ถูกลดอำนาจวินิจฉัยศักดิ์สิทธิ์!ป.ป.ช.ชง กรธ.แก้ กม.ลูกใหม่-ซัด คตง.ไม่มีอำนาจสอบ
ป.ป.ช. ส่งความเห็นถึง กรธ. ให้ทบทวนร่าง กม.ลูกใหม่ ชี้ลดอำนาจการวินิจฉัยอันศักดิ์สิทธิ์ เปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนโทษทางวินัยได้ ซัด คตง. เป็นเพียงผู้สอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ไม่มีอำนาจตรวจสอบคดีอาญา-กก.ป.ป.ช. เหตุ รธน. ระบุชัดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้งผู้ไต่สวนอิสระเอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สรุปความเห็นประเด็นสำคัญต่อร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กลับไปให้ กรธ. ทบทวนอีกครั้ง มีหลายประเด็น ดังนี้
เรื่องการตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. เห็นว่า คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่มีอำนาจเพียงตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ไม่มีอำนาจตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีอาญา เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้บัญญัติวิธีการตรวจสอบไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 แล้วว่า หากมีการกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลฎีกา ตั้งผู้ไต่สวนอิสระมาตรวจสอบอยู่แล้ว และการให้ คตง. มีอำนาจตรวจสอบคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นการซ้ำซ้อน
เรื่องคำนิยาม ‘เจ้าพนักงานของรัฐ’ ซึ่งไม่ครอบคลุม และแตกต่างจากที่กำหนดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อาจทำให้การชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในอดีต ไม่เป็นความผิดอีกต่อไป เช่น คดีอดีตนายกรัฐมนตรี กรณีจำนำข้าว
นอกจากนี้ยังมีประเด็นขัดต่อหลักการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่มาตรา 97 แห่งร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ กำหนดให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน โต้แย้งสำนวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. และบังคับให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกลับมาทบทวนภายใน 30 วันโดยละเอียด ทำให้สภาพคำวินิจฉัยสามารถถูกโต้แย้งได้จากองค์กรที่มิใช่คู่กรณี และทำให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเท่านั้น
นอกจากนี้ยังกำหนดให้การพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานอันแสดงได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด ให้ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสาร และพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ทบทวนมตินั้นได้ ซึ่งขัดหลักการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 เป็นต้น
(อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : https://www.nacc.go.th//images/article/freetemp/article_20171012172354.pdf)