สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์:สะเทือนใจ นิด้าถูกศิษย์ฟ้องแพ้คดีในศาลทุจริต
สวัสดีครับชาวนิด้าและศิษย์เก่านิด้าที่รักทุกท่าน
ผมหายหน้าไปนานจากเฟซบุ๊กนี้ เนื่องจากไปทำหน้าที่เป็นรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ทำให้มีภารกิจยุ่งมาก แต่ 2 วันมานี้มีเรื่องสะเทือนใจมากที่ศาลคดีทุจริตฯ ตัดสิน "รอกำหนดโทษ" 3 ปี พร้อมกับ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ คดีที่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์คนหนึ่งฟ้องว่าคณะนิติศาสตร์ยกเลิกการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษามิชอบ
ความจริงอธิการบดีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรโดยตรง เพียงแต่ได้รับหนังสืออุทธรณ์จากนักศึกษาจึงส่งให้ที่ประชุมคณบดีและผู้อำนวยการ (ทคอ.) การศึกษา ซึ่งมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธานเป็นผู้ตรวจสอบและที่ประชุมทคอ.การศึกษาตรวจสอบแล้วรายงานว่าการแต่งตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามข้อบังคับและประกาศกระทรวงศึกษาข้อ 7.5 ที่ห้ามไม่ให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์
ดังนั้นการที่คณบดีคณะนิติศาสตร์สั่งยกเลิกกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ที่มีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประธานจึงชอบแล้ว อธิการบดีจึงแจ้งให้นักศึกษาทราบและให้คณะนิติศาสตร์ดำเนินการตามระเบียบซึ่งคณะนิติศาสตร์ได้ประกาศแต่งตั้งกรรมการสอบชุดใหม่แต่นักศึกษาไม่เข้าสู่กระบวนการใหม่และทำการฟ้องร้องทั้งอธิการบดีกรรมการทคอ.การศึกษาและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 20 คน และศาลตัดสินว่าอธิการบดีและคณบดีมีความผิดให้ "รอกำหนดโทษ3ปี" (หมายความว่ายังไม่ได้ลงโทษ) และให้ยกคำร้องกรรมการทคอ.และคนอื่นๆทั้งหมด
ที่ว่าสะเทือนใจเพราะในชีวิตความเป็นครูมาตลอดชีวิตเคยได้โล่การสอนดีเด่นมุ่งมั่นแต่จะทำเพื่อประโยชน์ของนักศึกษาและรักษาประโยชน์ของนักศึกษามาโดยตลอดถ้านักศึกษาทำถูกต้อง แต่เรื่องนี้ผมไม่เคยรู้จักนักศึกษาเห็นหน้าครั้งแรกก็วันฟังคำตัดสิน และคณะนิติศาสตร์ก็เป็นคณะที่ผมจัดตั้งขึ้นมาเอง จึงไม่มีเหตุใดที่ผมจะกลั่นแกล้งไม่ให้นักศึกษาจบ เมื่อตอนที่เขาร้องเรียนผมให้เลขาฯ เชิญเขามาพบเพื่อปรึกษาหาทางแก้ไขแต่เขาไม่ยอมมาพบแต่เลือกที่จะฟ้อง
ยังงงอยู่เหมือนกันว่าศาลตัดสินยกฟ้องกรรมการทคอ.ทั้งหมดบอกว่าไม่มีความผิดซึ่งก็เหมาะสมแล้ว แต่ตัดสินให้ผมมีความผิดทั้งๆ ที่ผมเพียงแค่ดำเนินการตามมติของที่ประชุมทคอ.เท่านั้นไม่ได้ทำอะไรนอกเหนือจากนั้น แต่ด้วยความเคารพต่อศาลเราก็ต้องรับชะตากรรมต่อไป
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงการตัดสินของศาลชั้นต้น ผมยังสามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์เพื่อความยุติธรรมต่อไปได้ ซึ่งมั่นใจว่ามีหลักฐานทางราชการที่จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้
ตามกระบวนการยุติธรรมถึงแม้เราจะต่อสู้ได้ถึงชั้นศาลฎีกา แต่ความเสียหายจากการตัดสินของศาลชั้นต้นก็มากเกินกว่าที่จะประมาณ แต่ชีวิตก็ต้องสู้กันต่อไป และไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนความตั้งใจของผมที่จะทุ่มเทให้กับการศึกษาและลูกศิษย์
จะพยายามสรุปเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เพื่อนมิตรและบรรดาศิษย์ที่ห่วงใยได้ทราบข้อเท็จจริงต่อไปครับ
@คำชี้แจงคดีนักศึกษาฟ้องผู้บริหารนิด้า
มูลแห่งคดี
1. รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ (ในขณะนั้น) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา (คำสั่งที่ 10/2555) และออกคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์และป้องกันวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้นั้น (คำสั่งที่ 11/2555) ทั้งที่รู้ว่าตนไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว ซึ่งคำสั่งที่ 11/2555 เป็นการกระทำซึ่งขัดกับข้อ 29 ของข้อบังคับสถาบันว่าด้วยการศึกษา พ.