อดีตนายกสมาคมปรับปรุงพืชฯ ชี้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ กม.ไม่ได้ห้าม หนุนร่างฯฉบับใหม่
อดีตนายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์พืชฯ ชี้ ไม่มีกฎหมายไหนห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อ เพียงห้ามเอาไปขายทำธุรกิจ หนุนการแก้พ.ร.บ.คุ้มครองพืชฯ เพื่อพัฒนางานปรับปรุงสายพันธุ์พืช
สืบเนื่องจากกรณีที่ มูลนิธิชีววิถี ได้โต้กลับข้อแถลงของกรมวิชาการเกษตรที่ออกมาชี้แจงต่อกรณีการออกร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ที่ถูกวิพากษ์ว่ากำลังทำลายความหลากหลายทางชีวิภาพและเปิดทางให้บรรษัทใหญ่ผูกขาดเมล็ดพันธุ์นั้น (อ่านประกอบ: เก็บเมล็ดพันธุ์โทษจำคุก มูลนิธิชีววิถีจวก กษ.ออกร่างกม.ปล้นเกษตรกรไทย )
โดยทางกรมวิชาการเกษตรยืนยันว่า การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้เป็นไปโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกร และนักพัฒนาสายพันธุ์ของไทย รวมถึงยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกได้ (อ่านประกอบ กรมวิชาการเกษตรยันปรับพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ คนไทยได้ประโยชน์ ยังเก็บเมล็ดได้ )
ในประเด็นดังกล่าว ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ อดีตนายกสมาคมปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืชแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงการตั้งข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะปิดกั้นการเก็บเมล็กพันธุ์ไปปลูกต่อว่า ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะห้ามตรงนั้นได้ เพราะว่า ไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน กฎหมายต้องอนุญาตให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เองได้ แต่ปัญหาคือ เมื่อเก็บเมล็ดพันธุ์แล้วเอาไปขายเป็นเมล็ดพันธุ์ ตรงนี้คือความผิด เพราะว่าวันนี้มี "โจรสลัดเมล็ดพันธุ์" เยอะมาก ที่ไปขโมยเมล็ดพันธุ์ของคนอื่นมาผลิตขาย เช่น เอาพันธุ์ข้าวมาปลูกแล้วขยายพันธุ์ข้าวเพื่อใช้เอง ไม่มีใครห้าม แต่สมมติเราขยายพันธุ์ข้าวของบริษัทนั้น พอเริ่มดัง ก็มีคนเอามาขยายแล้วมาขายเอง แบบนี้ผิด
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวถึงประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะฉะนั้นเราควรสนับสนุนให้มีการปรับปรุงพันธุ์พืช เมื่อผู้ที่ลงทุนปรับปรุงพันธุ์พืช เขาควรได้รับการคุ้มครอง แต่ ณ วันนี้ คนที่ปรับปรุงพันธุ์พืช เมื่อพันธุ์นั้นเริ่มดัง ก็จะถูกขโมย อย่างเช่นมีบางอำเภอ ทั้งอำเภอขโมยทั้งหมด ในส่วนการขยายเวลา ขึ้นอยู่กับพืช เพราะพืชบางตัวใช้เวลานานในการทำการวิจัย ส่วนพืชที่ใช้เวลาสั้นๆ จะขยายเวลาหรือไม่ไม่ใช่สาระสำคัญ
“ณ วันนี้ปัญหาของกฎหมายฉบับพ.ศ.2542 มันผูกยุ่งอีรุงตุงนังไปหมด เอาพืชพื้นเมืองมารวมพืชท้องถิ่น มารวมพืชทั่วไป มาร่วมพืชใหม่ ทำให้บังคับใช้ไม่ได้” ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวและว่า การเอาดีเอ็นเอของพืชพื้นเมือง หรือพืชท้องถิ่นมาใช้ปรับปรุงเป็นเรื่องของ GMO การนำเชื้อพันธุ์กรรม มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ที่ไหนในโลกก็ทำกันทั้งนั้น ปัญหาของวันนี้ ใครก็ตามจะเก็บพันธุ์พืชมาปรับปรุงพันธุ์ จะต้อง ขออนุญาตกรมวิชาการเกษตรตามมาตรา 52-53 บอกจุดประสงค์ในการทำงานวิจัย แล้วก็ รายงานผลทุกปี ณ วันนี้สามารถบอกได้เลยว่า ทุกคนทำผิดกฎหมายหมด เพราะไม่มีใครทำ
“การวิจัยบางเรื่องเป็นความลับ เขาไม่อยากบอกว่ากำลังทำอะไร ซึ่งก็ไปเกี่ยวข้องกับกองทุนในกฎหมายบอกว่า เมื่อนำพืชมาปรับปรุงพันธุ์และขอคุ้มครอง และต้องจ่ายเงินในจำนวนเท่านั้นเท่านี้ วันนี้ยังคาราคาซังไม่สามารถทำอะไรได้เพราะว่าไม่มีใครตีความตรงนี้ ไม่มีใครบอกว่าต้องเก็บเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คนที่ต้องจ่ายคือเกษตรกร”
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ฉบับเก่าที่ใช้อยู่ มีปัญหา ตอนที่เป็นนายกสมาคมฯ เราพยายามขอแก้ไข แต่แก้ไม่ได้ แล้วพ.ร.บ.ฉบับปี 2542 ณ วันนี้ยังบังคับไม่ได้ มีบางบริษัทไปขอคุ้มครอง ก็ไปติดที่ว่าจะแบ่งผันผลประโยชน์เท่าไหร่ ให้รัฐเท่าไหร่ ไม่มีใครบอก ที่ผ่านมาการพัฒนาพันธุ์ก็มีอยู่ตลอด แต่ก็เริ่มมองเห็นว่าไปทำที่ต่างประเทศดีกว่า พัฒนาเสร็จเอาเข้ามาในไทยจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาอะไรมากกับกฎหมายบ้านเรา บริษัทยักษ์ใหญ่เขาไม่สนใจ ไปได้เขาก็ไป แต่บริษัทคนไทยไม่สามารถจะไปได้
ดร.ทวีศักดิ์กล่าวถึงเรื่องอนุสัญญา UPOV1991 ว่า กฎหมายที่เราขอแก้ก็ไม่จำเป็นต้องแก้ตามอนุสัญญาดังกล่าวก็ได้ แต่กฎหมายอาจใช้UPOV เป็นรูปแบบไม่จำเป็นต้องเข้าสนธิสัญญาก็ได้ แต่การเข้าก็มีประโยชน์ หมายความว่า พืชที่เราขอคุ้มครองไปคุ้มครองในประเทศอื่นด้วยในสนธิสัญญาเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่าทางด้านนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้ออกมาเปิดเผยว่าได้มีการขยายเวลารับฟังความคิดเห็นออกไปอีก 1 เดือน จากกำหนดเดิมระหว่างวันที่ 6-20 ต.ค. ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เวลา 15 วัน หลังจากที่ขยายออกไปอีก 1 เดือน กรมวิชาการเกษตร จะประมวลข้อคิดเห็นต่างๆจากประชาชนทั่วไปและจากผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทำแบบมีส่วนรวม โดยจะเชิญผู้ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิเกษตรกร เช่นมูลนิธิชีววิถี( ไบโอไท) และนักวิชาการ ที่ห่วงใย มาหารือกันที่กรมในวันที่ 27 ต.ค.นี้ด้วย
อ่านประกอบ
ไบโอไทยโต้กลับ ซัดกม.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เอื้อบรรษัทใหญ่ผูกขาดเต็มเม็ด