย ให้เรียกเงินคืนจำนวน 29,920บาท (187 ราย X 160 บาท) หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้คืนเงินให้กับทางราชการและดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณีให้ตรวจสอบประชาชนตามบัญชีรายชื่อที่เหลือหากเป็นผู้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ ให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและเรียกเงินคืนและหากตรวจสอบพบว่า เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองหรือแสวงหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด ให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดและคุณลักษณะพร้อมการกำหนดราคากลางของผ้าห่มกันหนาว ไม่ได้สืบราคาจากผู้มีอาชีพขายพัสดุนั้นโดยตรงเป็นผลให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการซื้อผ้าห่มกันหนาวสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น เป็นเงิน7,440,000 บาทและให้เรียกเงินคืนจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่พ.ศ. 2539 เพื่อหาผู้รับผิดชดใช้คืนเงินให้กับทางราชการและดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี
และให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีจำนวนประชาชนที่ได้รับผ้าห่มกันหนาวตามบัญชีรายชื่อมีจำนวนน้อยกว่าที่จัดซื้อหรือที่กำหนดไว้ในโครงการ และไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาวหรือได้รับไม่ครบถ้วน หากพบว่าทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อนตามที่อำเภอ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือที่ผู้นำชุมชนสำรวจแต่ไม่ได้รับผ้าห่มกันหนาว ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบชดใช้ และดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แล้วรายงานให้สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 6 (จังหวัดอุดรธานี) ทราบด้วย