ศ.2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และขัดกับข้อ 7.5 ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2548 ซึ่งห้ามไม่ให้อาจารย์ที่ปรึกษาหรือที่ปรึกษาร่วมเป็นประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์เพราะจะทำให้การสอบไม่โปร่งใส และรองคณบดีผู้นั้นยังได้ออกหนังสือเชิญกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ฯ (3 ฉบับ) ซึ่งหนังสือทั้งหมดได้อ้างข้อความอันเป็นเท็จ โดยกล่าวอ้างถึง “คณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์” ซึ่งไม่เคยมีการประชุมในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการโดยลำพังของรองคณบดีฝ่ายวิชาการเป็นการดำเนินการที่คณบดีคณะนิติศาสตร์ (ศาสตราจารย์ บรรเจิด สิงคะเนติ) มิได้ทราบเรื่องแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้นั้น ในวันที่ 25 เม.ย. 2555
2. คณบดีคณะนิติศาสตร์เมื่อทราบเรื่องการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา ในวันที่ 24 เม.ย. 2555 จึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งกรรมการบุคคลภายนอก ว่าคำสั่งแต่งตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์อาจมีข้อบกพร่องขอให้ชะลอการสอบวิทยานิพนธ์ออกไปก่อน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถยุติการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาผู้นั้นได้ คณะนิติศาสตร์จึงได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการในเรื่องนี้ทั้งหมดและได้เชิญนักศึกษาให้มารับทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการแต่งตั้งกรรมการสอบเค้าโครงและสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ แต่นักศึกษาปฏิเสธการเข้าร่วมฟังการชี้แจงของคณะนิติศาสตร์ ภายหลังจากการสอบวิทยานิพนธ์แล้วนักศึกษาผู้นั้นได้ทำหนังสือเพื่อให้ทางคณะดำเนินการเรื่องการจบการศึกษา คณะนิติ ศาสตร์เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ยังมีปัญหาหลายเรื่องเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งเห็นควรให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว คณะนิติศาสตร์จึงได้มีคำสั่งที่ 16/2555 เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ในการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้เชิญรองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ขณะนั้นได้ลาออกแล้ว) มาให้ถ้อยคำในวันที่ 2 ก.ค. 2555 แต่รองคณบดีผู้นั้นไม่ยอมมาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสอบสวน ท้ายที่สุดคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงได้สรุปความเห็น ดังนี้
(1) คำสั่งคณะนิติศาสตร์ ที่ 10/2555 ซึ่งลงนามโดย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ ปฏิบัติราชการแทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ เป็นการลงนามโดยไม่ชอบ
(2) คำสั่งคณะนิติศาสตร์ ที่ 11/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงและป้องกันวิทยานิพนธ์ ซึ่งลงนามโดยรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ เป็นการลงนามโดยไม่ชอบและเป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามข้อ 29 แห่งข้อบังคับสถาบัน ว่าด้วยการศึกษา พ.ศ.2549 และขัดกับข้อ 7.5 ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องแนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2548 ซึ่งกำหนดว่า "อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมอาจเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ได้ แต่ต้องไม่เป็นประธานกรรมการ และต้องสอบวิทยานิพนธ์ด้วยทุกครั้ง"
3. หลังจากที่คณะนิติศาสตร์ได้แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงให้นักศึกษาทราบ แต่นักศึกษาผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังอธิการบดี ซึ่งอธิการบดีได้เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณบดีและผู้อำนวยการ (ทคอ.) การศึกษา โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งคณะนิติศาสตร์ ที่ 11/2555 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบเค้าโครงและป้องกันวิทยานิพนธ์ ลงวันที่ 22 มี.ค. 2555 นั้นไม่ถูกต้องตามข้อ 29 ของข้อบังคับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่าด้วยการศึกษา พ.