สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปี 2554-2559
จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนความรุนแรงของปัญหา และสะท้อนถึง ผลกระทบของมาตรการในการแก้ปัญหา แต่การที่จะทราบสถานการณ์ และผลกระทบที่เป็นจริง จำนวนการเสีย ชีวิตที่รายงานนั้นจะต้อง ถูกต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด
ในอดีตประเทศไทยของเราใช้ฐานข้อมูลของ ตำรวจในการรายงานสถิติของการเสียชีวิต บางรายงาน ก็อาศัยฐานข้อมูลสาธารณสุขซึ่ง รวบรวมจาก ใบมรณะบัตร แต่พบว่ารายงานจากฐานข้อมูลแต่ละฐานมีข้อจำกัด ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตต่ำกว่าที่เป็นจริงมาก การรวบรวมการเสียชีวิตจาก 3 ฐานข้อมูล คือจากฐานข้อมูลสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จึงเป็นมาตรการสำคัญที่ทำให้เราได้ทราบสถานการณ์ที่ใกล้เคียง กับความเป็นจริงมากที่สุด ในปี 2560 กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์การเสียชีวิต จากอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่ปี 2554-2559 โดยรวบรวมจาก 3 ฐานข้อมูล คือ จากใบมรณะบัตร ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังแสดงในตารางนี้
บทวิเคราะห์ สิ่งเรียนรู้จากรายงานนี้คือ
1. องค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อแนะนำในคำประกาศตอนหนึ่ง ของ Brasilia Declaration ใน WHO 2nd Global High Level Conference on Road Safety ณ กรุงบราซิเลีย ใน ปี 2558 ว่า จะต้องปรับปรุงคุณภาพการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ไม่ ว่าจะเป็นจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การเสียชีวิต การพิการ อย่างเป็นระบบ ครบถ้วน น่าเชื่อถือ จากหลายแหล่งข้อมูลสำคัญ เช่น จากตำรวจจราจร หน่วยงานสาธารณสุข โดยอ้างอิงมาตรฐานสากล ทั้งคำจำกัดความและแนวทางการ ดำเนินการเพื่อการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งจากรายงานนี้ พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่รวบรวมจาก 3 ฐานข้อมูลใกล้เคียงกับประมาณการ ขององค์การอนามัยโลกเป็นอย่างมาก และควรถือเป็นบรรทัดฐานของประเทศเราในการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนนอย่างเป็นทางการ ว่าจะต้องเป็นการรวบรวมจาก 3 ฐานข้อมูล
2. ข้อมูลที่น่าวิตกจากรายงานของกรมควบคุมฉบับนี้ ก็คือ ใน ปี 2559 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพิ่มขึ้น จากปี 2557 และปี 2558 แม้ว่าประเทศของ เราจะมีการรณรงค์ และกำหนดมาตรการต่างๆออกมามากมาย แต่ทว่า การเสียชีวิตจากภัยบนท้องถนนกลับสูงขึ้น
3. อันที่จริงมีการรายงานจากหน่วยงานหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น WHO , BBC, Bloomberg ได้รายงานถึงผลการดำเนินการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยที่ผ่านมาว่าไม่ได้ผล โดยระบุประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่ทำให้การแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ไม่ประสบผลสำเร็จคือ เราขาดสถาบันหลักในการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน การบังคับใช้กฎหมายของ ประเทศเราไม่เข็มแข็งเท่าที่ควร มาตรการที่มีแทบทั้งหมดยังลงไปไม่ถึงกลุ่มเสี่ยงหลัก คือคนขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยของเรา มีสัดส่วนของการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์สูงที่สุดในโลก แม้เราจะมีกฎหมายหมวกกันน็อค มาตั้งแต่ปี 2539 แต่อัตราการสวมหมวกกันน็อคของคนชี่รถจักรยานยนต์ยังอยู่ที่ประมาณ 40% คนซ้อนท้ายมีอัตราการสวมหมวก เพียง 15% เท่านั้น ถ้าคนที่ขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย สวมหมวกกันน็อคที่ถูกต้องและได้มาตรฐาน จะสามารถลดการเสียชีวิต ลงได้ปีละหลายพันคน
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย
ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันและควบคุมการบาดเจ็บ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก www.thaihealth.or.th