ศ.2549 และข้อ 7.5 ของประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดว่า "อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมอาจเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ได้ แต่ต้องไม่เป็นประธานกรรมการ และต้องสอบวิทยานิพนธ์ด้วยทุกครั้ง" ทคอ.การศึกษาได้รายงานมติดังกล่าวให้อธิการบดีทราบ อธิการบดีจึงได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้นักศึกษาทราบ และมีหนังสือถึงคณะนิติศาสตร์เพื่อทราบและให้คณะนิติศาสตร์ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบต่อไป การดำเนินการของอธิการบดีจึงเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการ
4. คณะนิติศาสตร์ได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งให้คณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ทราบผลการพิจารณาของ ทคอ.การศึกษาในกรณีของนักศึกษาผู้นั้น และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ จึงได้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นักศึกษาผู้นั้นใหม่และได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบกำหนดวันสอบวิทยานิพนธ์ แต่นักศึกษาผู้นั้นได้ทำหนังสือแจ้งเรื่องการไม่เข้าสอบให้คณะนิติศาสตร์ทราบ และได้นำเรื่องดังกล่าวฟ้องคดีนี้
5. นักศึกษาผู้นั้นได้ดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลอาญาในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยฟ้องจำเลย 7 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.4137/2555 ศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วไม่รับฟ้องศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นอธิการบดี (ในขณะนั้น) มีหน้าที่บริหารงานและกำกับดูแลคณะ/สำนักและหน่วยงานทั้งหมดของสถาบัน เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินงานของคณะนิติศาสตร์ ไม่เกี่ยวข้องกับอธิการบดี จึงไม่รับฟ้อง นักศึกษาผู้นั้นได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลอาญาต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วก็มีคำสั่งไม่รับฟ้องเช่นกัน นักศึกษาผู้นั้นได้ฎีกาต่อศาลฎีกาให้รับฟ้องศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ในช่วงระหว่างฎีกาได้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางขึ้น จึงได้โอนคดีมายังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
6. ในระหว่างนั้นนักศึกษาผู้นั้นได้ฟ้อง ทคอ.การศึกษา ผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ กรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากฎหมายและการจัดการ และกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง เป็นจำเลยทั้งหมด 20 คน เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.2706/2557 ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้อง ได้มีการจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติชอบกลางขึ้น จึงได้โอนคดีนี้มาที่ศาลอาญาคดีทุจริต และศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้รับฟ้องโดยให้รวมคดีทั้ง 2 เข้าด้วยกัน
7. เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2560 ศาลได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 (ศาสตราจารย์ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์) กับจำเลยที่ 3 (ศาสตราจารย์ บรรเจิด สิงคะเนติ) มีความผิดให้รอการกำหนดโทษเป็นระยะเวลา 3 ปี "ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง"
ประเด็นของอธิการบดีที่น่าศึกษาคืออธิการบดีปฏิบัติตามมติของที่ประชุมคณบดีและผู้อำนวยการการศึกษา (ทคอ.) ที่ยืนยันว่าการแต่งตั้งกรรมการสอบวิทยานิพนธ์มิชอบขัดต่อระเบียบมีความผิด ทั้งๆ ที่อธิการบดีใช้อำนาจตามระเบียบของราชการมิได้ใช้อำนาจโดยพลการด้วยความเคารพต่อศาล แต่จำเลยทั้ง 2 ยังสามารถใช้สิทธิ์ในการอุทธรณ์และฎีกาต่อไปได้ โดยอธิการบดีเชื่อมั่นว่ามีหลักฐานทางราชการที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ได้ในชั้นอุทธรณ์
หมายเหตุ : อ้างอิงจากเฟซบุ๊ก Prof. Sombat Thamrongthanyawong, Ph.D